สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๖ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๔ "สุภาพบุรุษ-มนุษยภาพ"ศรีบูรพา"-กุหลาบ สายประดิษฐ์"

กลับไปหน้า สารบัญ ตัดกำลังบิ๊กค้าปลีก : พื้นที่และโอกาสของโชห่วย
ส นั บ ส นุ น

ณรงค์ โชควัฒนา  นักธุรกิจอิสระ
ณรงค์ โชควัฒนา
นักธุรกิจอิสระ
  • ธุรกิจค้าปลีกควรสงวนไว้ ให้คนอ่อนแอในชาติ

  • ควรอนุญาตให้ ค้าปลีกขนาดใหญ่ เข้ามาเมื่อ แรงงานค้าปลีกรายย่อย ขาดแคลน

  • ขายต่ำกว่าราคาทุน เป็นไปเพื่อผูกขาดการค้า กลไกที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ให้ผู้บริโภคได้ ประโยชน์ จะไม่เกิดในระยะยาว

  • การลงทุนค้าปลีกขนาดใหญ่ ไม่ได้เพิ่มการจ้างงาน แต่กลับลดการจ้างงาน

      "ห้างแบบ modern trade ขึ้นที่ไหนจะเอาชนะร้านโชห่วยหรือ conventional trade ได้หมด เนื่องจากกลยุทธ์ด้านราคา โชห่วยบางแห่ง อาจปรับตัวและต่อสู้ เขาขายตัดราคาต่ำกว่าทุน ก็ไปซื้อมาขายที่ร้าน แต่มีคนไทยสักกี่คนมีปัญญาทำได้ เพราะโชห่วยส่วนใหญ่ ซื้อสินค้าด้วยเครดิต ครั้นจะขยายกิจการให้มีสินค้าหลากหลายก็ยาก ส่วนใหญ่จึงต้องปิดตัวลง
      "พวก discount store อย่างเทสโก้โลตัส คาร์ฟูร์ ดึงลูกค้าโดยขายของใช้ประจำวัน ชนิดที่จำราคาง่ายในราคาเท่าทุน หรือต่ำกว่าทุน แล้วเอากำไรจากสินค้าตัวอื่น หรือเรียกอีกอย่างว่า การทุ่มตลาดของผู้มีสายป่านยาวกว่า เมื่อทำลายคู่แข่งได้แล้ว จึงค่อยขึ้นราคา และผูกขาดการค้า นี่เป็นทฤษฎีที่มีมานานตั้งแต่สมัย อาดัม สมิธ ตัวอย่างก็เห็นมาแล้วทั่วโลก เพราะถ้ายึดค้าปลีกได้ ต่อไปเขาก็ทำ house brand ของตัวเอง มีอิทธิพลเหนือซัพพลายเออร์ ผู้ผลิตสินค้าทั้งหมด ก็ต้องซูฮกเขา เพราะถ้าไม่ยอมคุณก็ไม่มีที่จะขาย ถึงเวลานั้น ผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือก ทั้งในแง่ราคาและบริการ กลไกที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ก็จะไม่เกิดขึ้น ทางตะวันตกจึงต้องมีกฎหมาย ที่ป้องกันการขายสินค้าต่ำกว่าต้นทุน หรือกรณีที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงเกินไป ตัวอย่างกรณีของไมโครซอฟต์ในสหรัฐอเมริกา รัฐเข้าจัดการก่อนที่จะเหลือเพียงรายเดียว
      "รัฐจำเป็นต้องวางกติกา ให้มีการแข่งขันอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ให้เป็นระบบแพ้คัดออก หรือแพ้ตายอย่างที่เป็นอยู่ หรือบอกว่าปล่อยกลไกตลาดทำไป กลไกการแข่งขัน ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะสร้างสิ่งที่ดีงามให้ผู้บริโภคได้
      "ดังนั้นเราจึงต้องไม่นำคนที่แข็งแรง เข้ามาแข่งกับคนอ่อนแอ ในธุรกิจที่คนอ่อนแอก็ทำได้ ไม่เอาคนที่มีทุนมาก มีความรู้มาก มาทำธุรกิจค้าปลีก ซึ่งไม่ต้องใช้ทุน หรือความรู้มากนักก็ทำได้ ธุรกิจซึ่งคนแก่ปลดเกษียณแล้วก็ทำได้ ญี่ปุ่น อิสราเอล ซึ่งเป็นชาติพ่อค้าแท้ ๆ จึงไม่ยอมให้ค้าปลีกต่างชาติเข้าไปแข่ง สงวนอาชีพให้คนอ่อนแอในชาติทำ
      "รัฐที่ฉลาดควรควบคุมการทำธุรกิจของคนแข็งแรง แล้วเปิดโอกาสให้คนอ่อนแอ ทำธุรกิจประเภทนี้ การทำงานจะทำให้คนแข็งแรงขึ้น ฉลาดขึ้น พอเก่งขึ้นรัฐก็สนับสนุนให้ขึ้นไปแข่ง ในดิวิชั่นที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ กติกาที่ดีควรแข่งขันเป็นดิวิชั่น คนจึงอยากลงแข่งขัน อยากพัฒนาตัวเองให้แข็งแรงขึ้น แล้วรัฐก็ต้องช่วยให้ธุรกิจที่แพ้ได้ปรับปรุงตัว ว่าแพ้เพราะบริการไม่ดี  ขายแพง หรือเอาของไม่ดีมาขาย
      "การห้าม modern trade เปิด ๒๔ ชั่วโมง ห้ามไม่ให้เปิดบริการอาทิตย์ละ ๗ วัน ห้ามขายต่ำกว่าทุน เป็นสิ่งที่ทั่วโลกเขาทำ เพื่อเบียดให้คนที่แข็งแรงไปแข่งกับคนแข็งแรงด้วยกัน ในช่องทางและพื้นที่อื่น ตรงนี้คนอ่อนแอเขายังไม่พร้อม การเอา modern trade เข้ามาโครม ๆ ทุกวันนี้เนื่องจากคนเดือดร้อนไม่ใช่รัฐ แต่เป็นประชาชน รัฐจึงไม่รู้สึกอะไร ทั้งนี้เนื่องจากบ้านเรา รัฐไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่ แต่ต่างประเทศ รัฐเขาถือเป็นภาระหน้าที่ของรัฐ
      "เราควรจัดพื้นที่เฉพาะให้ modern trade โดยให้ตั้งในส่วนของ modern trade ด้วยกัน ยิ่งมีมากก็ยิ่งแข่งขันกันเอง คุณภาพและบริการจะดีขึ้น บริเวณไหนมีโชห่วยอยู่มาก ก็อย่าอนุญาตให้ตั้ง แต่ให้โชห่วยแข่งกันพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ที่ดินราคาสูงมาก ๆ ทุนคุณหนามาตั้งเลย หรือที่ถูก ๆ ไม่มีชุมชนคุณก็เอาไป แต่ที่ถูกๆ ในชุมชนไม่ควรให้ modern trade ตั้ง เราเชื่อกันหรือเปล่าว่าวันนี้เทสโก้โลตัส คาร์ฟูร์ มาซื้อที่ดินราคาถูกกว่าที่เมื่อก่อนที่คนไทยเราทำ modern trade เพราะตอนนี้ฟองสบู่แตก ดอกเบี้ยต่ำมาก แล้วเราก็ต้องกำหนดสัดส่วน ของพื้นที่สีเขียวรอบ ๆ ห้าง เพื่อเขามีภาระเพิ่มขึ้น ต้นทุนเพิ่มขึ้นจะได้ไม่โตมากเกินไป เพราะเดี๋ยวนี้พื้นที่จอดรถเขาเอามาให้เช่าขายของแล้ว
      "ถ้าคุณส่งเสริม modern trade อย่างนี้คุณจะเหลือพื้นที่ให้คนไทย ได้ริเริ่มประกอบการค้าปลีกเล็ก ๆ ได้เกิดหรือเปล่า จะให้ระบบค้าปลีกเมืองไทยต่อไปนี้เป็น modern trade หมดใช่ไหม ร้านค้า SME ชุมชนควรเจ๊งหมดใช่หรือเปล่า หรือเห็นความสำคัญของร้านค้าชุมชน ให้ชุมชนค้าขายกันเองในที่ของเขา ให้เขารู้จักการซื้อ การขาย การตั้งราคา เอาใจลูกค้า การทำบัญชี รวมถึงรู้ภาระหน้าที่เสียภาษี เราต้องการสร้างคนไทยให้มีความรู้ความเข้าใจในการค้าขายไหม การประกอบการค้าปลีกเล็ก ๆ เป็นการให้การศึกษา ดีกว่าการเรียนในห้องเรียน ถ้าเราปิดโอกาสสำหรับรายเล็กหมด ในอนาคตจะมีคนไทยสักกี่คนทำการค้าขาย ทำธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ หรือ modern trade แข่งกับต่างชาติได้
      "ธุรกิจใหญ่ควรเติบโตมาจากธุรกิจเล็ก และธุรกิจขนาดกลางที่เก่งขึ้น แข่งขันได้มากขึ้น ...นี่คือการพัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติ ถ้าคุณทำกติกาให้ธุรกิจขนาดเล็กเกิดไม่ได้ ก็จะมีแต่ใหญ่ แล้วคนไทยจะทำใหญ่เลยได้อย่างไร ก็ต้องเอาธุรกิจขนาดใหญ่จากต่างชาติเข้ามา เปรียบเหมือนอยากได้ไม้ใหญ่ ก็ไปขุดรากแก้วจากที่อื่นเอามาปัก โดยไม่สนใจว่าต้นไม้ใหญ่ ที่แข็งแรงสู้ลมพายุได้จะต้องมีรากแก้วที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเอง
      "แน่นอน modern trade คืออนาคตของประเทศไทย แต่สำหรับการเปิดกว้าง ให้เข้ามาตอนนี้ถือว่ากาลเทศะไม่ถูกต้องเลย ชะลอไปก่อนอีกห้าปี เมื่อคนไทยแข็งแรงหมดแล้ว ออกไปทำงานที่อาศัยความสามารถสูงกันหมด แรงงานค้าปลีกขาดแคลน หรือไม่มีคนเปิดท้ายขายของ แล้วค่อยส่งเสริมได้ไหม แต่ขณะนี้เกิดวิกฤต คนตกงาน คนไทยอ่อนแอ ธุรกิจในแบบ SME ดีที่สุดก็คือ ค้าปลีกเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชุมชนใกล้เคียง แต่เรากลับไปเร่งค้าปลีกต่างชาติที่แข็งแรง เข้ามาทำธุรกิจค้าปลีกแข่งกับคนไทย บอกว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะมี modern trade
      "เราคิดว่าการลงทุนของต่างชาติจะทำให้เกิดการจ้างงาน แต่จริง ๆ มันไม่ใช่การจ้างงานเพิ่ม หากเสมือนเป็นการเข้ามารวบธุรกิจค้าปลีกไว้หมด modern trade เกิดขึ้นมาแห่งหนึ่ง จ้างงานหนึ่งคน ทำให้ค้าปลีกตกงานเป็นร้อยคน เป็นภาระสังคมขึ้นมาร้อยแห่ง คุณอยากได้การลงทุนที่มาเพิ่มการจ้างงานหรือลดการจ้างกันแน่
      "ผมคิดว่าผู้บริโภคก็ต้องเท่าทันด้วย ที่เขาคิดว่าได้กำไรได้ของถูกนั้น เราจะดูกำไรต่อชิ้นไม่ได้ conventional trade ต้นทุนส่วนใหญ่คือค่าแรงของคนไทย เป็นรายได้ที่เขาจะอยู่รอดโดยไม่เดือดร้อนเป็นภาระสังคม ขณะที่ modern trade จะเสียไปในด้านการลงทุน ดอกเบี้ย ค่าเทคโนโลยี ค่าไฟฟ้า มากกว่าจะเป็นค่าแรงงาน ต้องซื้อเครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรกลต่างๆ ซึ่งเราผลิตเองไม่ได้ เงินก็หลุดไปต่างประเทศ เสียดุลการค้ามากขึ้น ถ้าเป็นค้าปลีกต่างชาติด้วยแล้ว แทนที่กำไรจะหมุนเวียนอยู่ในเมืองไทยก็กลับไปบริษัทแม่ ทุก ๆ ดอลลาร์ที่เขามาลงทุน เขาต้องการดึงออกไปมากกว่านั้น ตอนเขาเอาเงินเข้ามาก็ดีใจอยู่พัก แต่พอถอนเงินกำไรออกตอนนั้นเศรษฐกิจเราจะยิ่งแย่ แถมเงินภาษีก็ไม่ได้เพราะเขามีวิธีถ่ายกำไรไปยังอีกประเทศหนึ่งซึ่งเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า
      "คุณอย่าคิดว่า modern trade เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า และเก็บง่ายกว่าร้านโชห่วยแล้วส่งเสริมเขา สิ่งที่รัฐควรทำคือ ทำให้โชห่วยจ่ายภาษีทุกคน หรือเก็บให้ทั่วถึงขึ้น จริงอยู่เก็บภาษีกระจายนั้นเก็บยาก แต่นี่เป็นวิธีที่จะสร้างความเป็นธรรม โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจแข่งขัน
      "ถ้ารัฐงมงายแต่การค้าเสรี หรือปล่อยให้แข่งขันกันตามใจชอบ คนไทยจะตายหมด และถ้าใช้คนไทยที่แข็งแรงไม่เป็น คนที่แข็งแรงก็ไม่สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ กลับกลายเป็นมือเพชฌฆาตมาฆ่าคนไทยด้วยกัน
      "ในทางวัฒนธรรม การค้าปลีกแบบโชห่วย คนขายจำหน้าตาลูกค้าประจำได้ จำชื่อได้ คุยปรับทุกข์แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กันไม่ใช่แค่เรื่องค้าขาย คุณไป modern trade จะไปคุยอะไรกับเจ้าของร้าน คนคิดเงินก็จิ้มเครื่องคิดเงินอย่างเดียว แล้วพูดเป็นนกแก้วแบบที่เขาสอนมา แม้จะติดป้ายชื่อพอวันรุ่งขึ้นก็เปลี่ยนช่องเก็บเงิน ถ้าจะมีปฏิสัมพันธ์ก็เพื่อซื้อขาย ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเดียว ถามว่าโชห่วยต้องปรับตัวไหม...ต้องปรับตัว แต่ให้เขาปรับเพื่อความอยู่รอดได้ ไม่ใช่ไม่เปิดโอกาส
      "พอใครพูดเรื่องนี้ขึ้นมาก็โวยวายกันว่าจะปิดประเทศ ประเทศจีนทุกวันนี้ยังไม่เข้า WTO เลยไม่ต้องทำตามกติการของ WTO สักเรื่อง แล้วเขาปิดประเทศที่ไหน คนเข้าไปลงทุนตั้งมากมาย เกินดุลการค้าไปทั่วโลก กติกา WTO ไม่ใช่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ คุณจะเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไปประเคนเขา เพื่อให้ตัวเองดูดีในสายตาต่างชาติได้อย่างไร"
  อ่านคัดค้าน คลิกที่นี้
ธนภณ ตังคณานันท์
ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา คาร์ฟูร์

click hereอ่าน (ฝ่ายคัดค้าน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม *
*

สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ตัดกำลังบิ๊กค้าปลีก : พื้นที่และโอกาสของโชห่วย
ย้าย หรือ ไม่ย้าย : กรณีธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์-ศูนย์รังสิต
สารบัญ | ไหว้เจ้าออนไลน์ | ชอปปิงเพรียวลม | เจ้าพนักงานนำร่อง "ผู้นำทาง" ของเรือเดินสมุทร | สุภาพบุรุษ-มนุษยภาพ "ศรีบูรพา"-กุหลาบ สายประดิษฐ์ | จากบรรณาธิการ | เชิญดอกไม้ | เฮโลสาระพา
Compulsory Piloting: "Vessel Valet Service" | A Gentleman Named Sri Burapha | Queen Sirikit's Botanical Garden: a Botanist's Dream Come True


สงวนสิทธิ์ ตามกฏหมาย © Copyright. All rights reserved.
สำนักพิมพ์สารคดี: ๒๘-๓๐ ถนนปรินายก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทร: ๒๘๑-๖๑๑๐, ๒๘๑-๖๒๔๑-๒ แฟ็กซ์: ๒๘๒-๗๐๐๓

Last updated: 14 July 2020
อ่านเอาเรื่อง ของเชิญรวมแสดงความคิดเห็น | นิตยสาร สารคดี ฉบับย้อนหลัง
[ เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | WallPaper | เที่ยวทั่วไทยไปกับ "นายรอบรู้" | โลกรายเดือน ]


  E-mailนิตยสาร สารคดี (Feature Magazine)