คำตอบก็คือ ไผ่
ด้วยความใหญ่โตของมัน จึงทำให้หลายคนนึกไม่ถึงว่าไผ่เป็นหญ้าพวกหนึ่ง ทั่วโลกมีไผ่มากกว่า ๑,๐๐๐ ชนิด ซึ่งมีความสูงตั้งแต่ ๑๐ เซนติเมตรไปจนถึง ๔๐ เมตร ส่วนใหญ่กระจายพันธุ์ในเขตร้อน โดยเฉพาะย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา และตามเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย และบางส่วนในเขตอบอุ่น สำหรับในประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า ๖๐ ชนิด
ไผ่
มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับหญ้า -- ญาติขนาดเล็กของมันมาก มันจะขึ้นรวมอยู่เป็นกอ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแตกหน่อออกจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน และเมื่อถึงคราวที่ออกดอก นั่นคือวาระสุดท้ายของไผ่กอนั้น หรือที่เรียกว่า ไผ่ตายขุย นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายหญ้ามาก คือ ไผ่เป็นไม้เบิกนำที่สามารถเข้าครอบครองพื้นที่ว่างเปล่าได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริเวณที่เกิดจากการแผ้วถางหรือมีไฟป่าเข้ารบกวนบ่อย ๆ บริเวณเหล่านี้เรามักพบไผ่ชนิดเดียวขึ้นล้วนๆ
ไผ่
มีประโยชน์กับเพื่อนร่วมธรรมชาติมาก รากและหน่อไผ่เป็นอาหารโปรดของสัตว์ตั้งแต่ขนาดเล็กอย่างอ้นจนถึงขนาดใหญ่อย่างเก้งกวาง กระทิง และช้าง มนุษย์เองก็รู้จักใช้ประโยชน์จากหญ้ายักษ์เหล่านี้มาช้านานแล้ว ตั้งแต่นำหน่อมากิน นำลำต้นมาเหลาเป็นตะเกียบ สานเป็นภาชนะใส่สิ่งของ จนถึงนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ
ฤดูฝนอย่างนี้ ไผ่จะแทงหน่อขึ้นมาเพื่อเจริญเติบโตอย่างเร่งรีบก่อนที่ฤดูแล้งจะมาถึงอีกครั้ง น่าสนุกดีเหมือนกันที่จะมองหาว่า มีใครมากิน หรือใช้ประโยชน์หน่อของหญ้าที่ใหญ่ที่สุดบ้าง
|