ซอกแซกประจำเดือนสิงหาคม
ปฏิทินเทศกาลงานประเพณีเดือนกันยายน
|
วันที่ |
ชื่องาน |
จังหวัด |
สถานที่จัดงาน |
๒ ก.ย. |
เทศกาลหมูย่าง เมืองตรัง |
ตรัง |
หน้าโรงแรมธรรมรินทร์ธนา |
๑๑-๒๐ ก.ย. |
ประเพณีสารทเดือนสิบ |
นครศรีธรรมราช |
อ. เมือง ถ. ราชดำเนิน และสวนสมเด็จ
พระศรีนครินทร์ 84 |
๑๕-๑๖ ก.ย. |
งานแข่งขัน เรือยาวประเพณี ชิงถ้วยพระราชทาน |
พิษณุโลก |
บริเวณลำน้ำน่าน หน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ |
๑๕-๑๙ ก.ย. |
ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ |
เพชรบูรณ์ |
ศาลากลาง วัดไตรภูมิ และวัดโบสถ์ชนะมาร |
๑๕-๒๓ ก.ย. |
งานสารทไทยกล้วยไข่ |
กำแพงเพชร |
ลานโพธิ์หน้าศาลากลาง |
๒๙ ก.ย.-๗ ต.ค. |
เทศกาลกินหอย |
เพชรบุรี |
จุดชมวิวชายหาดชะอำ อ. ชะอำ |
@ ฤดูฝนแม้จะเป็นฤดูกาลแห่งดินดำน้ำชุ่ม เป็นที่เบิกบานใจในหมู่ชาวไร่ชาวนา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่หยุดยั้งกิจกรรมหลายอย่าง พระสงฆ์องค์เจ้าที่เคยธุดงค์ไปไหนต่อไหนก็จะหยุดพักจำพรรษาที่วัด ที่เราคุ้นกันดีว่าเป็นช่วงเข้าพรรษา เหตุเพราะเกรงว่าจะไปเหยียบย่ำพืชผลของชาวบ้านที่กำลังงอกงาม ส่วนการท่องเที่ยวก็ถือว่าฤดูฝนเป็นช่วง "low season" ในรอบปี หรือนอกฤดูกาลท่องเที่ยว แต่สถานการณ์ปีนี้หนักหน่วงกว่าทุกปีผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจีน เกาหลี ญี่ปุ่นที่เคยมาเที่ยวไทยอย่างคลาคล่ำ ก็ลดจำนวนลงฮวบ เพราะต่างก็เจอกับพิษเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกับไทย รัฐบาลจึงหันมาพึ่งคนในชาติ ให้ไทยเที่ยวไทย หรือในชื่อที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่า "ท่องเที่ยววันหยุด ลดสุดสุด...ในเมืองไทย"
@ โครงการนี้รัฐบาลใจป้ำทำเก๋พิมพ์คูปองมูลค่าเล่มละ ๘ หมื่นบาทแจกฟรี ๆ ให้คนไทยไปเที่ยวกัน คูปองนี้นำไปใช้เป็นส่วนลดในการเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นค่ารถเดินทาง อุปกรณ์การเที่ยว ร้านอาหาร ที่พัก ค่าเข้าชมที่เที่ยว ร้านของกินของฝาก มีสถานบริการการท่องเที่ยวเข้าร่วมโครงการนี้เกือบ ๒,๐๐๐ ราย ใครที่สนใจก็รีบเตรียมบัตรประชาชน เพื่อยืนยันว่าเป็น "คนไทย" ไปรับได้ที่ปั๊มน้ำมันบางจาก และสำนักงาน ททท.ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้จนถึงกลางเดือนตุลาคม โครงการนี้ อาจจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการเที่ยวในประเทศถูกลงบ้างแม้จะไม่มาก "นายรอบรู้" เคยได้ยินเสียงบ่นจากคนไทยว่า เมืองไทยนั้นก็อยากเที่ยวอยู่หรอก แต่ค่าใช้จ่ายแพงหูฉี่! บางแห่งแพงกว่าไปเที่ยวต่างประเทศซะอีก และที่สำคัญที่เที่ยวบางแห่งก็ใช่ว่าจะยินดีต้อนรับคนไทย
@ ถ้าได้คูปองแล้วไม่รู้จะไปเที่ยวไหนดี "นายรอบรู้" ก็ขอแนะนำไปเที่ยวแถบพัทยา ชลบุรีเป็นไง ไปเล่นน้ำทะเลแล้วไปแวะชมปราสาทไม้ สัจธรรม ก็ไม่เลว เอาคูปองไปใช้จะได้ส่วนลดราคาเข้าชม ๓๐ เปอร์เซ็นต์จากราคาปรกติ ๕๐๐ บาท ปราสาทไม้แห่งนี้ยิ่งใหญ่สมเป็นปราสาท ตั้งตระหง่านอยู่ริมทะเลพัทยา สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง สูงเท่ากับตึกนับสิบชั้น ประดับประดาด้วยเหล่าทวยเทพของชาวตะวันออก ทั้งไทย อินเดีย จีน เป็นงานจำหลักไม้ฝีมือประณีต ที่อาจถือได้ว่าเป็นศิลปะชิ้นเอกยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ว่าได้ ไปชมปราสาทไม้สัจธรรมแล้ว อาจได้เปรียบเทียบความต่างแบบสุดขั้วที่เกิดขึ้นบนหาดทรายพัทยา ระหว่างขั้วสัจธรรมความจริงความงามที่ปรากฎในปราสาทไม้แห่งนี้ กับอีกขั้วหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมสถานเริงรมย์ ไปปราสาทไม้ไม่ถูก โทร. (๐๓๘) ๒๒-๕๔๐๗
@ หรือใครที่อยากจะไปชำระล้างจิตใจให้ใสสะอาด เตรียมตัวเตรียมใจไว้ ช่วงระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคมที่กำลังจะเวียนมาถึงนี้ ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการถือศีลกินเจ หรือกินผักอีกครั้ง ตามศาลเจ้าโรงเจโดยเฉพาะที่เกาะภูเก็ต เมืองตรัง ที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนในงานบุญประเพณีนี้ ก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
@ นายรอบรู้เคยมีประสบการณ์ไปร่วมงานกินเจหรือกินผักที่เกาะภูเก็ต จึงเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงคำกล่าวที่ว่า "ขาวโพลน" ไปทั้งเกาะนั้น ไม่เกินเลยความจริง คนทุกเพศทุกวัยต่างพร้อมใจกันนุ่งขาวห่มขาวกันทั้งเกาะ ปกคลุมไปด้วยหมอกควันธูปควันเทียน และประทัดที่พร้อมใจกันจุดถวายเจ้าเสียงดังสนั่นไปทั้งเมือง "นายรอบรู้" จึงขอเตือนคนที่จะไปร่วมงานที่เป็นโรคหัวใจขวัญอ่อนผวาง่าย ควรพิจารณาให้จงหนักก่อนตัดสินใจ
@ ไหนๆ ก็ส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวไทยทั้งที "นายรอบรู้" ก็มีหนังสือที่เป็นประโยชน์กับการเดินทางท่องเที่ยวทั่วไทยมาแนะนำ สำหรับสำนักพิมพ์สารคดี ก็ออกหนังสือชุดนายรอบรู้ มาวางบนแผงหนังสือถึงกว่า ๒๐ จังหวัดแล้ว มีข้อมูลที่รวบรวมที่เที่ยว ที่กิน ที่พัก ที่ซื้อของฝาก พร้อมแผนที่การเดินทางอย่างพร้อมสรรพ ใช้เป็นคู่มือทั้งวางแผนก่อนเที่ยวและระหว่างการเที่ยวได้เป็นอย่างดี ราวกับหนังสือพูดกับคุณได้ @ แต่ถ้าชอบหนังสือการเดินทางประเภทความทรงจำอันประทับใจ มีมุมมองอันมีความหมายของผู้เขียน "นายรอบรู้" ขอแนะนำให้อ่าน หัวใจออกเดิน ของสำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน เป็นการรวบรวมงานเขียนของ ๓๐ นักเขียนนักเดินทางร่วมสมัย ที่รู้จักกันดีทั้งรุ่นเก่าและรุ่นเก๋า อย่าง น. ณ ปากน้ำ, จิระนันท์ พิตรปรีชา, วาณิช จรุงกิจอนันต์, บินหลา สันกาลาคีรี, ศุ บุญเลี้ยง ฯลฯ
@ แต่ถ้าสนใจเปรียบเทียบสถานที่ท่องเที่ยว และรูปแบบการเดินทางในยุคเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนกับปัจจุบัน ก็ขอแนะนำ ปราโมทย์คลาสสิก ของสำนักพิมพ์เดียวกันนี้ หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมงานเขียนของ ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ ซึ่งวายชนม์ไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ คุณปราโมทย์เป็นนักเขียนสารคดีประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร อสท. ในยุคบุกเบิก ได้เขียนสารคดีท่องเที่ยวที่ให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจรอบด้าน ที่สำคัญมีภาพถ่ายประกอบเรื่อง ซึ่งบางภาพหาชมไม่ได้แล้วในสถานที่จริงในปัจจุบัน
@ พบกันคราวหน้า "นายรอบรู้" สัญญาว่าจะเพียรหาเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังอีกเช่นเคย
|