Home

 
 


รู้หรือ (ไม่) รู้
ผีเสื้อมาชุมนุมกันทำไม

เวลาไปเที่ยวป่าแทนที่เราจะพบผีเสื้อเกาะตามดอกไม้ เรากลับพบผีเสื้อหลายชนิด ไปรวมกันอยู่แถวริมห้วย แอ่งน้ำ หรือที่ชื้นแฉะบนถนน...ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
เราเคยชินกับผีเสื้อตามสวนหย่อมในบ้านที่ชอบหากินอยู่ตามดอกไม้ จึงมักเข้าใจว่า ผีเสื้อกินน้ำหวานดอกไม้เพียงอย่างเดียว ทั้งที่จริง ผีเสื้อยังกินของเหลวที่มีแร่ธาตุต่าง ๆ ด้วย ของเหลวเหล่านี้ไม่เพียงมีอยู่ในน้ำหวานดอกไม้ แต่ยังพบอยู่ตามพื้นดินและพื้นทรายเปียกชื้น ซากสัตว์ และผลไม้เน่า แม้กระทั่งปัสสาวะ หรือมูลสัตว์ก็ยังเต็มไปด้วยแร่ธาตุที่ผีเสื้อต้องการ โดยเฉพาะผีเสื้อตัวผู้ต้องการแร่ธาตุบางอย่างในการสร้างสเปิร์ม และกลิ่นหอมพิเศษเพื่อดึงดูดตัวเมีย ส่วนผีเสื้อตัวเมียนั้นกินแต่น้ำหวานดอกไม้เสมอ
ตามแอ่งน้ำหรือที่ชื้นแฉะริมถนนบางแห่งที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ซึ่งมักเป็นที่โล่ง แสงส่องถึง อาจพบผีเสื้อลงไปหากินรวมกันอยู่ เป็นจำนวนนับร้อยนับพันตัว เกาะกันหนาแน่นแทบทุกตารางนิ้ว จึงเรียกกันว่า โป่งผีเสื้อ ยิ่งในฤดูแล้ง โอกาสพบโป่งผีเสื้อมีมากกว่าช่วงอื่น เพราะแหล่งน้ำมีจำกัด ทำให้ผีเสื้อต้องมารวมกันอยู่ที่นั้น จึงเป็นโอกาสดีของนักดูผีเสื้อ ที่จะไปเฝ้ารอดูและสังเกตลักษณะเด่นของผีเสื้อแต่ละชนิดได้ง่าย

รู้หรือ (ไม่) รู้ - ผีเสื้อมาชุมนุมกันทำไม (คลิกดูภาพใหญ่)รู้หรือ (ไม่) รู้ - ผีเสื้อมาชุมนุมกันทำไม (คลิกดูภาพใหญ่)
ในการกินอาหาร ผีเสื้อใช้ปากที่เป็นหลอดดูด เรียกว่า ท่องวง (proboscis) ดูดกินอาหารที่เป็นของเหลว ท่องวงมีลักษณะเป็นหลอดรูปครึ่งวงกลมสองหลอด ประกบกันสนิทด้วยขอเกี่ยวเล็ก ๆ ทางด้านข้าง เวลาปรกติ ท่องวงจะม้วนขดคล้ายลานนาฬิกาเก็บไว้ เมื่อต้องการดูดกินของเหลว ผีเสื้อก็จะคลายท่องวงออกมา และขณะที่มันดูดนั้น ผีเสื้อจะพ่นน้ำออกทางก้นเป็นระยะๆ ด้วย เพราะเมื่อมันได้แร่ธาตุที่ต้องการในของเหลวแล้ว มันก็จะกำจัดน้ำส่วนเกินออกมา
คราวหน้าหากพบโป่งผีเสื้อ นอกจากจะชื่นชมกับลวดลายและสีสันบนปีกแล้ว ลองสังเกตวิธีดูดกินอาหารของมันด้วย
Home