Contact Us
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
www.Thaitraveler.com
รู้หรือ (ไม่) รู้
เฟินดึกดำบรรพ์ ?
เขาหลวงมีพรรณพืชที่น่าสนใจให้เราชมได้มากมาย หนึ่งในนั้นคือบัวแฉก ซึ่งนับได้ว่าเป็นเฟินดึกดำบรรพ์ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก
บัวแฉกมีต้นตระกูลที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ ๒๒๕ ล้านปีก่อนซึ่งเป็นช่วงต้นยุคไทรแอสสิก หรือช่วงเวลาที่เริ่มมีไดโนเสาร์เกิดขึ้นบนพื้นโลก พอถึงช่วงที่ไดโนเสาร์ครองโลก หรือในยุคจูแรสสิก ประมาณ ๑๘๐-๑๓๕ ล้านปีก่อน เทือกเขาเหล่ากอของบัวแฉก ก็แพร่พันธุ์ไปทั่วทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ญาติร่วมวงศ์เดียวกันต่างพาล้มหายตายจากไปหมด คงเหลือรอดมาถึงโลกปัจจุบันเพียงสกุลบัวแฉกสกุลเดียวนี้เอง ซึ่งเมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับซากดึกดำบรรพ์แล้ว มันยังคงมีลักษณะบางอย่างของอับสปอร์และโครงสร้างภายใน ไม่ต่างจากบรรพบุรุษของมันเลย บัวแฉกในปัจจุบันมีลักษณะคือ มีใบเป็นใบเดี่ยวแต่แบ่งเป็นสองซีก ขอบใบทั้งสองซีกเว้าเป็นแฉกแหลมตามแนวเส้นใบหลัก ปรกติบัวแฉกจะกระจายอยู่ในป่าดงดิบชื้น ตั้งแต่อินเดีย มลายู ไปจนถึงไต้หวัน รวมถึงป่าทางภาคใต้ของไทยเฉพาะที่อยู่สูง ๘๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป เนื่องจากในปัจจุบันสภาพป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ ถูกมนุษย์ทำลายอย่างหนัก บัวแฉกจึงกลายเป็นพืชหายาก จนแทบสูญพันธุ์ไปจากป่าเมืองไทย จะหาดูได้ก็ที่เขาหลวง และป่าบางแห่งทางภาคใต้เท่านั้น
นอกจากบัวแฉกจะเป็นพืชโบราณที่หาดูได้ยากแล้ว มันยังมีคุณค่าต่อระบบนิเวศด้วย เนื่องจากมันเป็นพืชเบิกนำที่จะขึ้นในบริเวณที่โล่งแจ้ง มันจึงช่วยลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดิน