Contact Us
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
www.Thaitraveler.com
นายรอบรู้ชวนเที่ยว.. พิชิตเขาหลวงแดนใต้
เขาหลวงได้ชื่อว่าเป็นขุนเขาในฝันของนักท่องไพรอีกแห่งหนึ่ง ด้วยความสูงถึง ๑,๘๓๕ เมตร ช่างท้าทายต่อมผจญภัยเพื่อพิชิตยอดสูงสุดเสียเหลือเกิน แถมบนเขาหลวงยังเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพรรณพืชและสัตว์ให้ผู้รักธรรมชาติค้นหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าดึกดำบรรพ์ อันเป็นธรรมชาติที่หาชมได้ยากมากทางภาคใต้ แนะนำกันแบบนี้ คงเดาถูกใช่ไหมว่า "นายรอบรู้" จะมาชวนคุณไปเที่ยวเขาหลวงกัน
อาจมีบางคนติงว่า ไปเที่ยวป่าดงดิบกันทั้งที ทำไมถึงไม่ไปหน้าฝน ผืนป่าจะได้ชุ่มชื้นงดงาม มาหน้าร้อนแบบนี้จะเหมาะหรือ เรื่องความชุ่มชื้นคงไม่ต้องห่วง ป่าทางใต้มีฝนชุกตลอดปีอยู่แล้ว แต่สำหรับเขาหลวงควรเลือกไปช่วงนี้จะสะดวกที่สุด อย่างที่บอกไปแล้ว เขาหลวงไม่ใช่ควนเตี้ย ๆ การพิชิตยอดสูงสุดต้องเดินขึ้นเขาสูงชันเป็นระยะทางไกล และพักค้างแรมในป่ากันอย่างน้อยก็สองคืน ลำพังแบกของเดินขึ้นที่สูงชันก็ลำบากพอดู ยิ่งถ้าต้องฝ่าสายฝนกันทั้งวันในช่วงฝนชุกด้วยแล้ว รับประกันได้ว่าสุดโหดเลย "นายรอบรู้" ถึงได้ชวนไปเที่ยวเขาหลวงกันในระยะฝนทิ้งช่วงแบบนี้ไง จะได้มีเวลาละเมียดละไมกับธรรมชาติตลอดทาง แทนที่จะต้องเดินเปียกม่อลอกม่อแลกกันทั้งวัน
สำหรับยอดเขาหลวงที่เราจะไปพิชิตกันนี้อยู่ในเขต อช. เขาหลวง ที่มีอาณาเขต ๓๕๖,๒๕๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ. เมือง อ. ลานสะกา อ. ท่าศาลา อ. พรหมคีรี อ. ฉวาง อ. พิปูน และ อ. นบพิตำ จ. นครศรีธรรมราช โดยมีเส้นทางเดินขึ้นยอดเขาที่สะดวกและน่าสนใจที่สุดอยู่ทางด้านบ้านคีรีวง ชาวบ้านที่นี่มีการรวมตัวกันจัดตั้งชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านคีรีวงขึ้นมา เพื่อคอยให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินขึ้นเขาหลวง ด้วยการจัดหาคนนำทาง ลูกหาบ และเสบียงไว้ให้พร้อมสรรพ เพียงแค่นักท่องเที่ยวติดต่อมาที่ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านคีรีวง ศูนย์องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำโลน หมู่ที่ ๕ ต. กำโลน อ. ลานสะกา จ. นครศรีธรรมราช ก็รับประกันว่า ต้องถึงยอดเขาหลวงแน่ ๆ แต่อย่าลืมไปขออนุญาตขึ้นเขาจากที่ทำการ อช. เขาหลวงเสียก่อน จึงจะสามารถขึ้นสู่ยอดเขาหลวงได้ ที่ทำการฯ ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับน้ำตกกะโรม เลยจากบ้านคีรีวงไปไม่ไกล
วันออกเดินทางก็รีบไปถึงหมู่บ้านคีรีวงกันตั้งแต่เช้า เพื่อชมความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ดำรงชีวิตเรียบง่าย กลมกลืนไปกับผืนป่าเขาหลวงที่พวกเขามีส่วนร่วมอนุรักษ์และปกป้องไว้ พอสายหน่อยก็ได้เวลาออกเดินทางขึ้นเขา
จุดเริ่มต้นเดินเท้าอยู่ใกล้กับฝายกั้นน้ำของน้ำตกวังไม้ปัก บริเวณนี้เป็นจุดรับซื้อผลไม้ที่ชาวคีรีวงขึ้นไปเก็บจากสวนสมรมลงมาขาย สวนสมรมเป็นสวนผลไม้ที่ชาวบ้านปลูกไม้ผลหลายชนิด ทั้งมังคุด ทุเรียน สะตอ ลองกอง ฯลฯ ปะปนกับต้นไม้ในป่าธรรมชาติ จนกลายเป็นสวนป่าหรือเกษตรธรรมชาติที่สามารถเก็บผลิตผลไปขายได้ และสวนสมรมก็อยู่ระหว่างทางช่วงแรกนี่เอง เราจึงได้เห็นชาวบ้านแบกผลไม้เดิน้สวนลงมาเป็นระยะ
เดินผ่านสวนสมรมกันไปเรื่อย ๆ ผ่านน้ำตกเล็ก ๆ สามแห่ง คือ น้ำตกพรุกำ น้ำตกวังอ้ายยางล่าง และแวะกินข้าวกลางวันที่น้ำตกวังอ้ายยางบน จนบ่ายคล้อยก็มาถึงกระท่อมสุดท้ายสวนใสใน อันเป็นจุดสิ้นสุดเขตสวนสมรม และเป็นจุดพักแรมสำหรับคืนแรก
วันที่ ๒ ของการเดินทางก็ได้มุ่งหน้าเข้าสู่เขตป่าดงดิบชื้นของจริงกันเสียที จากระดับความสูง ๖๐๐ เมตร ของกระท่อมสุดท้ายสวนใสใน เราต้องเดินไต่ความสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อลุยไปให้ถึงยอดเขาที่ระดับความสูง ๑,๘๓๕ เมตร กันในวันนี้ เริ่มช่วงแรกด้วยการไต่ความชันขึ้นสู่สันลุงพร้าม ผ่านดงทากจนมาถึง ลานไทร บริเวณนี้เป็นลานกว้างเปิดโล่ง เพราะโดนน้ำป่าไหลหลากท่วมมาตามทางน้ำเป็นประจำ แต่ก็เป็นจุดที่มีเฟินต้นหรือมหาสดำขึ้นรวมอยู่มาก และมีผู้พบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด
จากลานไทรต้องไต่เขาชันกันอีก เพื่อขึ้นสู่ป่าดงดิบเขา ผ่านสันไม้แดง จนไปถึงลาน ฮ. ที่ระดับ ๑,๒๗๐ เมตร พอขึ้นมาถึงสันเขาก็มีทางแยกขวามือลงไปยังหุบผามหาสดำ ที่ได้ชื่อเช่นนั้นก็เพราะมีมหาสดำขึ้นรวมกันหนาแน่น เฟินยักษ์แต่ละต้นสูงใหญ่แทรกตัวท่ามกลางเรือนยอดของไม้ในป่าดงดิบเขา ดูคล้ายกับผืนป่าในยุคดึกดำบรรพ์ เพราะเฟินต้นเป็นพืชโบราณที่ถือกำเนิดขึ้นมาหลายร้อยล้านปีตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ แถมรูปร่างลักษณะก็แทบไม่เปลี่ยนไปจากเดิม และบริเวณหุบผามหาสดำยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ ที่มองเห็นผืนป่าเขาหลวงงดงามมาก
เมื่อเดินไปถึงลาน ดร. ชวลิตที่ระดับความสูง ๑,๔๕๐ เมตร คราวนี้ก็ถึงเวลาซึมซับกับบรรยากาศของป่าเมฆที่มีเมฆหมอกปกคลุมตลอดปี ท่ามกลางความชุ่มชื้นและอากาศหนาวเย็นของป่าดงดิบเขา ต้นไม้และโขดหินมีมอสและเฟินปกคลุมเขียวราวกับห่มผ้า ยิ่งขึ้นไปถึงยอดเขาก็ยิ่งสัมผัสความชุ่มชื้นได้มากขึ้น แม้ต้นไม้ห่มผ้าบนยอดเขาหลวงจะมีลักษณะแคระแกร็น ไม่ใหญ่โตเหมือนบนดอยอินทนนท์ แต่สภาพป่าดงดิบเขาที่ชุ่มชื้นไปด้วยไอน้ำและม่านหมอก ก็ให้บรรยากาศของป่าดึกดำบรรพ์ไม่แพ้กัน
บนยอดเขาหลวงยังมีพืชดึกดำบรรพ์เป็นพันธุ์ไม้เด่นอีกชนิดหนึ่งคือ บัวแฉก (Dipteris conjugata) พืชชนิดนี้เคยมีมาตั้งแต่ยุคจูแรสสิก สมัยเดียวกับพวกไดโนเสาร์เมื่อ ๒๐๐ ล้านปีก่อน ในปัจจุบันบัวแฉกพบปกคลุมเฉพาะตามป่าดงดิบเขาบนยอดเขาสูงทางภาคใต้เท่านั้น จึงนับเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่หาชมได้ยากมาก
ภายหลังพิชิตยอดเขาหลวงสำเร็จ การเดินทางก็เป็นอันสิ้นสุด พร้อมกับความสุขเมื่อได้สัมผัสค่ำคืนบนขุนเขาสูงเทียมเมฆคู่เมืองนคร เช้าวันรุ่งก็เดินกลับลงมา ปรกติใช้เวลาเพียงครึ่งวันในการเดินดิ่งลงรวดเดียว แต่หากมีแผนการเก็บเกี่ยวความงามของผืนป่าให้คุ้มค่า ก็เดินชมธรรมชาติลงมาเรื่อยๆ กะให้มาถึงหมู่บ้านคีรีวงตอนบ่ายแก่ ๆ
อ้อ! ก่อนกลับบ้าน อย่าลืมอุดหนุนผลไม้ของชาวคีรีวงไปกินด้วยนะ