Contact Us
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
www.Thaitraveler.com
โยนบัวที่คลองบางพลี
เช้าตรู่ของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนวันออกพรรษา ๑ วัน ชาวบางพลีจะแห่หลวงพ่อโตมาตามคลองสำโรง ให้พุทธศาสนิกชนบูชาด้วยการโยนบัวไปในลำเรือ อันเป็นที่มาของประเพณีรับบัว-โยนบัว ที่มีชื่อเสียงของ อ. บางพลี สมุทรปราการ
ประเพณีนี้มีมาแต่ครั้งโบร่ำโบราณ สมัยที่คลองสำโรงและหนองบึงใกล้เคียง ยังเป็นแหล่งที่มีดอกบัวหลวงอยู่มาก เมื่อใกล้วันทำบุญในเทศกาลออกพรรษา คนในอำเภอใกล้เคียง โดยเฉพาะชาวพระประแดง ซึ่งอยู่ในพื้นที่น้ำกร่อย จะพากันพายเรือมาเที่ยวเก็บดอกบัวไปไหว้พระ เมื่อมากันบ่อย ๆ ชาวบางพลีมีน้ำใจ ก็ไปเก็บหาดอกบัวไว้ให้ เกิดเป็นประเพณีคนต่างถิ่นพายเรือไปตามลำคลองสำโรง เพื่อไปขอรับดอกบัวจากชาวบางพลี... แม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน การให้และรับดอกบัวก็จะกระทำอย่างสุภาพ คือส่งและรับกันมือต่อมือ ก่อนจะให้กันก็ยกมือขึ้นจบอธิษฐานเสียก่อน เพราะถือว่าเป็นการทำกุศลร่วมกัน
คนเก่าแก่ของบางพลีเล่าว่า วัน "รับบัว" คือเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ แต่คนต่างถิ่นจะพายเรือมาตั้งแต่เย็นของวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เย็นนั้นท้องน้ำคลองสำโรงจะอึกทึกไปด้วยเสียงดนตรีนานาชนิด ทั้งซอ ปี่ กระจับ โทน รำมะนา โหม่ง กรับ ฉิ่งฉาบ ที่ขนลงเรือมา พวกพ้องที่ไม่มีหน้าที่พายเรือก็ร้องรำทำเพลงไปตลอดทาง ใครรู้จักบ้านไหนก็แวะขึ้นไปเยี่ยมเยียนกัน เจ้าของบ้านก็จะเตรียมเหล้ายาปลาปิ้งไว้ต้อนรับ ดึกแล้วก็ค้างที่บ้านนั้นเสียเลย
ตอนเวลาเช้าได้เวลาก็ลอยเรือไปรับบัว ขากลับอาจแข่งเรือกันไปตลอดทาง ดอกบัวที่ได้ไปส่วนมากจะแวะนำไปบูชาพระสมุทรเจดีย์หรือวัดในถิ่นตน
สำหรับประเพณี "โยนบัว" ที่เรา ๆ คุ้นเคยกัน เป็นงานที่ทางอำเภอรื้อฟื้นขึ้น มีการแต่งเรือประกวดประขันกัน ผู้ใหญ่บ้าน-กำนัน ต่างก็ช่วยกันหาดอกบัว และแจกข้าวต้มมัดแก่แขกต่างบ้านและผู้จัดเรือเข้าประกวด
เรือที่เข้าประกวดในครั้งแรก มีการเอาไม้ไผ่มาสานเป็นโครงรูปองค์พระพุทธรูป ปิดหุ้มด้วยกระดาษทอง ตั้งมาบนเรือสมมุติว่าเป็นหลวงพ่อโตแห่งวัดบางพลีใหญ่ใน ในนหลวงพ่อโตแห่งวัดบางพลีใหญ่ใน ต่อมาทางการเลยได้ไอเดีย อัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อโตจำลองลงเรือล่องมาตามคลองสำโรง กลายเป็นงานประเพณีประจำปีของอำเภอซึ่งถูกขยายงานให้ใหญ่ขึ้น มีมหรสพเฉลิมฉลอง มีตลาดนัด มีการประกวดพืชผักสวนครัว บางปีก็มีการประกวดนางงามด้วย
นับจากนั้นประเพณี "รับบัว" ก็กลายเป็นประเพณี "โยนบัว" ในเวลาต่อมา
ปีนี้งานโยนบัวจัดขึ้นในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๕ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ จึงคาดเดาได้ว่าจะมีผู้คนไปร่วมงานมากเป็นพิเศษ "นายรอบรู้" แนะนำให้ไปแต่เช้าตรู่ ถึงวัดไม่เกิน ๖.๓๐ น. ไปหาซื้อดอกบัวเอาแถว ๆ วัด ถือเป็นการกระจายรายได้ให้ชาวบ้าน เสร็จแล้วก็หาไปจับจองที่ทางริมคลองสำโรง ช่วงตั้งแต่วัดบางพลีในถึงที่ทำการอำเภอ พอได้เวลาเจ็ดโมงเช้า เรืองหลวงพ่อโตก็ออกจากวัดมาตามลำคลอง ถึงจังหวะนี้ก็ต้องเตรียมเล็งโยนบัวไปบูชาหลวงพ่อโตกัน
ด้วยความที่คลองสำโรงไม่ใช่คลองแคบ ๆ วิธีส่งดอกบัวขึ้นเรือก็มีอยู่วิธีเดียว ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอื่นได้ นั่นคือ โยนดอกบัวไปยังเรือตรงตำแหน่งที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต บางคนที่อยู่ไกลเรือมากเพราะมาจับจองพื้นที่ริมคลองไม่ทัน ก็อาจต้อง "เขวี้ยง" ดอกบัวเต็มแรง บางคนกลัวดอกบัวไปไม่ถึงจุดหมาย ก็โยนบัวกันทั้งกำ แทนที่จะโยนบัวที่ละดอก
บรรยากาศการโยนบัวเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เพราะต้องคอยลุ้นกันว่าจะโยนดอกบัวลงเรือได้หรือไม่ และเรือจะอยู่ในตำแหน่งที่เราพอจะโยนบัวได้แค่ ๒ นาที เท่านั้น แต่ละคนจึงระดมโยนบัวกันอย่างเอาจริงเอาจัง มองผาด ๆ เหมือนฝนตกลงมาเป็นดอกบัวทีเดียว ส่วนใหญ่จะโยนบัวพลาดเป้าหมายเสียครึ่งต่อครึ่ง แต่ก็จะมีคนคอยเก็บดอกบัวในน้ำขึ้นมาบนเรือให้
เมื่อโยนดอกบัวกันแล้ว ลูกศิษย์หลวงพ่อโตบนเรือก็จะโยนข้าวต้มมัดให้ชาวบ้านสองฝั่งคลอง ปากก็ร้องว่า "ข้าวต้มหลวงพ่อโต กินเป็นยา กินแล้วเป็นมงคล" ชาวบ้านจึงชุลมุนแย่งข้าวต้มมัดในถุงพลาสติกหูหิ้วที่โยนมาให้ทั้งถุง
"นายรอบรู้" สงสัยว่าเขาจะเอาดอกบัวกองพะเนินเทินทึกท่วมพระอุระหลวงพ่อโต ไปทำอะไรกัน สอบถามแล้วได้ความว่า ทางวัดจะเก็บเกสรดอกบัวตากแห้ง ไว้ผสมทำพระผงในบางโอกาส การแจกข้าวต้มมัดกันกินนี่ ก็เป็นประเพณีที่ทำกันมาแต่โบราณ เดิมทำไว้ถวายพระให้ท่านฉันรองท้อง เพราะวันงานมีพิธีรีตองมาก เขาเกรงว่าพระจะหิว ข้าวต้มมัดจึงเป็นอาหารสำเร็จรูปของโบราณ ที่เรา ๆ ในยุคนี้ก็ยังชอบกินกันอยู่ เพราะอร่อยและหนักท้องดี
เรือหลวงพ่อโตผ่านไปแล้ว ก็จะมีเรือประกวดประขันแล่นติดตามมา ทั้งประเภทเรือสวยงามที่ประดับตกแต่งดอกไม้กันเต็มที่ แถมมีเทพีประจำเรือนั่งโปรยยิ้มโบกไม้โบกมือให้ ตามติดมาด้วยเรือประเภทสร้างสรรค์ เช่น รณรงค์ต่อต้านยาเสพย์ติด เป็นต้น ซึ่งหัวข้อที่เขานำมาเป็นโจทย์ในการคิดตกแต่งเรือ ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละปี แล้วแต่สภาพสังคมและเหตุการณ์สำคัญของแต่ละปี
เสร็จพิธีโยนบัวแล้ว รอบ ๆ งานเขามีการออกร้านจำหน่ายสินค้ามากมายให้เลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน ถ้าอยู่ถึงย่ำค่ำก็มีมหรสพให้ชมด้วย ถึงตอนนี้ก็คงจะหิวกันแล้ว หากยังไม่มีโปรแกรมไปต่างจังหวัดไกล ๆ นไปเที่ยวงานประเพณีรับบัว-โยนบัว ของชาวบางพลีกัน เราจะได้มีส่วนร่วมในงานด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตการณ์อย่างงานประเพณีอื่น ๆ