home
Contact Uscontact@sarakadee.com
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
www.Thaitraveler.com
เที่ยวทั้วไทยกับ "นายรอบรู้" เดือนสิงหาคม

นายรอบรู้ชวนเที่ยว : ดูสนุก ดูที่ไหน
ตามหาผีเสื้อแสนสวย

ระยะนี้ หากใครมีโอกาสเข้าไปเที่ยวป่า คงพบนักท่องเที่ยวสะพานกล้องส่องทางไกลเดินสอดส่อง ด้อมๆ มองๆ แถวริมทางอยู่เสมอ เมื่อเห็นภาพเช่นนี้ มักสรุปกันทันทีว่า ต้องมาดูนกแน่ๆ แต่ไม่ถูกไปเสียทั้งหมดหรอก บางคนอาจส่องมองหาผีเสื้อก็ได้
แม้ความสนใจยังเป็นรองอยู่มาก แต่การดูผีเสื้อเป็นกิจกรรมศึกษาธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สนุกสนานไม่แพ้ดูนก เพราะผีเสื้อมีสีสันสดสวยชวนประทับใจ แถมยังหาดูง่ายกว่านกเสียอีก ส่วนใหญ่พบเห็นได้ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง และมีจำนวนไม่น้อยที่หายาก ชวนให้ท้าทายต่อการค้นหา
ฝูงผีเสื้อนานาชนิดชุมนุมกันอยู่ที่โป่งผีเสื้อ (คลิกดูภาพใหญ่)ผีเสื้อฟ้าวาวสีต่างฤดูดูดกินน้ำหวานดอกไม้ (คลิกดูภาพใหญ่)ผีเสื้อกะลาสีแถบสั้นผึ่งแดดยามเช้า (คลิกดูภาพใหญ่)
"นายรอบรู้" จึงอยากชวนคุณไปดูผีเสื้อกันบ้าง คนที่สนใจดูนกอยู่แล้ว จะเปลี่ยนแนวไปดูผีเสื้อบ้างก็ได้ หรือจะดูไปพร้อมกันไม่ผิดกติกา เสียแต่ว่าอาจเดินตามกลุ่มเพื่อนนักดูนกไปไม่ทัน เพราะการดูผีเสื้อค่อนข้างละเมียดละไมกว่า
ทำไมถึงบอกว่า สามารถดูนกและผีเสื้อได้พร้อมกัน ก็ทั้งสองเรื่องมีกล้องส่องทางไกลเป็นอุปกรณ์สำคัญเหมือนกัน
กล้องส่องทางไกลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดูผีเสื้อเช่นเดียวกับดูนก มันช่วยขยายผีเสื้อตัวเล็กๆ ให้เห็นแม้ในระยะไกล จนสามารถสังเกตรายละเอียดและสีสันบนปีกผีเสือได้ชัดเจน และเมื่อเข้าไปใกล้ผีเสื้อได้จนถึงระยะประชิด ก็หันไปหยิบแว่นขยายมาช่วยทำหน้าที่แทนกล้องส่องทางไกล แว่นขยายที่ใช้ควรเป็นแบบมีด้ามจับ จะได้ยกส่องผีเสื้อได้สะดวก คราวนี้ผีเสื้อตัวเล็กๆ จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ขึ้นมาตรงหน้าทันที
เมื่อนักดูนกต้องมีคู่มือสำหรับจำแนกนก นักดูผีเสื้อก็จำเป็นต้องพึ่งพาคู่มือ ช่วยจำแนกผีเสื้อเช่นกัน สำหรับ Field Guide to the Butterflies of Thailand คู่มือดูผีเสื้อในเมืองไทยฉบับมาตรฐานของ นพ. บุญส่ง เลขะกุล และคณะ ที่พิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ คงหาซื้อไม่ได้แล้ว แต่ไม่ต้องกังวล ตอนนี้มีคู่มือดูผีเสื้อฉบับภาษาไทยพิมพ์ออกมาหลายเล่ม ส่วนใหญ่เน้นให้เหมาะแก่การใช้ง่ายของผู้เริ่มต้นดูผีเสื้อ โดยภาพถ่ายสวยงามและข้อมูลช่วยจำแนกได้ง่าย
ตามหาดทรายริมลำธารมีโอกาสพบฝูงผีเสื้อได้ง่าย (คลิกดูภาพใหญ่)ผีเสื้อใบไม้ใหญ่อินเดียมีลักษณะคล้ายใบไม้แห้ง (คลิกดูภาพใหญ่)
อุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับดูผีเสื้อก็มีเท่านี้ เตรียมครบแล้ว ก็พร้อมไปดูผีเสื้อได้เลย ช่วงแรกอาจซุ่มฝึกซ้อมกับผีเสื้อที่พบละแวกบ้านก่อน หมั่นฝึกดูฝึกสังเกตรายละเอียดผีเสื้อกับดอกไม้จนคล่องตัว ไม่ว่าจะเป็นผีเสื้อหนอนมะนาว ผีเสื้อหนอนคูณธรรมดา ผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา ผีเสื้อแพนซีเทา ฯลฯ จากนั้นหาโอกาสไปดูในป่าที่มีผีเสื้อชุกชุมกว่าสวนหน้าบ้าน ป่าใกล้กรุงเทพฯ หลายแห่งเป็นแหล่งดูผีเสื้อที่น่าสนใจมาก เช่น แก่งกระจาน เขาใหญ่ หรือเขาเขียว เดินทางไปได้สะดวกและเต็มไปด้วยผีเสื้อมากมาย
บางคนบอกว่าดูผีเสื้อในป่าง่ายกว่าดูนกเสียอีก แค่คอยเฝ้าดูตามแหล่งหากินของผีเสื้อสองแหล่งใหญ่ คือดอกไม้และโป่งผีเสื้อ ก็ไม่ต้องไปไหนแล้ว ดอกไม้กับผีเสื้อย่อมเป็นของคู่กัน แต่โป่งผีเสื้อน่าสนใจกว่าตรงที่มีผีเสื้อไปรวมกินแร่ธาตุเป็นอาหารคราวละมากๆ เลือกดูเลือกจำแนกกันได้สบายไปเลย ก็เหมือนกับเฝ้าดูนกมากินลูกไทรนั่นเอง
โป่งผีเสื้อมักอยู่ตามบริเวณที่ชื้นแฉะ ไม่ว่าจะเป็นริมห้วยหรือแอ่งน้ำขังริมทาง ฝูงผีเสื้อจะลงไปใช้หนวดดูดกินของเหลวที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุ ฤดูฝนแบบนี้จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสำหรับดูผีเสื้อตามโป่ง หาผีเสื้อดูได้ง่ายมากตามพื้นดินชื้นแฉะและมีน้ำขังตลอดเวลา แม้กระทั่งบนถนน บางครั้งก็พบผีเสื้อตามมูลสัตว์และผลไม้เน่าด้วย
ช่วยกันจำแนกผีเสื้อจากคู่มือ (คลิกดูภาพใหญ่)ผีเสื้อหางติ่งปารีสชอบหากินตามริมน้ำ (คลิกดูภาพใหญ่)ผีเสื้อหนอนพุทราแถบตรงเป็นผีเสื้อขนาดเล็ก (คลิกดูภาพใหญ่)
ผีเสื้อสีสวยที่มักพบตามโป่งผีเสื้อก็มีผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อหนอนจำปีจุดแยก ผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดา ผีเสื้อหางมังกรเขียว ผีเสื้อปลายปีกส้มเล็ก ผีเสื้อหางติ่งนางระเวง ผีเสื้อหางดาบธรรมดา ผีเสื้อหางดาบลายขีด ฯลฯ
ปรกติก่อนออกหากินผีเสื้อต้องเกาะตามใบไม้นิ่งๆ เพื่อผึ่งแดดให้ร่างกายและปีกอบอุ่นแข็งแรง ตอนเช้านับเป็นโอกาสทองที่จะสังเกตผีเสื้อได้สะดวกและใกล้ชิด หากรอจนสาย เมื่อผีเสื้อออกบินหากินแล้ว จะดูยากขึ้น โดยเฉพาะพวกที่บินเร็วและค่อนข้างตื่นคน แค่ขยับตัว ผีเสื้อก็บินหนีไปไกลแล้ว อย่าลืมว่ามันก็มีตาเหมือนกัน
สำหรับเทคนิคในการดูผีเสื้อก็มีหลักง่ายๆ ทันทีที่เห็นผีเสื้อ พยายามเดินเข้าหาช้าๆ เมื่อไปถึงระยะประมาณ ๕ เมตรให้นั่งลง แล้วยกกล้องส่องทางไกลส่องดูผีเสื้อ ถ้าไม่มีกล้องให้ขยับไปหาทีละนิด เข้าไปเรื่อยๆ ไม่ต้องใจร้อน หากผีเสื้อตกใจบินขึ้น ให้นั่งนิ่งๆ รอสักพัก ถ้าผีเสื้อยังห่วงอาหารก็จะกลับมาเอง 
เมื่อเข้าไปใกล้ราว ๒ เมตรให้หมอบลงแล้วค่อยๆ คลานเข้าไป วิธีนี้ช่วยให้เข้าไปดูผีเสื้อได้ใกล้ถึง ๑ เมตร หรือใกล้จนสามารถยกแว่นขยายส่องดูรายละเอียดได้ โดยถือแว่นขยายให้อยู่ใกล้ตาเสียก่อน แล้วค่อยๆ เลื่อนแว่นขยายเข้าไปหาผีเสื้อ จนกระทั่งเห็นภาพชัดเจน เห็นหรือยังว่า ดูผีเสื้อต้องใจเย็นและละเมียดแค่ไหน
สังเกตรายละเอียดของผีเสื้ออย่างใกล้ชิด (คลิกดูภาพใหญ่)ผีเสื้อตาลพุ่มลงมาดูดกินเหงื่อบนมือให้ดูใกล้ๆ (คลิกดูภาพใหญ่)
วิธีจำแนกผีเสื้อก็ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก พิจารณาความแตกต่างของแต่ละชนิดเป็นหลัก เริ่มจากจุดเด่นบนปีก ทั้งรูปทรง สีสัน และลวดลาย เช่น เป็นผีเสื้อหางติ่งหรือหางดาบ ปีกมีสีพื้นอย่างผีเสื้อจรกาหรือสลับสีฉูดฉาดอย่างผีเสื้อหนอนกาฝาก มีลายจุดกลมแบบผีเสื้อตาลพุ่มหรือแถบยาวแบบผีเสื้อสะพายฟ้า 
ปรกติผีเสื้อส่วนใหญ่มีปีกคล้ายกันทั้งสองเพศ แต่บางชนิดเพศผู้เพศเมียมีความแตกต่างกัน ทั้งสีสันลวดลาย ขนาดความกว้างของปีก และรูปทรงปีก จนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นคนละชนิด ต้องสังเกตและจำแนกให้ดี เช่น ผีเสื้ออาชดุ๊กธรรมดา ผีเสื้อกะทกรกธรรมดา และผีเสื้อหางติ่งนางระเวง
ขั้นตอนต่อไปให้สังเกตสีของหนวด สีของลำตัว จำนวนขาประกอบด้วย รวมทั้งท่าทางการเกาะ การบิน การลงกินอาหารก็แตกต่างกันไปด้วย แต่ระยะแรกนี้ดูความแตกต่างของปีกก็พอแล้ว เน้นพวกสีสวยเป็นหลักไว้ก่อน
ถ้าจะดูผีเสื้อให้สนุกยิ่งขึ้น ควรเตรียมสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ สำหรับบันทึกชนิด ลักษณะ พฤติกรรม และวันเวลาที่พบผีเสื้อ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับดูและศึกษาผีเสื้อในคราวต่อไป 
ว่าแต่ว่า ตอนนี้คุณเริ่มสนใจดูผีเสื้อบ้างหรือยัง
มูลสัตว์ก็เป็นแหล่งอาหารของผีเสื้อ (คลิกดูภาพใหญ่)ผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดากับมูลสัตว์ (คลิกดูภาพใหญ่)เส้นทางในป่าแก่งกระจานเป็นจุดดูผีเสื้อที่น่าสนใจมาก (คลิกดูภาพใหญ่)

ดูที่ไหน

แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี/ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งดูผีเสื้อที่น่าสนใจที่สุด โดยเฉพาะตามเส้นทางขึ้นเขาพะเนินทุ่งช่วง กม. ๑๐-๑๘ เป็นบริเวณที่พบผีเสื้อจำนวนมาก มีโป่งผีเสื้อหลายแห่ง เช่น ที่บ้านกร่างแคมป์ ริมลำห้วยด้านหลังแคมป์ ริมลำห้วยระหว่าง กม. ๑๖-๑๘ หรือแอ่งน้ำขังบนถนน ผีเสื้อที่น่าสนใจเช่น ผีเสื้อขอบปีกเลื่อยจุดแดง ผีเสื้อหนอนจำปีจุดต่อขอบ ผีเสื้อตาลหนามแดง ผีเสื้อพ่อมด
เขาใหญ่ จ. นครราชสีมา/นครนายก/ปราจีนบุรีสระบุรี เขาใหญ่มีสภาพป่าหลากหลาย ทั้งป่าดงดิบ ป่าโปร่ง ทุ่งหญ้า และป่าละเมาะ ทำให้พบผีเสื้อหลากหลายชนิดตามไปด้วย มีโป่งผีเสื้อหลายแห่ง ตามริมลำห้วย น้ำตก ตามทางเดินป่าก็พบผีเสื้อหลายชนิด ผีเสื้อที่น่าสนใจ เช่น ผีเสื้อองครักษ์ ผีเสื้อตาแมวม่วง ผีเสื้อไกเซอร์ดำ
เอราวัณ จ. กาญจนบุรี ริมลำห้วยหรือบริเวณน้ำตก มักพบผีเสื้อลงหากินตามพื้นทรายชื้นแฉะ มีเส้นทางเดินดูผีเสื้อเลียบน้ำตกเป็นระยะทางไกล ผีเสื้อที่น่าสนใจ เช่น ผีเสื้อแผนที่ธรรมดา ผีเสื้อหางติ่งชะอ้อน ผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดา 
เขาสอยดาว จ. จันทบุรี เป็นแหล่งดูผีเสื้อสำคัญทางภาคตะวันออก สภาพป่าเป็นป่าดงดิบชื้น ผีเสื้อที่น่าสนใจ เช่น ผีเสื้อหนอนจำปีธรรมดา ผีเสื้อหางติ่งปารีส ผีเสื้อหนอนมะพร้าวขนปุย
เขาสก จ. สุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งดูผีเสื้อสำคัญทางภาคใต้ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบชื้น มีทางเดินป่าผ่านลำห้วยหรือน้ำตกหลายเส้น ทำให้พบผีเสื้อไม่ยากนัก ผีเสื้อหลายชนิดยังแตกต่างไปจากทางภาคอื่น ผีเสื้อที่น่าสนใจ เช่น ผีเสื้อวงแหวนลาย ผีเสื้อหางดาบปีกโค้ง ผีเสื้อหนอนใบกุ่มเนโร
เขาเขียว-เขาชมภู่ จ. ชลบุรี เป็นแหล่งดูผีเสื้อใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด มีจุดดูผีเสื้ออยู่บริเวณน้ำตกชันตาเถร สามารถพบผีเสื้อได้หลายชนิด เช่น ผีเสื้อลายขี้เมี่ยง ผีเสื้อเหลืองหนามใหญ่โคนปีกดำ ผีเสื้อหางติ่งนางระเวง

แนะนำหนังสือคู่มือของ สนพ. สารคดี

- คู่มือผีเสื้อ เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์
- สังเกตธรรมชาติ : ผีเสื้อ เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์
Home