home
Contact Uscontact@sarakadee.com
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
เที่ยวทั้วไทยกับ "นายรอบรู้" เดือนพฤศจิกายน

รู้หรือ (ไม่) รู้

เล็ก-ใหญ่ที่สุดในน้ำ

แหล่งน้ำจืดในเมืองไทยเป็นถิ่นอาศัยของปลามากกว่า ๗๐๐ ชนิด นับเป็นศูนย์ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืดมากที่สุดของโลกอีกแห่งหนึ่ง ปลาเหล่านี้กระจายพันธุ์อยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง ไปจนถึงทะเลสาบและแม่น้ำใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ
ความโดดเด่นของปลาน้ำจืดในเมืองไทยมิใช่มีเพียงแค่จำนวนชนิดพันธุ์ แต่รวมถึงขนาดด้วย บ้านเราเป็นถิ่นอาศัยของปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ ปลาบึก Pangasianodon gigas ปลาชนิดนี้มีขนาดยาวถึง ๒-๒.๕ ม. ใครไม่เคยเห็นปลาบึก ก็ให้นึกภาพปลาสวายตามตลาดสด แล้วขยายให้ใหญ่ขึ้นอีกสี่เท่า เพราะปลาในสกุล Pangasianodon ทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกันมาก

รู้จักปลาตัวโตแล้ว ก็มาตื่นเต้นกับปลาตัวจิ๋วกันบ้าง ปลาซิวแคระสามจุด Boraras micros เป็นปลาที่มีขนาดเล็กที่สุดในเมืองไทย เมื่อโตเต็มที่ ปลาซิวแคระสามจุดวัดจากหัวถึงหางได้ยาวเพียง ๑.๓๕ ซม. (ถ้าไม่บอกกันก่อน ต้องคิดว่าเป็นลูกปลาแน่เลย) ด้วยขนาดเล็กจิ๋วเพียงเท่านี้ ยังทำให้ปลาซิวแคระสามจุดครองอันดับที่ ๓ ของปลาขนาดเล็กที่สุดในโลก และมันยังเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบในเมืองไทยเพียงแห่งเดียว โดยอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำสะอาดที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น เช่น กุดและหนองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น
ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่ยักษ์หรือเล็กจิ๋ว ปลาทั้งสองก็ไม่พ้นถูกคุกคามเช่นกัน โดยเฉพาะปลาบึกที่อยู่ในสภาวะวิกฤตใกล้สูญพันธุ์จากธรรมชาติ เพราะถูกล่าอย่างหนัก และวงจรชีวิตยังได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนขวางกั้นการไหลเวียนของแม่น้ำโขง ขณะที่ปลาซิวแคระสามจุดก็พบน้อย เพราะหนองน้ำที่เป็นถิ่นอาศัยถูกบุกรุกและยังเสื่อมสภาพจากมลพิษ

Home