คมฉาน ตะวันฉาย เรื่อง/ภาพ

ในยามที่เราเดินทางออกท่องโลก
ก็มักจะพบเห็นสิ่งแปลกใหม่นอกเหนือจากการรับรู้เดิม ๆ อยู่ตลอดเวลา
หลายครั้งนำมาซึ่งคำถาม ความฉงนสนเท่ห์ โดยเฉพาะกับสิ่งที่ธรรมชาติเป็นผู้สรรค์สร้าง
หนึ่งในหลายสิ่งนั้นก็คือปรากฏการณ์เสาดิน ที่วันนี้ นายรอบรู้ อยากพาไปเที่ยวชมกัน
ตัวอย่างของเสาดินที่รู้จักดีคือ
แพะเมืองผี จ. แพร่ แต่ไม่ได้หมายความว่าปรากฏการณ์อย่างนี้จะมีเพียงที่แพะเมืองผีเท่านั้น
ความจริงมีกระจายอยู่ในหลายพื้นที่แทบทุกภูมิภาคยกเว้นภาคใต้ นายรอบรู้
ขอเรียกปรากฏการณ์นี้แบบรวม ๆ ว่า ปรากฏการณ์แพะเมืองผี ก็แล้วกัน
ลักษณะของพื้นที่ที่เกิดแพะเมืองผี
มักเป็นหล่มยุบตัวลงไปจากระดับพื้นดินปรกติ ปรากฏเป็นกองดินและแท่งเสาดิน
ตามผิวของเสาดินมีริ้วลายเป็นร่องยาวจากบนลงล่างเป็นลวดลายหลัก เสาดินมีขนาดสูงบ้าง
ต่ำบ้าง บางแห่งสูงเกือบ ๓๐ เมตรทีเดียว อาณาเขตของการเกิดปรากฏการณ์แพะเมืองผีมักมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า
๑ ไร
่ 
ด้วยพื้นที่ที่กว้างขวางพอประมาณและเสาดินที่ปรากฏเป็นรูปทรงต่างๆ
การมาเยี่ยมชมปรากฏการณ์นี้ จึงต้องผนวกจินตนาการเป็นเครื่องช่วยนำทางเช่นเดียวกับเวลาไปดูหินงอกหินย้อยตามถ้ำ
เช่น บางแห่งดูลึกลับ เวิ้งว้าง ก็เรียกว่า เขาวงกต บ้างเรียงรายล้อมรอบดั่งกรงขัง
ก็จินตนาการว่าเป็นคอกเสือ บางแห่งซับซ้อน วกวน และกว้างใหญ่ แม้กระทั่งเจ้าแห่งป่าอย่างสิงโตยังต้องเหลียวมองด้วยความงงงัน
ก็เรียกว่า ผาสิงห์เหลียว ผนังดินที่สูงใหญ่ราว ๓๐ เมตรเป็นแนวยาวร่วม
๑๕ เมตร ก็ถูกจินตนาการว่าเป็นดั่งกำแพงโรมัน
แล้วเสาดินแบบแพะเมืองผีที่เป็นต้นกำเนิดจินตนาการเหล่านี้
เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ปรากฏการณ์แพะเมืองผีไม่ใช่เกิดได้ในทุกพื้นที่ แต่ต้องเป็นพื้นที่ซึ่งมีองค์ประกอบของเนื้อดินที่มีความหนาแน่นไม่เท่ากัน
อาศัยน้ำฝนช่วยกัดเซาะ และลมช่วยขัดสี
ถ้าสังเกตดี ๆ แพะเมืองผีจะมีลักษณะหลักสองแบบ คือ แบบเสาดินที่มีหมวกแข็ง
และแบบเสาปลายแหลมที่ไม่มีหมวกแข็ง

เสาดินที่มีแผ่นหินแข็งเหมือนหมวกอยู่บนหัวเสา
มักจะสูง และขนาดของเสาตั้งแต่ยอดถึงโคนจะเท่ากัน เสาดินกลุ่มนี้มีดินลูกรังและก้อนกรวดเล็กๆ
เป็นองค์ประกอบ เช่น แพะเมืองผี จ. แพร่ ผาวิ่งชู้ ผาสิงห์เหลียว จ.
เชียงใหม่
เสาดินแบบที่ไม่มีหมวกแข็ง
จะมีปลายแหลมมน ยอดเสาเรียวเล็กกว่าโคน เสาไม่สูงมาก ในเนื้อดินมักไม่มีกรวดหินปนอยู่ด้วย
เช่น โป่งยุบ จ. ราชบุรี เสาดินนาน้อย จ. น่าน
ชั้นดินของเสาดินแบบแรกนั้น
นักธรณีวิทยาประมาณค่าอายุของดินว่าอยู่ในยุค Quaternary ประมาณ ๒
ล้านปี ซึ่งถือว่าไม่ใช่ยุคเก่าแก่เท่าใด ประกอบด้วยชั้นดินที่มีดิน
หิน กรวด ทราย จับตัวกัน แต่ละชั้นมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน การต้านทานต่อการผุพังจึงไม่เท่ากันด้วย
ชั้นที่มีสารเหล็กเชื่อมประสานเป็นดินลูกรัง จะทนทาน ผุพังช้ากว่า
ทำหน้าที่เป็นเสมือนแผ่นเกราะหรือหมวก คอยปกป้องชั้นดินส่วนที่เปราะบาง
ในขณะที่ส่วนที่อยู่นอกร่มแข็ง ก็จะถูกชะล้างออกไป จึงปรากฏรูปร่างเป็นแท่ง
เป็นหย่อม อย่างที่เห็นกัน

ส่วนชั้นดินแบบที่
๒ เป็นชั้นดินที่ไม่มีหินกรวดปะปน เนื้อดินจะเป็นทรายละเอียด มีความหนืดในเนื้อดิน
ทำให้เกาะตัวกันได้ แต่เมื่อถูกฝนและลมชะล้างอยู่บ่อย ๆ เข้า ก็จะค่อย
ๆ เสื่อมสภาพได้ค่อนข้างง่าย เสาดินแบบนี้จึงมีขนาดไม่สูงนัก
แต่ไม่ว่าจะเป็นเสาดินแบบไหน
ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการของแต่ละคนว่ามันมีรูปร่างเหมือนกับอะไร
|