|
||||||
ช่างเขียน |
||||||
รูปที่ ๑๐ ตอนทหารของจัมปานคร มาแจ้งข่าวข้าศึกประชิดเมือง แก่เจ้าคันทน |
การศึกษาแต่เดิมเข้าใจว่าภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์เป็นฝีมือของช่างชาวไทลื้อ
เพราะได้นำลักษณะการเขียนและการจัดวางองค์ประกอบของภาพ
ไปเปรียบเทียบกับจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา ซึ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นระบุว่าช่างเป็นชาวไทลื้อมาจากเมืองเชียงขวาง11 และความเห็นที่เชื่อว่าจะเป็นช่างไทลื้ออีกแนวหนึ่งก็ให้เหตุผลว่า เนื่องจากการโพกศีรษะของรูปที่เข้าใจว่าเป็นช่างเขียนนั้น (รูปที่ ๑๔)
มีลักษณะเช่นเดียวกับการโพกศีรษะของบุคคลในภาพร่างลายเส้น
ที่เขียนบนพับสาซึ่งทางวัดหนองบัวเก็บรักษาไว้12 ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเชื่อกันว่าช่างที่เขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์และวัดหนองบัวเป็นคนเดียวกัน โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัวน่าจะเขียนก่อนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์13 การศึกษาครั้งต่อมาสันนิษฐานว่าช่างเขียนอาจจะเป็นชาวม่าน (พม่า) เพราะเข้าใจว่าภาพชายหนุ่มที่กระซิบกับหญิงสาว (รูปที่ ๑๔) น่าจะเป็นภาพเหมือนของช่างเขียน ในภาพมีการแต่งกายและผ้านุ่งที่มีลายลุนตะยาซึ่งเป็นลายผ้าของชาวพม่า14 อย่างไรก็ตาม การนุ่งผ้าที่มีลายลุนตะยานั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นชาวพม่าเสมอไป เพราะที่เสาของผนังด้านทิศตะวันออกก็มีรูปบุคคลที่นุ่งผ้าลายลุนตะยา แต่ลักษณะของรูปบุคคลนั้นน่าจะเป็นชนพื้นเมืองชั้นสูงของเมืองน่านมากกว่าชาวพม่า และถึงแม้การแต่งกายและการสักจะใกล้เคียงกับรูปลายเส้นที่คาร์ล บอค อธิบายถึงชายชาวพม่า แต่ตามลำตัวกลับสักด้วยหมึกสีแดง อันเป็นความนิยมของชาวไทใหญ่15 |
|||||
รูปที่ ๑๑ ตอนเจ้าคันทนเข้าหานางสีไว ลูกสาวเศรษฐีเมืองจัมปา |
สำหรับการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะเป็นฝีมือช่างชาวไทลื้อมากกว่า และจากหลักฐานฝีมือช่าง เข้าใจว่าจะมีช่างเขียนสองคน คนแรกเขียนเรื่องคันทนกุมาร คือภาพด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก คนที่สองเขียนเฉพาะเรื่องเนมิราชด้านทิศตะวันตก และบางส่วนของคันทนกุมารทางด้านทิศใต้ ถึงแม้ว่าโครงสีของภาพทั้งหมดจะเป็นโครงเดียวกัน แต่รายละเอียดของภาพโดยเฉพาะภาพนรกในเรื่องเนมิราชนั้น ฝีมือของช่างอ่อนกว่าด้านอื่นอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องสีและการใช้เส้น นอกจากนี้ ลายมือตัวเขียนของช่างที่เขียนอธิบายภาพในแต่ละตอน รวมทั้งการสะกดพยัญชนะก็ยังแตกต่างกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ชื่อของเจ้าคันทนะ ภาพทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกใช้ ณ เป็นตัวสะกด ในขณะที่ทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกใช้ น และที่สันนิษฐานว่า ช่างเขียนทั้งสองคนน่าจะเป็นช่างชาวไทลื้อ ก็เพราะว่ามีศัพท์ภาษาไทลื้อบางคำปะปนอยู่ในคำอธิบายภาพ เช่นคำว่า ไป๊ "" ที่แปลว่าการดูแลรักษา และวิธีการเขียนสระบางตัว เช่น สระออ สะกดด้วย ย มีการชักหางให้ยาวขึ้นเลยบรรทัด เช่นคำว่า กอย (ดู) "" หรือการสะกดตัว ง ที่วางไว้ข้างบนของบรรทัด เช่นคำว่า เวียง "" ซึ่งเป็นอักขรวิธีของชาวไทลื้อ16 |
|||||
การกำหนดอายุ |
||||||
รูปที่ ๑๒ ตอนพระเนมิราชขึ้นไปพบพระอินทร์ บนสวรรค์ชั้นดาวดีงส์ |
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์กำหนดอายุไว้ว่าน่าจะเขียนขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยใช้อายุตามพงศาวดารระบุว่าวิหารหลังนี้สร้างโดยพระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดชระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๐ - ๒๔๑๗17 แต่ภายหลังมีงานบางชิ้นที่พยายามศึกษาเชื่อมโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์มีความเห็นแตกต่างออกไป โดยเห็นว่าการที่เลือกเขียนเรื่องคันทนกุมารนั้นเนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกกำพร้า จึงสอดคล้องกับที่ทางผู้ปกครองเมืองน่านรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งมาโดยตลอด ดังจะเห็นว่าในพงศาวดารการกำเนิดชนชั้นปกครองของเมืองน่านก็ยังถูกเขียนให้เกิดมาจากไข่สองฟอง จนกลายเป็นขุนนุ่นและขุนฟองแยกกันมาปกครองเมืองน่านและเวียงจันท์ ต่อมาแม้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเชียงใหม่หรือพม่า เมืองน่านก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนกระทั่งทางเมืองน่านไม่มีผู้ปกครองก็ต้องไปขอเจ้าหลวงติ๋นมาจากเมืองเชียงใหม่ และหลังจากตกเป็นประเทศราชของสยามแล้ว ทางรัฐบาลสยามก็ไม่สามารถป้องกันการแผ่อำนาจของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ ในการเข้าครอบครองประเทศลาวซึ่งเดิมเคยอยู่ภายใต้อำนาจเมืองน่านได้ จากสมมุติฐานดังกล่าว พงศาวดารเมืองน่านและจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์จึงถูกเขียนขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน และสรุปว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นควรเขียนขึ้นในราว พ.ศ.๒๔๓๗18 ในรัชกาลพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช |
|||||
รูปที่ ๑๓ รูปบุคคลบนผนังด้านทิศตะวันออก เดิมเชื่อกันว่าน่าจะเป็นรูปของ พระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดช แต่การศึกษาครั้งนี้เข้าใจว่า อาจจะเป็นรูปของ พระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช |
สมมุติฐานดังกล่าวตรงกันกับการศึกษาครั้งนี้ โดยมีทั้งข้อสรุปที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันดังนี้ ๑. รูปบุคคลสวมเสื้อคลุมสีแดงบนผนังด้านทิศตะวันออก ที่เข้าใจกันว่าเป็นรูปเหมือนของพระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดช (รูปที่๑๓) นั้น จากลักษณะน่าจะเป็นรูปบุคคลที่มีอายุราว ๔๐ - ๕๐ ปี ซึ่งหากเชื่อว่าจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์เขียนขึ้นพร้อมกับการสร้างอาคารครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐ - ๒๔๑๗ ขณะนั้น พระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดชต้องมีพระชันษาราว ๖๕ - ๗๒ พรรษาแล้ว แต่ถ้าหากเชื่อว่าเป็นรูปพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ก็จะมีพระชันษาราว ๒๖ - ๓๓ พรรษาในขณะนั้น19 และหากเชื่อว่าภาพเขียนนี้เขียนหลังการซ่อมเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ เล็กน้อย พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชก็จะมีพระชันษาราว ๕๐ กว่าพรรษา นอกจากนี้ ลักษณะโครงหน้ายังคล้ายภาพถ่ายเก่าภาพหนึ่งของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ในขณะที่มีพระชันษาราว ๕๐ กว่าพรรษาด้วย ๒. ภาพบุคคลสวมเสื้อคลุมสีแดง สะพายย่าม สวมหมวกสีดำ บนผนังด้านทิศตะวันตก ซึ่งเข้าใจกันว่าคงเป็นมิชชันนารีนั้นก็น่าจะมีส่วนช่วยกำหนดอายุได้เช่นกัน ในคำอธิบายภาพระบุว่าเป็นหมอกุมมาลเป๊ก (รูปที่ ๑๕) ในความหมายนั้นเข้าใจว่าเนื่องจากการแพทย์แผนตะวันตกถูกนำเข้าไปในเมืองน่านพร้อมๆ กับการเผยแพร่ศาสนา และสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ชะงัดกว่าแผนโบราณ ดังนั้นมิชชันนารีจึงถูกยกย่องให้เป็นหมอด้วย มิชชันนารีกลุ่มที่เข้าไปในเมืองน่านระยะแรกๆ น่าจะได้แก่ดอกเตอร์แดเนียล แมคกิลวารี เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๑๕ 20 แต่ครั้งนั้นยังไม่มีการตั้งโบสถ์แน่นอน เพียงเดินทางเข้าไปสำรวจเท่านั้น |
|||||
รูปที่ ๑๔ ภาพของชายหนุ่มกำลังพูดกับหญิงสาว ซึ่งเข้าใจกันว่าน่าจะเป็นรูปของ ช่างเขียนจิตรกรรม |
การเริ่มตั้งโบสถ์เพื่อสอนศาสนาควบคู่ไปกับการรักษาโรคเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙21 ความประทับใจในประสิทธิภาพการรักษาโรคจึงอาจถูกถ่ายทอดลงในภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยให้พวกมิชชันนารีเป็นหมอนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์วัยอาจ (David K. Wyatt) เข้าใจว่าน่าจะเป็นมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสมากกว่า ดังจะกล่าวรายละเอียดต่อไป ๓. ด้านทิศเหนือมีภาพเรือกลไฟที่ใช้พลังไอน้ำเป็นแรงขับเคลื่อน (รูปที่ ๑๖) ที่ท่าเทียบเรือและภายในเรือมีชาวตะวันตกอยู่หลายคน การแต่งกายของสุภาพสตรีมีการใช้ตาข่ายที่ร้อยลูกปัดพร้อมกับหมวกนั้นเป็นทางเลือกของผู้หญิงที่อาศัยอยู่แถบเขตร้อน ซึ่งเป็นการแต่งกายราวปี พ.ศ.๒๔๓๓ ลงมา ส่วนชายชาวตะวันตกอีกสามคนสวมหมวกสักหลาดไม่มีปีก ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการแต่งกายของชาวฝรั่งเศสมากกว่าชาวอังกฤษ และภาพทหารชาวตะวันตกกำลังจะเข้าเมืองอินทปัตก็ปรากฏภาพธงชาติฝรั่งเศส (รูปที่ ๑๗) ดังนั้นจึงทำให้ศาสตราจารย์วัยอาจเข้าใจว่าชาวตะวันตกในภาพจิตรกรรมเป็นชาวฝรั่งเศสไปหมด22 ซึ่งอันที่จริงแล้วยังมีชาวตะวันตกอีกหลายสัญชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองน่านเวลานั้น |
|||||
รูปที่ ๑๕ รูปของชายชาวตะวันตก ซึ่งมีคำอธิบายประกอบว่าคือหมอกุมมาลเป๊ก (หมอชีวกโกมารภัจจ์) ซึ่งน่าจะหมายถึง กลุ่มของมิชชันนารีที่เข้ามารักษาโรค ด้วยยาแผนปัจจุบันนั่นเอง |
อนึ่ง การที่ช่างเขียนภาพเรือกลไฟได้ เขาก็ควรจะเคยเห็นของจริงมาบ้าง หากเป็นช่างท้องถิ่นและไม่เคยเดินทางไปกรุงเทพฯ เรือที่เห็นก็น่าจะเป็นเรือที่ฝรั่งเศสนำเข้ามาวิ่งในลำน้ำโขง หลังจากยึดครองประเทศลาวได้เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖23 ๔. หากการถ่ายทอดเรื่องราวบนฝาผนังยึดถือต้นฉบับคันทนกุมารจากเมืองน่านเป็นหลักแล้ว ต้นฉบับที่เก่าที่สุดมาจากวัดพญาภู จารเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ (มีอีกฉบับหนึ่งอยู่ที่คุณหมอบุญยงค์ วงศ์รักมิตร ผู้ทรงคุณวุฒิเมืองน่าน จารใน พ.ศ.๒๔๒๗ แต่ไม่ทราบที่มาแน่นอน) ๕. ในช่องเล็กๆ ของจิตรกรรมด้านทิศตะวันตกปรากฏตัวเลขโหราเขียนว่า ๑๒๖๒ หรือ ๑๒๖๕ คือ พ.ศ.๒๔๔๓ หรือ พ.ศ.๒๔๔๖ (รูปที่ ๑๘) อาจจะเป็นการระบุศักราชที่เขียนภาพก็ได้ แต่ที่ไม่อาจตัดสินได้แน่นอนเพราะตัวเลขนั้นเขียนด้วยดินสอ มิได้เขียนด้วยสีเหมือนตัวอักษรอธิบายภาพ จึงอาจโต้แย้งได้ว่าเขียนขึ้นภายหลัง แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ลายมือที่เขียนนั้นเป็นลายมือเดียวกับที่ใช้เขียนอธิบายภาพทั้งหมดของด้านนั้น หากเขียนโดยคนๆ เดียวกันจริง ก็อาจเป็นไปได้ว่าเนื่องจากช่องที่เขียนมีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงจำเป็นต้องเขียนร่างไว้ก่อนจะลงสีภายหลัง แต่ก็ไม่ได้ลงสีตามที่ตั้งใจไว้ |
|||||
สภาพแวดล้อมของเมืองน่านที่สะท้อนออกมาจากภาพเขียน |
||||||
รูปที่ ๑๖ ภาพของเรือกลไฟ และชาวตะวันตก ที่อยู่ท่าเรือหน้าเมืองอินทปัต |
กำแพงและป้อมประตูเมือง จิตรกรรมฝาผนังทางด้านทิศเหนือตอนที่คันทนกุมารเข้ามาถึงเมืองอินทปัตถ ช่างได้เขียนภาพกำแพงเมืองและประตูเมือง ที่เข้าใจว่าน่าจะเลียนแบบมาจากกำแพงเมืองน่านขณะนั้น โดยปรากฏเป็นกำแพงก่ออิฐไม่ฉาบปูน มีเชิงเทินอยู่ด้านใน มีใบเสมารูปสี่เหลี่ยม เว้นช่องไว้สำหรับดูหรือกำบังเวลาข้าศึกเข้าโจมตี ส่วนประตูเมืองเขียนเป็นรูปแปดเหลี่ยม หลังคาสอบแหลมซ้อนกันสองชั้น และมีช่องรูปสี่เหลี่ยมเพื่อประโยชน์ในการสังเกตการณ์ด้วย (รูปที่ ๑๗) ลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับภาพถ่ายเก่ากำแพงเมืองน่าน ที่ประกอบด้วยกำแพงอิฐ แต่มีใบเสมาปลายมน ลักษณะของป้อมบริเวณมุมของกำแพงก็เป็นป้อมแปดเหลี่ยม หลังคาซ้อนลดกันสองชั้นเช่นกัน (รูปที่ ๑๙) ในภาพถ่ายเก่านั้นอธิบายว่าเป็นกำแพงเมืองของอาณาจักรหลักคำ (น่าน) เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ ลักษณะบ้านเรือน ภาพบ้านของคันทนกุมาร (รูปที่ ๖) ก็คงเขียนขึ้นตามลักษณะบ้านในระยะนั้นเช่นกัน คือเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง บริเวณใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการทอหูก มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บริเวณนอกชานเป็นพื้นที่โล่ง มีร้านน้ำใกล้บันไดทางขึ้น รอบๆ ชานมีแนวลูกกรงไม้กั้นโดยรอบ โดยลูกกรงน่าจะเป็นไม้แผ่นฉลุลายอย่างง่ายๆ ถัดเข้าไปเป็นเติ๋น ต่อด้วยห้องนอนที่อยู่ด้านหลังสุด ฝาและพื้นน่าจะเป็นไม้กระดาน ส่วนบ้านคหบดีอาจเป็นฝาลายตาผ้า (ฝาปะกน) ก็ได้ หลังคาบ้านทรงจั่ว หน้าจั่วมีทั้งลายตาผ้าหรือเป็นไม้ตีปิดตามตั้ง และอีกแบบหนึ่งคือตีไม้เป็นรูปรัศมีดวงอาทิตย์ ด้านล่างมีชายคากันแดดฝนด้วย ที่แนวของหน้าจั่ว ป้านลม และสันหลังคามีไม้แป้นขนาดใหญ่ปิดทับเพื่อกันลมและฝน หลังคาโดยทั่วไปน่าจะมุงด้วยแป้นเกล็ด ซึ่งมีทั้งปลายตัดตรง รูปหางมน และรูปสามเหลี่ยม การมุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด ลักษณะของพื้นไม้กระดาน ตลอดจนฝาลูกกรงนี้มีระบุไว้ชัดเจนในเอกสารร่วมสมัยด้วย24 นอกจากนี้ ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ให้รายละเอียดช่วยในการวิเคราะห์รูปแบบได้เป็นอย่างดี |
|||||
กลุ่มชนที่ปรากฏในจิตรกรรม |
||||||
รูปที่ ๑๗ ภาพเมืองอินทปัต ซึ่งมีรูปธงชาติฝรั่งเศสภายในเมือง ซึ่งภาพของกำแพงและประตูเมือง คงจะวาดจากภาพของ กำแพงเมืองน่านนั่นเอง |
ลื้อ มีกลุ่มผู้หญิงหน้าเมืองอินทปัตถนุ่งผ้าซิ่นแบบไทลื้ออยู่หลายคน (รูปที่๒๐) ประกอบกับช่างเขียนที่เป็นชาวไทลื้อดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น กลุ่มชนในเมืองน่านขณะนั้นจึงน่าจะมีชาวไทลื้อปะปนอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน ตามหลักฐานประวัติศาสตร์พบว่ามีการกวาดต้อนชาวไทลื้อจากเขตสิบสองปันนาหลายครั้ง เช่น พ.ศ.๒๓๔๑ พระเจ้าอัตถวรปัญโญได้ยกทัพไปตีสิบสองปันนา จนหัวเมืองของสิบสองปันนายอมอ่อนน้อมทุกเมือง25 อย่างไรก็ตาม หากภาพจิตรกรรมนี้เขียนขึ้นในรัชกาลพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชตามที่สันนิษฐานแล้ว ข้อมูลของเอกสารร่วมสมัยระบุว่าชาวไทลื้อที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๙๙ ในละแวกเมืองน่านนั้น จะมีกลุ่มใหญ่ที่มาจากเมืองพงและเมืองอู ลื้อเมืองพงจะมีที่เชียงม่วน เชียงคำเป็นส่วนใหญ่ ส่วนลื้อเมืองอูจะอยู่ที่เมืองเทิง เชียงของ และบริเวณรอบๆ เมืองน่าน26 ชาวตะวันตก รูปหมอกุมมาลเป๊ก (รูปที่ ๑๕) เขียนเลียนแบบมิชชันนารีหรือหมอคนใดคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองน่านขณะนั้น เท่าที่หลักฐานเอกสารปรากฏ ชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในเมืองน่านมีทั้งคนฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน เหตุที่เลือกเขียนรูปหมอกุมมาลเป๊กเป็นชาวตะวันตกอาจสอดคล้องกับการเข้ามารักษาโรคของแพทย์ชาวตะวันตกก็ได้ ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นมีนายแพทย์ Rev. S.C.Peoples M.D. เป็นมิชชันนารีอเมริกันเพรสบิทีเรียนประจำอยู่ในเมืองน่านด้วย27 |
|||||
รูปที่ ๑๘ ตัวเลข ๑๒๖๒ หรือ ๑๒๖๕ ที่ผนังด้านทิศตะวันตก เป็นลายมือเดียวกันกับคำแธิบายภาพ เพียงแต่ไม่ได้เขียนด้วยสีเท่านั้น |
อย่างไรก็ตาม ภาพชาวตะวันตกสวมหมวกนั่งอยู่ด้านล่างพร้อมกับสตรีชาวตะวันตกนั้น ศาสตราจารย์วัยอาจเข้าใจว่าเป็นนักบวชชาวฝรั่งเศสนิกายโรมันคาทอลิก28 แต่ในคำอธิบายประกอบภาพเขียนว่า "๔ คนนี้หื้อเอาไปเฆี่ยนเสียคน ๑๐๕" แสดงว่าเป็นการตัดสินความของผู้พิพากษา ซึ่งในขณะนั้นชาวตะวันตกที่มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสยามส่วนใหญ่เป็นชาวเบลเยี่ยม และเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ปิแอร์ โอร์ต ได้เดินทางขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อร่วมตัดสินคดีทำร้ายร่างกายรองกงศุลของสหรัฐ และเดินทางไปหัวเมืองต่างๆ ของล้านนาเพื่อสำรวจปัญหาด้านกฎหมาย ตลอดจนศึกษาปัญหาที่ฝรั่งเศสพยายามขยายอิทธิพลข้ามมาฝั่งขวาของแม่น้ำโขงด้วย กะเหรี่ยง ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันตกมีรูปชายสองคน (รูปที่ ๒๑) มีคำอธิบายภาพว่า ยาง หมายถึงชาวกะเหรี่ยงนั่นเอง ภาพนี้แสดงว่าชายชาวกะเหรี่ยงสมัยนั้นสวมชุดยาวถึงน่อง เป็นสีแดงสลับขาว การแต่งกายแบบนี้เลิกไปประมาณ ๗๐ - ๘๐ ปีแล้ว ชาวจีน ภาพที่แสดงการค้าขายทางเรืออยู่ที่ผนังด้านทิศเหนือ เป็นภาพเรือประดับด้วยธงเขียนตัวอักษรจีน ตลอดจนมีรูปบุคคลสวมหมวก ลักษณะใบหน้าคล้ายคนจีน เข้าใจว่าน่าจะมีชาวจีนค้าขายอยู่ในเมืองน่านขณะนั้นไม่น้อย เอกสารบางฉบับระบุว่าในเขตเมืองน่านมีชาวจีนชื่อจีนบุน (หลวงนรา) ได้รับมอบสัมปทานตัดไม้จากเจ้าหลวงเมืองน่านด้วย29 |
|||||
รูปที่ ๑๙ ภาพถ่ายเก่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ มีข้อความอธิบายว่า "กำแพงเมืองของอาณาจักรหลักคำ" เข้าใจว่าคือกำแพงเมืองน่านนั่นเอง |
ลัวะ ผนังด้านทิศตะวันตกมีรูปบุคคลเดินเข้ามาในเมือง (รูปที่ ๒๒) เป็นชายนุ่งผ้าต้อย สะพายย่ามและกระชุด้านหน้า คนที่สะพายกระชุสูบกล้องยาสูบ และเป็นโรคคอหอยพอก ดังนั้นจึงเข้าใจว่าเป็นกลุ่มชนชาวเขากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ที่ด้านล่างมีรูปสุนัขอยู่ เข้าใจว่าช่างอาจจะสื่อความหมายถึงชาวลัวะก็ได้ เพราะเดิมเชื่อว่าดินแดนนี้เป็นที่อยู่ของชาวลัวะ ถึงขนาดก่อนที่พระเจ้ากาวิละจะเข้ามาฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่นั้น ต้องให้ชาวลัวะจูงหมาเข้าเมืองก่อน ส่วนผู้หญิงที่เดินตามหลังนั้นถึงแม้ลักษณะการแต่งตัวเป็นแบบชาวพื้นราบแล้ว แต่กระชุที่แบกอยู่ด้านหลังกลับคล้ายกระชุของชาวขมุ ซึ่งในระยะนั้นเป็นคนงานตัดไม้ในป่า การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังในวัดภูมินทร์ในครั้งนี้ทำให้เข้าใจว่า ช่างเขียนน่าจะเป็นกลุ่มช่างชาวไทลื้อที่มีเอกลักษณ์ในการเขียนภาพอย่างสูง จนอาจจัดเป็นสกุลช่างท้องถิ่นได้ ส่วนเรื่องคันทนชาดกที่เขียนนั้นใช้เนื้อเรื่องของท้องถิ่นเมืองน่านเอง และยังได้สอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่านในระยะเวลานั้นไว้ด้วย ทั้งนี้ ระยะเวลาที่เขียนภาพน่าจะอยู่ในรัชกาลพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช |
|||||
เชิงอรรถ |
||||||
รูปที่ ๒๐ กลุ่มบุคคลหน้าเมืองอินทปัต |
๑ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐ ราชวงษปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๑) หน้า ๙๙. (พิมพ์ในงานปลงศพพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ) ๒ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐, หน้า ๑๐๖. และ สรัสวดี อ๋องสกุล, พื้นเมืองน่านฉบับวัดพระเกิด (กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ, ๒๕๓๙) หน้า ๒๕. ๓ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐, หน้า ๑๘๕ - ๑๘๖. ๔ David K. Wyatt, Temple Murals as an Historical Source... , p. 4 อ้างจาก Report by Mr.C.E.W. Stringer of a Journey to the Laos State of Nan, Siam [London, 1888; Cmd,5321, Siam No.1.1888] p.6. ๕ น ณ.ปากน้ำ, วัดภูมินทร์และวัดหนองบัว (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๒๙) หน้า ๙. ๖ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ ๕๐ ปี, ศิลปะรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ - ๘ (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๑) หน้า ๑๙๓ - ๑๙๕. ๗ Pierre Pichard, Inventory of Monuments at Pagan (Hong Kong: Unesco,1992) p. 209. ๘ น ณ.ปากน้ำ, วัดภูมินทร์และวัดหนองบัว, หน้า ๑๑ - ๑๒. ๙ ศาสตราจารย์วัยอาจใช้ต้นฉบับนี้ที่ Harald Hundius แปลความสรุปเป็นภาษาเยอรมัน ดู David K. Wyatt, Temple Murals as an Historical Source... , p. 14. ๑๐ เอกสารไมโครฟิล์ม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลขที่ 82.106.01D.095-098 |
|||||
รูปที่ ๒๑ รูปชาวตะวันตก เข้าใจว่ากำลังตัดสินความ ให้แก่ผู้ที่ทำกรรมต่างๆ น่าจะมีต้นแบบ จากการตัดสินคดีความ ในเมืองน่าน |
๑๑ สน สีมาตรัง, โครงสร้างจิตรกรรมฝาผนังลานนา "สาระสังเขป", เอกสารอัดสำเนา, ๒๕๒๖ . ๑๒ David K. Wyatt , Temple Murals as an Historical Source.... , pp. 19 - 21. ๑๓ ศาสตราจารย์วัยอาจเล่าว่าได้นำภาพไปปรึกษากับ Prof. Judith Bernstock นักประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล ดู, David K. Wyatt, Temple Murals as an Historical Source..., p. 12. ๑๔ ภาณุพงษ์ เลาหะสม, จิตรกรรมฝาผนังล้านนา (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๑), หน้า ? ๑๕ เสถียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ (เรียบเรียง), ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๓ ) หน้า ๓๕๐. ๑๖ อธิบายความเรื่องอักขรวิธีโดย ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๑๗ สน สีมาตรัง, โครงสร้างจิตรกรรมฝาผนังลานนา "สาระสังเขป", หน้า ๒๖. ๑๘ David K. Wyatt , Temple Murals as an Historical Source... , pp. 34 - 35. ๑๙ พระเจ้าอนันตวรฤิทธิเดชประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๕ ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ (ในพงศาวดารเมืองน่านให้ตัวเลขที่แตกต่างกัน คือระบุว่าพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๔ ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ อายุได้ ๗๗ ปี ดังนั้นหากยึดเอาอายุเป็นหลัก พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชควรประสูติในปี พ.ศ.๒๓๘๔) |
|||||
รูปที่ ๒๒ รูปชาวเขา น่าจะเป็นชาวลัวะและชาวขมุ |
๒๐ แดเนียล แมคกิลวารี ดี.ดี., จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล (แปล), กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทยและคนลาว อัตชีวประวัติ (กรุงเทพฯ: สยามประเทศ, ๒๕๓๗) หน้า ๒๐๘. ๒๑ ปิแอร์ โอร์ต, พิษณุ จันทร์วิทัน (แปล), ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง (กรุงเทพฯ: การันต์, ๒๕๓๙) หน้า ๙๑. ๒๒ David K. Wyatt, Temple Murals as an Historical Source... , pp. 25 - 29. ๒๓ สุวิทย์ ธีรศาศวัต, ประวัติศาสตร์ลาว ๑๗๗๙ - ๑๙๗๕ (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, ๒๕๔๓) หน้า ๒๕๕ - ๒๕๗. ๒๔ ใบบอกของเค้าสนามหลวงนครน่านที่ ๒/๑๓ ลงวันที่ ๒ เมษายน ร.ศ.๑๒๖ ๒๕ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐, หน้า ๑๔๑. ๒๖ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐, หน้า ๒. และ ปิแอร์ โอร์ต, ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง. หน้า ๑๖๔ - ๑๖๕. ๒๗ ปิแอร์ โอร์ต, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๕๙. ๒๘ David K. Wyatt, Temple Murals as an Historical Source... , p 29. ๒๙ ปิแอร์ โอร์ต, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๗๑ - ๑๗๒. |