“ ลำดับต่อไป จะเป็นการดำนาของบรรดาลูกหลานอำเภอแม่ลาว เจ้าหน้าที่ช่วยแจกต้นกล้าให้กับนักศึกษาที่กำลังจะเข้าแข่งขันด้วยครับ”
พอสิ้นเสียงสัญญาณ วัยรุ่นจากชมรมดอกหญ้าอาสาฯ ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนพาณิชยการเชียงราย และสถาบันการศึกษาชั้นนำของจังหวัดเชียงรายอีกห้าแห่งต่างเรียงหน้ากระดานลงไปย่ำปลักโคลน เอาหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ปักกล้าลงบนผืนนาแปลงหนึ่งที่เจิ่งนองด้วยน้ำ
ผมมีโอกาสมาดูการทำกิจกรรมของหนุ่มสาวชมรมดอกหญ้าอาสาฯ ชาวเชียงฮายในช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา
“เด็กรุ่นใหม่จำนวนมาก ไม่สนใจการทำนาของพ่อแม่ แต่อยากเรียนสูง ๆ เพื่อไปหางานทำในเมืองหรือในกรุง” ผู้ปกครองคนหนึ่งบอกกับผม ขณะที่คนอื่นส่งเสียงเชียร์ลูกหลานอย่างคึกคัก
น่าเสียดายที่มาถึงในช่วงบ่ายคล้อยแล้ว เพราะตอนเช้าชาวบ้านได้ทำพิธีปักเฉลว เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีงามต่าง ๆ ซึ่งจะทำในช่วงก่อนการปลูกข้าว
เฉลวที่เราเห็น เป็นเฉลวเจ็ดชั้น มีตัวนกสานด้วยไม้ไผ่เกาะอยู่บนสุด ตั้งสูงเด่นเป็นปริศนาอยู่กลางท้องนา
เฉลวหรือตะเหลว เป็นเครื่องจักสานที่นำตอกไม้ไผ่มาสานหักหรือขัดเป็นมุม ๆ จนเกิดเป็นตาเหมือนตาชะลอม มีหลายรูปแบบ ที่นิยมคือรูปดาว ซึ่งอาจมีดวงเดียวหรือหลายดวง บางลักษณะก็สานคล้ายเข่งปลาทู
การทำเฉลวนั้นก็เพราะกลุ่มคนไทเชื่อว่าเป็นเครื่องหวงห้าม เพื่อกันภูตผีและสิ่งชั่วร้ายเสนียดจัญไรต่าง ๆ ไม่ให้มากล้ำกรายสร้างความเดือดร้อน
“การปักเฉลวเป็นความเชื่อของคนโบราณ สมัยก่อนไม่มียาฆ่าแมลง จึงต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยปกป้องไม่ให้มีใครมาทำร้ายต้นข้าว ป้องกันไม่ให้ข้าวเป็นโรค จะได้ออกรวงงาม ๆ คุณสังเกตไหมว่าบนเฉลวยังมีมาเกาะอยู่ เพื่อเป็นการเชิญให้นก มาช่วยกันกินหนอน กินแมลงในท้องนา” ผู้ใหญ่อีกคนมาให้ความเห็น
ฝนเริ่มตกพรำ เม็ดฝนเริ่มหนาขึ้น แต่บรรดาหนุ่มสาวก็ยังไม่ย่อท้อ ยืนขึ้นปาดน้ำฝน ก่อนจะก้มตัวลงใช้นิ้วหัวแม่โป้งกดต้นกล้าให้ลึกลงไปในโคลน พอที่มันจะยืนหยัดหยั่งรากลงผืนดินได้
หากต้นกล้าเหล่านี้อยู่รอดไปถึงเดือนสิบ ก็จะกลายเป็นต้นข้าวโผล่สูงเหนือน้ำ แตกกองอกอย่างรวดเร็ว กาบบาง ๆที่ห่อหุ้มลำต้นป่องกลาง บอกให้รู้ว่า ได้เวลาที่จะต้องทำพิธี ขวัญข้าว เป็นการขอบคุณแม่โพสพที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา
แม่คนนี้ เด็กรุ่นใหม่อาจจะเคยได้ยินมาบ้าง
แม่โพสพ คือ เทวดาประจำพืชพรรณธัญญาหารทั้งปวง มวลมนุษยชาติเชื่อถือและกราบไหว้บูชามาตั้งแต่ครั้งโบราณของชาวไทย ลาว บูชาเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญชาติที่เพาะปลูกตามฤดูกาล
กล่าวกันว่า แม่โพสพเป็นสตรีเพศ ร่างงาม แต่งกายด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณสมัยโบราณห่มสไบเฉียง ไว้ผมยาวสลวยประบ่า มีกระจังกรอบหน้าคล้ายมงกุฎ มือข้างหนึ่งชูรวงข้าว ส่วนอีกข้างถือถุงโภคทรัพย์เต็มถุง ประทับนั่งพับเพียบเรียบร้อยแบบแพนงเชิงอย่างไทยโบราณ
ในพิธีทำขวัญข้าว ชาวนาจะเตรียมเครื่องเซ่นแม่โพสพ อาทิส้ม กล้วย มะขามเปียก หมากพลู ดอกไม้ธูปเทียน และมีการปักเฉลวไว้บริเวณกอข้าวที่หนาแน่น เพื่อไม่ให้มีสิ่งร้ายใด ๆ มาทำอันตรายแม่โพสพ ผู้เป็นหญิงขวัญอ่อน อันจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของผลผลิต ยังเป็นเครื่องหมายไม่ให้คนหรือสัตว์ เข้ามาเหยียบย่ำข้าวที่กำลังตั้งท้อง
หลังจากนั้น ในช่วงปลายปี ท้องนาก็เปลี่ยนสีเป็นทุ่งรวงทอง ชาวนาจะเกี่ยวข้าวมากองไว้ที่ลานนวดข้าว ก็จะมีพิธีเชิญแม่โพสพกลับมาไว้ที่ลานนวดข้าว มีการปักเฉลวไว้ 4 มุมรอบลานนวดข้าว แล้วขึงสายสินจ์โดยรอบป้องกันสิ่งอัปมงคล
“ ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนเชื่อว่า เป็นการป้องกันไม่ให้ผีมาขโมยข้าวในตอนกลางคืน” ผู้ใหญ่ท่านเดิมบอกแข่งกับสายฝนที่โปรยกระหน่ำลงมา
เฉลวเจ็ดชั้นกลางท้องนา ทำท่าจะปลิวไปตามแรงลม แต่ก็ยังคงยืนหยัดสู้ลมสู้แดดอยู่ได้ ราวกับจะคอยปกป้องภัยให้กับต้นกล้าที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นทุ่งรวงทอง
เฉลวและแม่โพสพอาจเป็นความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมของคนยุคโบราณ ที่คนรุ่นปัจจุบันมองข้ามความสำคัญไป แต่ความเชื่อเหล่านี้แหละที่ทำให้ชาวนาที่ผ่านมา มีกำลังใจและกำลังกายที่จะปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศและทั้งโลกได้
Comments
พลังของความเชื่อสะท้อนความจริงที่ยิ่งใหญ่เสมอ