“กะดีจีน ศิลป์ ๓ ท่า” ขอคารวะผู้จัดงาน

ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คนใกล้ชิดฉลองวันเกิดให้ผมด้วยการพาไปเดินเที่ยวงานเล็ก ๆ ย่านฝั่งธนบุรี ชื่อว่า “เทศกาลกะดีจีน ศิลป์ ๓ ท่า” (กะดีจีน สะพานพุทธ คลองสาน)

บรรยากาศของงานค่ำคืนนั้น ทำให้วันเกิดปีนี้อยู่ในความทรงจำไปอีกนานแสนนาน ขอขอบคุณผู้จัดงานที่ช่วยสืบค้นให้คนกรุงเทพฯ ได้กลับไปหารากทางวัฒนธรรม รากของแผ่นดินตนเอง เพิ่มพื้นที่สาธารณะน่าพักพิง ไม่หวังพึ่งศูนย์การค้าที่ผุดกันคะนองกลางเมืองหลวง

กะดีจีน และคลองสาน เป็นย่านเก่าแก่ของฝั่งธนบุรี หากเรานั่งรถจากฝั่งกรุงเทพฯ ข้ามสะพานพุทธมา จะเห็นคลองสานอยู่ทางฝั่งซ้าย และฝั่งขวาคือกะดีจีน อยู่ประชิดปากคลองบางกอกใหญ่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าคลองบางหลวง ใกล้กับพระราชวังเดิม หรือพระราชวังของพระเจ้ากรุงธนบุรี

พ่อผมผู้อพยพมาจากประเทศจีน เป็นคนจีนแต้จิ๋วบ้านเดียวกันกับพระเจ้ากรุงธนบุรี หลายปีก่อนเมื่อครั้งพาพ่อแม่กลับไปเยี่ยมบ้านเกิด อำเภอเถ่งไฮ่ จังหวัดซัวเถา ประเทศจีน ได้มีโอกาสไปเยือนสุสานเล็ก ๆ แห่งหนึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๒๗๘-๒๓๓๙)  มีป้ายหินจารึกข้อความว่า “สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังฉลองพระองค์ของแต้อ๊วงที่นำมาจากเมืองไทย ห้ามผู้ใดทำลายเด็ดขาด”

พ่อบอกว่าคนจีนแต้จิ๋วรู้จักท่านดี และเรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า แต้อ๊วง หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินแซ่แต้ เป็นลูกหลานคนแต้จิ๋วที่มีวาสนาเป็นถึงกษัตริย์ และคนเถ่งไฮ่เชื่อว่าภายหลังพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคตได้ไม่นาน บรรดาญาติพี่น้องของพระองค์ได้แอบนำฉลองพระองค์กลับมายังบ้านเกิดและฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้

ชาวจีนอาศัยในย่านกะดีจีนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ชาวจีนแต้จิ๋วได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้มากขึ้น ไม่ไกลจากพระราชวังของพระองค์  หลายคนเป็นสหายร่วมรบ ร่วมกู้ชาติกู้แผ่นดินมากับพระองค์

ทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่คลองบางกอกใหญ่มาจรดสะพานพุทธ เป็นทางเดินสาธารณะที่งดงาม และเป็นตัวอย่างที่ดีในการเปิดพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำให้คนทั่วไปได้เข้าถึง

ศาลเจ้าแม่กวนอิมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง สร้างในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

“เทศกาลกะดีจีน ศิลป์ ๓ ท่า” นั้นเกิดจากการรวมตัวของคนกลุ่มเล็ก ๆ อาทิ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้คนในชุมชนต่าง ๆ และทางกรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดงานแสดงศิลปะ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในย่านกะดีจีน คลองสาน ที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนจีน ฝรั่ง แขก  นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม แต่ยังคงรักษาวิถีชุมชนเก่าแก่หลายร้อยปีได้ผสมกลมกลืนกันอย่างน่าเลื่อมใส  เป็นเมืองเก่าที่ยังมีชีวิต ไม่ใช่เมืองเก่ารกร้าง มีผู้คนมีการทำมาค้าขาย

เย็นนั้นผมเดินทางมาที่วัดกัลยาณมิตร วัดสำคัญย่านกะดีจีน เข้าไปไหว้หลวงพ่อโต–พระพุทธไตรรัตนนายก พระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  การก่อสร้างวัดนี้คล้ายกับวัดพนัญเชิงสมัยกรุงศรีอยุธยา คือมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่อยู่ภายในโบสถ์  หลวงพ่อโตองค์นี้ลูกหลานจีนในเมืองไทยเคารพนับถือมาก มีชื่อจีนว่า ซำปอกง ผู้คนมากราบไหว้ไม่ขาดสาย และแทบทุกคนจะมาเคาะระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศที่อยู่ด้านหน้าวัดเพื่อความเป็นสิริมงคล

ผมรอจนกระทั่งไม่มีคนเดินผ่านไปมา บรรยากาศเงียบลง จึงค่อย ๆ โยกไม้กระทุ้งไปที่ระฆังใบนี้  ชั่วแวบเดียวที่หลับตาค่อย ๆ ฟังเสียงดังไพเราะก้องกังวานเสนาะหู รู้สึกได้ถึงความสงบในจิตใจที่ห่างหายไปนานพอควร

วัดกัลยาณมิตรอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีทางเดินเลียบแม่น้ำทอดยาวถึงคลองสาน เป็นพื้นที่สาธารณะน่าเดินแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  อากาศดี เห็นชีวิตผู้คน เห็นทัศนียภาพสองฟากฝั่งแม่น้ำอย่างเต็มตา  ตลอดทางเดินมีม้านั่งเล็ก ๆ ให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวมานั่งเล่นกันอย่างคึกคัก บ้างมีคนปั่นจักรยานสวนทางมา

หลายปีมานี้ บรรดาผู้หวังดีต่อบ้านเมืองได้เรียกร้องให้ทางกรุงเทพมหานครทำทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนทั่วไปเข้าถึงพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำอย่างเสมอภาค มาเดินเล่น นั่งเล่นชมวิวตามเรื่องตามราวได้  พื้นที่ติดแม่น้ำถือเป็นพื้นที่สาธารณะตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงมีการบุกรุกมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีเราได้เห็นความพยายามของ กทม. ที่จะทำทางเดินเลียบแม่น้ำ ทางเดินเลียบคลอง เพื่อเป็นทางสาธารณะให้คนทั่วไปได้ใช้กัน  ยอมรับว่าบางพื้นที่ กทม. ก็เข้าไปจัดการได้บ้าง บางพื้นที่ก็ไม่ได้บ้าง แล้วแต่ว่าทางเดินนี้จะผ่านหน้าบ้านใครหรือหน่วยงานใด

เกือบค่ำแล้ว แสงขอบฟ้าสีม่วงแดงสลับกับแสงไฟตามบ้านผู้คนริมฝั่งแม่น้ำ ผมเดินไปตามทางเดิน แวะโบสถ์รูปโดมของวัดซางตาครู้ส  ภายในโบสถ์ตกแต่งด้วยกระจกหลากสีสัน ๓๙ บาน กระจกทุกบานผลิตในประเทศฝรั่งเศสและส่งตรงมายังโบสถ์นี้โดยเฉพาะ  บนแท่นพิธีมีไม้กางเขนขนาดใหญ่เป็นประธาน เวลานั้นภายในโบสถ์มีพิธีมิสซาของชาวคริสต์ บาทหลวงกำลังเทศน์สลับกับการร้องเพลงของคริสต์ศาสนิกชน  การแสดงความเคารพผู้มาภาวนาภายในโบสถ์ของนักท่องเที่ยวอย่างเรา คือการยืนมองและถ่ายภาพอยู่ด้านนอก ไม่รุกล้ำสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ที่กำลังต้องการความสงบ

วัดซางตาครู้ส วัดคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในฝั่งธนบุรี

บ้านทรงจีนโบราณข้างศาลเจ้ากวนอู คนแถวนั้นเชื่อว่าเป็นบ้านเก่าของพระเจ้ากรุงธนบุรี

ซางตาครู้สเป็นภาษาโปรตุเกส หมายถึง กางเขนศักดิ์สิทธิ์  โบสถ์นี้ถือเป็นวัดคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในฝั่งธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้สร้างและพระราชทานแก่ชาวโปรตุเกสที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้ และทำให้เราเพิ่งรู้ว่าสมัยนั้นชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสในชุมชนนี้ยังเป็นล่ามติดต่อกับฝรั่ง เพราะนับแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โปรตุเกสเป็นชาติแรก ๆ ที่เดินทางมาสยามประเทศ การพูดคุยสื่อสารกับฝรั่งจึงใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษากลางในการติดต่อเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

เราเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางคลองสาน ถึงศาลเจ้ากวนอู ศาลเจ้าเก่าแก่ของชาวจีนแต้จิ๋ว ไปสักการะโบราณสถานอายุกว่า ๒๐๐ ปี  ติดกับศาลเจ้าเป็นบ้านจีนโบราณก่ออิฐถือปูนหลังหนึ่ง ลวดลายที่สลักบนกำแพงงดงามมาก  คนแถวนั้นบอกต่อกันมาว่าบ้านหลังนั้นเป็นบ้านเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรี  เรามาถึงค่อนข้างมืด ประตูปิดสนิท ไม่มีโอกาสเข้าไปสำรวจ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรคงต้องสืบค้นกันต่อไป

ช่วงที่เดินไปตามทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มีอาสาสมัครหนุ่มสาวฉายหนังกลางแปลงเล่าเรื่องราวประวัติของถิ่นฐานแห่งนี้  เราเดินมาถึงบริเวณสะพานพุทธ ปรากฏว่าทางเลียบแม่น้ำสิ้นสุดลงแค่นั้น ถามคนแถวนั้นบอกว่า เจ้าของบ้านหลังใหญ่ที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ยอมให้ กทม. มาสร้างทางเดินผ่านหน้าบ้านตนเอง ทาง กทม. ก็ไม่กล้าบังคับใช้กฎหมาย  เราจึงต้องเดินมาตามถนน สองข้างทางเป็นตึกแถวเก่า บริเวณนั้นปิดการจราจรเป็นถนนคนเดิน ใบหน้าของผู้คนมีความสุขที่ได้ออกมาเดินตามถนน กินอาหาร ซื้อของที่ระลึกกัน

เราสังเกตหลายครั้งแล้วว่า หากมีถนนคนเดินที่ใด ผู้คนต่างมีความสุขกับเสรีภาพในการเดินถนนอย่างเต็มที่ ไม่ต้องระวังรถยนต์  ในเมืองใหญ่น่าจะปิดถนนให้มีถนนคนเดินกันบ่อย ๆ เป็นความสุขเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องลงทุนมาก แต่ใช้ความกล้าหาญของผู้เกี่ยวข้องมากกว่า

เราเดินต่อไปทางวัดอนงคาราม ไปเที่ยวชมสวนสมเด็จย่า มีการจัดแสดงศิลปะสมัยใหม่ผสมผสานการจัดแสงสีในยามค่ำคืน  ใครที่ไม่เคยไปสวนสมเด็จย่า อยากจะบอกกล่าวให้ไปเที่ยวเล่นดู จะพบความมหัศจรรย์ของการจัดสวนกลางเมืองที่สวยงามกลมกลืนกับบ้านเก่า อาคารเก่าโดยรอบ  แม้ว่าเราจะไปถึงยามค่ำคืน เสน่ห์ของสวนก็ยังต้องตา เตือนใจให้อยากเห็นสวนกลางเมืองอีกหลายแห่งในมหานครแห่งนี้

สวนสมเด็จย่า หรืออุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีจารึกเล่าเรื่องราวว่า

“เมื่อประมาณเกือบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา  ณ อาคารให้เช่าแห่งหนึ่ง หลังวัดอนงคาราม เคยเป็น ‘บ้าน’ ที่ประทับแห่งแรกที่สมเด็จย่าทรงจำความได้ ทรงมีความผูกพันกับแหล่งชุมชนแห่งนี้ อีกทั้งโรงเรียนวัดอนงคารามก็เคยเป็นสถานที่ศึกษาแห่งแรกของพระองค์  เมื่อนายแดง นานา และนายเล็ก นานา ได้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสให้หา ‘บ้าน’ ของสมเด็จพระบรมราชชนนี ก็ยินดีน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดินจำนวน ๔ ไร่ ที่เคยเป็นบ้านและที่ดินในหมู่ตึกที่อาศัยของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) อธิบดีพระคลังสินค้าสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วยมีสภาพคล้ายคลึงกับ ‘บ้าน’ ที่ค้นหา

“ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการอนุรักษ์และพัฒนาสถานที่ดังกล่าว ให้เป็น ‘อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’ โดยมีการปรับปรุงอาคารที่เคยเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติสมเด็จย่า และให้จำลอง ‘บ้าน’ ที่เคยเป็นที่ประทับขนาดเท่าของจริง”

สวนสาธารณะแห่งนี้ได้บรรจงรักษากลิ่นอายของบ้านเก่า สถาปนิกเข้าใจงานออกแบบสวนกลางเมือง รากต้นไทรเลื้อยพันเกี่ยวไปตามซากกำแพงอิฐเก่า ปลุกความมีชีวิตในอดีต เป็นมนตร์ขลังของสวนแห่งนี้ที่เลือกปลูกต้นไม้หลัก ๔ ชนิด คือ ต้นโพ ต้นไทร ต้นไกร ต้นกร่าง เป็นต้นไม้ใหญ่กลางสวนกลมกลืนกับบ้านจำลองในอดีต และบรรจงให้เสียงน้ำพุเป็นเสียงดนตรีหลักในสวนสาธารณะแห่งนี้  ขณะที่ตามทางเดินมีการจัดวางศิลปะสมัยใหม่ของนักศึกษาหลายสถาบัน เพื่อให้แต่ละย่างเท้าของนักท่องเที่ยวมีเรื่องราวให้สนใจอยู่ตลอด

เราออกจากบริเวณงานใกล้สี่ทุ่ม เป็นความปีติเต็มเปี่ยม ขอบคุณคนตัวเล็ก ๆ หลายคนจากหลายหน่วยงานที่บรรจงอนุรักษ์เมืองเก่าให้กลับมีชีวิต ให้งดงาม ชวนค้นหารากเหง้าของตนเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหาได้ยากในย่านฝั่งกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้า และชุมชนเก่าแก่กำลังถูกไล่รื้อเพื่อสร้างอาคารสูงทันสมัยจากราคาที่ดินพุ่งติดจรวด

หากคุณกำลังแสวงหารายละเอียดของชีวิต เพียงเดินทางข้ามสะพานพุทธ เรื่องราวเล็ก ๆ และความสุขใจรอคุณอยู่

ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับ 324

Comments

  1. Pingback: ความสุขในการรอคอย

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.