ในบ้านเรา ตอนสายๆ มักจะสังเกตเห็นคนจำนวนมากยืนเข้าคิวหน้าศูนย์การค้าขนาดใหญ่รอเวลาห้างเปิด ต่างกันลิบลับกับพิพิธภัณฑ์ที่มีคนเข้าเยี่ยมชมบางตา ขณะที่ในประเทศทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา เรามักจะเห็นคนจำนวนมากมาเข้าคิวรอเวลาพิพิธภัณฑ์เปิด
ว่ากันว่าคุณภาพของคนในประเทศวัดได้จากจำนวนคนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ และแน่นอนว่ารวมถึงความสนใจของภาครัฐและเอกชนต่อการสนับสนุนความก้าวหน้าของพิพิธภัณฑ์ในประเทศนั้นๆ ด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเที่ยวอะควาเรียมหรือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์ (Monterey Bay Aquarium) ในเมืองมอนเทอเรย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับคนที่ชอบศึกษาสัตว์ทะเล มอนเทอเรย์เบย์ถือเป็นจุดหมายสำคัญแห่งหนึ่งของโลกทีเดียว เพราะนอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว จุดกำเนิดของมันยังมาจากความรักความห่วงใยธรรมชาติของมหาเศรษฐีคนหนึ่ง
ตั้งแต่เริ่มทำงานสารคดีใหม่ๆ ผมเคยอ่านข่าวเจอว่า เจ้าของคอมพิวเตอร์ชื่อดังของโลก HP ซึ่งมาจากชื่อย่อของสองเกลอ- -นายฮิวเลตต์และนายแพ็กการ์ด (Hewlett-Packard) คนหลังนี้เองอุทิศเงินมหาศาลสร้างอะควาเรียมขนาดใหญ่เพื่อเป็นแหล่ง “สร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเล” เวลานั้นเป็นข่าวฮือฮามากเพราะไม่บ่อยนักที่มหาเศรษฐีจะบริจาคเงินเพื่อให้เป็นสมบัติสาธารณะ
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์ ตั้งอยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิก ในอดีตเคยเป็นโรงงานผลิตปลาซาร์ดีนกระป๋อง ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อแรกเดินเข้าไปจะนึกว่าอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่ เดินไปเรื่อยๆ บรรยากาศของสิ่งมีชีวิตในทะเลจึงเริ่มปรากฏให้เห็น
ปรกติเวลาเข้าชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ เรามักพบเห็นสัตว์แปลกๆ ปลาประหลาดที่ไม่ได้มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ถูกจับมาขังไว้ในตู้กระจกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ที่แห่งนี้สัตว์ทะเลประมาณ ๓๕,๐๐๐ ตัวล้วนเป็นสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งแคลิฟอร์เนียแถบนี้ทั้งสิ้น เรียกว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นก็ว่าได้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำให้เราเห็นว่าสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติล้วนอยู่รอบตัวเรา เพียงแต่เราอาจไม่ทันสังเกตเห็น
ภายในพิพิธภัณฑ์มีตู้กระจกขนาดใหญ่นับร้อยตู้ จัดแสดงสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลหลายชนิด แมงกะพรุนทะเลชนิดต่างๆ นับร้อยตัวค่อยๆ ลอยลงมาจากเบื้องบนตัดกับความมืดด้านหลัง ปลาทูน่าสีน้ำเงินตัวใหญ่ว่ายตัดผ่านฝูงปลาแองโชวี่ ตู้กระจกแข็งแรงสูงร่วม ๑๐ เมตรนี้ทำจากกระจกที่มีความหนาถึง ๑๓ นิ้ว ต้องใช้น้ำทะเลหมุนเวียนเข้ามาถ่ายเทวันละไม่ต่ำกว่า ๔ ล้านลิตร
เราสะดุดตากับตู้กระจกยักษ์ตู้หนึ่ง ในตู้นี้มี Giant kelp หรือสาหร่ายทะเลยักษ์ เป็นครั้งแรกที่เห็นสาหร่ายยักษ์ใต้ทะเล แต่ละต้นสูงใหญ่ขนาด ๔-๕ เมตร สมัยก่อนเคยได้ยินว่านักประดาน้ำกลัวที่จะหลงเข้าไปในดงสาหร่ายทะเลยักษ์เพราะมันหนาทึบจนหาทางออกไม่ได้ สาหร่ายชนิดนี้จึงได้ฉายาว่าป่าดงดิบแห่งท้องทะเล พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สามารถเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลยักษ์ในตู้กระจกได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในโลก
เจ้าสาหร่ายทะเลยักษ์อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกอ่าวมอนเทอเรย์ไปไม่ไกล หากไม่ใช่นักประดาน้ำคงไม่มีโอกาสได้เห็นรูปทรงของมันอย่างใกล้ชิด จึงไม่น่าสงสัยเลยที่มันจะเป็นนางงามในตู้กระจกดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมาย คนอเมริกันไม่น้อยเพิ่งทราบว่ามันเป็นพืชประหลาดอาศัยอยู่ในทะเลหน้าบ้านตัวเองแท้ๆ
เคล็ดลับที่ทางพิพิธภัณฑ์เลี้ยงสาหร่ายทะเลยักษ์ได้สำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งมาจากมันสมองของ เดวิด แพ็กการ์ด (David Packard) ผู้บริจาคเงินก้อนแรก ๒,๐๐๐ กว่าล้านบาท เขาไม่เพียงสนับสนุนเงินเท่านั้น หากยังมีส่วนช่วยออกแบบสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ในฐานะที่เขาเป็นนักประดิษฐ์คนสำคัญ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องสูบน้ำทะเลจากอ่าวนาทีละหมื่นลิตรเพื่อให้น้ำทะเลพัดพาแพลงก์ตอนมาเป็นอาหารของสัตว์น้ำและถ่ายเทน้ำออกสู่อ่าว ทำให้สามารถเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลยักษ์ได้สำเร็จ
เช่นเดียวกับ สตีฟ จ๊อบส์ หรือ บิลล์ เกตส์ คู่หูนามฮิวเลตต์-แพ็กการ์ดร่วมกันตั้งบริษัท HP ในโรงรถตั้งแต่ทั้งคู่อายุราว ๒๐ ปีกลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่ยังเยาว์วัย พวกเขาประดิษฐ์ชิ้นส่วนเรดาร์ วิทยุ เครื่องบิน ก่อนจะมาผลิตคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ต ก่อนจะเสียชีวิตไม่นาน เดวิด แพ็กการ์ด ได้ก่อตั้งมูลนิธิแพ็กการ์ดโดยเงินบริจาคส่วนตัว ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ในแต่ละปีพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เงินสนับสนุนจากมูลนิธิแพ็กการ์ดอย่างสม่ำเสมอ
เราใช้เวลา ๒-๓ ชั่วโมงเดินชมตู้ปลา เห็นความมหัศจรรย์ของม้าน้ำ ปลามังกร ปลาพระอาทิตย์ รวมถึงนกหลากชนิดที่หากินริมทะเล จนมาถึงบริเวณทางออกสุดท้าย เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ว่าปลาเศรษฐกิจในบริเวณนั้นมีอะไรบ้าง และมีคู่มือชักชวนให้หลีกเลี่ยงการกินปลาบางชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์หรือ
มีปริมาณน้อยในธรรมชาติ รวมทั้งแนะนำให้กินปลาอีกหลายชนิดที่ยังอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเล
ขณะที่อีกมุมหนึ่งมีการรณรงค์เขียนจดหมายถึง ส.ส. เพื่อให้ช่วยกันผลักดันกฎหมายอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในทะเล นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยยอมเสียเวลามาลงชื่อสนับสนุนการรณรงค์ครั้งนี้ ราวกับผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์สามารถทำให้นักท่องเที่ยวได้รับแรงบันดาลใจที่จะร่วมกันอนุรักษ์ทะเลหลังจากประทับใจกับการเข้าชมสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และมีส่วนร่วมในการดูแลธรรมชาติด้วยการลงชื่อในครั้งนี้ ทุกวันนี้พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์มีอายุ ๒๐ กว่าปีแล้ว ได้กลายเป็นศูนย์วิจัยและแหล่งเรียนรู้ทางทะเลชั้นแนวหน้าของโลก มีผู้เยี่ยมชมปีละกว่าล้านคน
เจตจำนงของเศรษฐีฝรั่งกับเงินบริจาคเพื่อ “สร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเล” ทั้งชัดเจน แน่วแน่ เห็นผลสำเร็จตามแผนที่วางไว้แม้ตัวเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว
ขอคารวะ เดวิด แพ็กการ์ด
Comments
เป็นทุนนิยมสร้างสรรค์ที่ดีมากๆ เลยครับ
ขณะพิมพ์ไปก็กำลังใช้เครื่อง HP อยู่ แอบภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ แพ็กการฺ์ด:)
Pingback: ฉบับที่ ๓๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ขอบคุณค่ะที่มาเล่าให้ฟัง เห็นภาพตามไปแล้วอยากไปเห็นจังเลย มหาเศรษฐีของประเทศตะวันตกมีจิตสาธารณะอย่างน่ายกย่อง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวิธีคิดในการรับผิดชอบต่อสังคมของเขา การแบ่งปันเป็นหน้าที่ ไม่ใช่การทำทาน นักบุญของศาสนาคริสต์จะเป็นตัวอย่างของการอุทิศตน รับใช้ ไม่ใช่สื่อสองโลก เป็นทางผ่านของการทำบุญ ที่คิดอย่างนี้ก็เป็นชาวพุทธคนหนึ่ง และก็ถือปฏิบัติตามแนวทางพุทธด้วย แต่โชคดีที่โตมาในโรงเรียนคริสต์ ก็เลยเห็นข้อดีข้อเสียอยู่บ้าง