เมื่อสี่ห้าปีก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือนกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย และได้บอกเล่าให้พรรคพวกหลังเดินทางกลับว่า
หากจะไปเมืองหลวงเก่าแก่นี้ ขอให้ทำใจหลายอย่าง ตั้งแต่สภาพความทรุดโทรมของสนามบินนานาชาติอินทิรา คานธี ที่ติดอันดับยอดแย่ของโลก สภาพการจราจรที่ติดขัด ฝุ่น กลิ่นควันดำ ไอเสียที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ใช้คุณภาพต่ำของการกลั่นน้ำมัน
เชื่อได้แน่ว่า ใครที่อยู่นิวเดลีแค่สองสามวัน โอกาสจะเป็นโรคเจ็บคอเรื้อรังเป็นไปได้สูงมาก
แต่เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปกรุงนิวเดลี อีกครั้งหนึ่ง เห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายประการ
อาคารที่พักผู้โดยสารในสนามบินอินทิรา คานธี แห่งใหม่มูลค่ามหาศาลเกือบแสนล้านบาท ได้เปิดใช้งานแล้ว
ต้องยอมรับว่าอาคารผู้โดยสารที่ใช้เวลาสร้างรวดเร็วเพียงสามปี (หากเป็นประเทศอื่นใช้เวลาเฉลี่ยห้าปี แต่หากเป็นประเทศแถวสุวรรณภูมิใช้เวลาเกือบสามสิบปี) เป็นสถาปัตยกรรมอันความอลังการงดงาม สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 34 ล้านคน นับเป็นอาคารของรัฐขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษใน ปี 2490
เป็นประตูเข้าสู่อินเดียได้อย่างภาคภูมิใจ เป็นสัญญลักษณ์ถึงความทะเยอทะยานของอินเดียที่จะเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก ทุกวันนี้มีขนาดเศรษฐกิจในเอเชีย เป็นรองแค่จีน และญี่ปุ่น
แต่ประเทศนี้ก็ยังไม่ยอมเจียดเงินซื้อปิดฝาท่อระบายน้ำตามท้องถนน แต่มีอาคารผู้โดยสารทันสมัย และมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ครองโลก
เพียงแค่ออกจากสนามบินเกือบเที่ยงคืน เพื่อเรียกแท็กซี่ไปส่งที่โรงแรมห่างจากตัวสนามบินไม่ถึงห้ากิโลเมตร ก็พบว่าโดนโชเฟอร์ฟันราคาค่าโดยสารสูงกว่าปรกติถึงสี่เท่า
การขับรถปาดหน้า ปาดหลัง หรือเสียงบีบแตรของรถยนต์เกือบทุกคันกลางท้องถนนยังเป็นเรื่องปรกติของการขับรถในอินเดีย บีบแตรเพื่อขอทาง บีบแตรเพื่อเบรค บีบแตรเพื่อแซง บีบตาเพื่อให้รถคันแซง จนมีคำกล่าวว่า ใครที่จะขับรถออกจากบ้าน ลืมเบรคได้ แต่อย่าลืมแตรรถ
แต่สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดในครั้งนี้คงเป็นเรื่องของพื้นที่สีเขียวในกรุงนิวเดลี
ทุกวันนี้ทางการของอินเดียพยายามทำให้นิวเดลีเป็นเมืองน่าอยู่ และสิ่งที่ทำให้เมืองมีเสน่ห์ได้ง่ายและเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว
ถนนหลายแห่งในกรุงนิวเดลี โดยเฉพาะทางตอนใต้ จะสังเกตว่ามีต้นไม้กลางถนน สองข้างทางมีฟุตบาทขนาดใหญ่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่
มหานครใดมีการจราจรติดขัด ยิ่งต้องปลูกต้นไม้ใหญ่ เพื่อฟอกปอดของคนในเมือง และเพื่อทำให้รู้สึกว่าชีวิตร่มรื่นย์และรื่นรมย์บ้างจากสีเขียวของต้นไม้ใหญ่
กรุงนิวเดลีมีพื้นที่เล็กกว่ากรุงเทพมหานครนิดหน่อย คือประมาณเกือบหนึ่งล้านไร่ แต่เชื่อไหมว่า นิวเดลีมีพื้นที่สีเขียวหรือป่ารวมแล้วประมาณ 70,000 กว่าไร่ ขณะที่กรุงเทพมหานครของเรามีเพียง 12,000 กว่าไร่
กรุงนิวเดลีติดอันดับเก้า ขณะที่กรุงเทพมหานครติดอันดับสี่ การจราจรเลวร้ายที่สุดในโลก แต่เขามีพื้นที่สีเขียวมากกว่าเราเกือบเจ็ดเท่า
เราขับรถผ่านวงเวียนหลายแห่งกลางเมือง แต่ละแห่งคนอินเดียจะปลูกต้นไม้ใหญ่กลางรถยนต์ติดขัด แต่ที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ในอดีตเคยเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ก็ถูกกทม.ตัดเหี้ยนเป็นแห่งสุดท้าย จนนึกไม่ออกว่า มีวงเวียนใดในกทม.ที่จะเป็นสวนสาธารณะมีต้นไม้ใหญ่ มิใช่สวนหย่อม สวนไม้ดอกประดับ
เพราะดูเหมือนกทม.มักจะมีความถนัดกับการปลูกสวนหย่อม สวนไม้ดอก ที่สามารถตั้งงบประมาณรื้อทิ้ง ทำใหม่ได้ทุกปี แทนที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่กลางเมือง ที่ต้องปล่อยให้เจริญเติบโตเป็นปอดของคนเมืองอย่างเดียว ไม่สามารถตั้งงบปลูกซ่อมได้เหมือนไม้ประดับที่มีอายุการใช้งานสั้น
ซอยบางแห่งที่มีต้นไม้ใหญ่ วันดีคืนดีก็อาจจะถูกกทม.มาตัดต้นไม้ออกอ้างว่า เพื่อปรับปรุงพื้นผิวการจราจร และล่าสุดต้นไม้ใหญ่พันกว่าต้น ในสวนรถไฟ ก็อาจจะถูกตัดโค่นลงเพื่อเปลี่ยนเป็นสนามหญ้า หากไม่มีคนออกมาโวยวายเสียก่อน
คนอินเดียปลูกต้นไม้ใหญ่กันมานาน มีสวนสาธารณะเก่าแก่รอบเมือง แต่ไม่พอครับ เขาเร่งเปิดพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่ฟอกอากาศ และเป็นเสน่ห์ของเมือง
ทิศทางของเมืองน่าอยู่ในโลกยุคใหม่ คงหนีไม่พ้นการมีต้นไม้ใหญ่และทางจักรยานเพื่อการเดินทาง
ครั้งหนึ่งเราเคยมีผู้สมัครเป็นผู้ว่ากทม. ที่ประกาศว่าจะทำให้กทม.เป็นสีเขียว พอคนเลือกแกเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ สิ่งที่ทำคือ สั่งให้เจ้าหน้าที่ปลูกต้นไม้ แต่พอนาน ๆ เข้า ก็มักง่าย เอาสีเขียวไปทาตามฟุตบาทริมถนน จนคนที่เลือกแกเข้ามาไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ดี
เชื่อแน่ว่าเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ครั้งใหม่ ผู้สมัครทุกคนจะต้องชูนโยบาย ทำกทม.ให้เป็นสีเขียว ส่วนใครจะเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม คงต้องดูประวัติการทำงานให้ดี ๆ
หรืออาจจะเป็นตัวปลอมกันหมด ก็คงต้องทำใจกันเสียแต่เนิ่น ๆ
กรุงเทพธุรกิจ 23 พย. 55
Comments
ต้นไม้ใหญ่ๆ ต้นไม้เก่าแก่ ที่มีอายุมากกว่า ส.ส. ในสภา ยังโดนตัดจนเรียบ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์เลย