เอาอุทยานฯคืนมา เอานักการเมืองออกไป

“พี่เป็นคนชอบปลูกต้นไม้ ชอบธรรมชาติ ชอบเที่ยวป่า”

คุณอนงค์วรรณ เทพสุทิน ตอบคำถามนักข่าวเรื่องวิสัยทัศน์นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของตนเอง เมื่อแรกเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเมื่อเจ็ดเดือนก่อน

 

เจ็ดเดือนผ่านไป มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า กลุ่มคนรักอุทยานฯได้ร่วมกันลงชื่อเป็นบัญชีหางว่าว 4,500 ชื่อ แสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีการเปิดอุทยานแห่งชาติให้เอกชนเช่าต่อรัฐมนตรีท่านนี้

อันที่จริง แนวคิดในการเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เมื่อสิบกว่าปีก่อน เมื่อครั้งนายสาวิต โพธิวิหค เป็นรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ก็ได้มีการผลักดันให้มีการอนุมัติให้เอกชนเช่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี รัฐบาลสมัยคุณอานันท์ ปันยารชุน ได้สั่งรื้อถอนโรงแรมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มานานนับสิบปีออกไป เพราะพิสูจน์ได้ว่าโรงแรมแห่งนี้สร้างปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าด้านมลภาวะ น้ำเสีย ขยะ การลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า และการล่าสัตว์ป่ามาอย่างยาวนาน

นโยบายของรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ผลักดันผ่านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้

แต่ได้รับเสียงคัดค้านจากผู้คนจำนวนมากทุกภาคส่วน จนในที่สุดรัฐมนตรีผู้นี้ยอมถอนนโยบายดังกล่าวออกไป

เหตุผลง่ายๆ ที่คนคัดค้าน ก็คือ อุทยานแห่งชาติไม่ได้มีไว้เพื่อขาย หรือให้เอกชนรายใหญ่เช่า และพวกเขาไม่ไว้ใจนักการเมือง ที่คิดจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการให้เช่าอุทยานฯ และในต่างประเทศที่เคยอนุญาตให้เอกชนทำโรงแรมกลางอุทยานก็พากันถอนออกมาให้อยู่รอบเขตนอก เพราะเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า การสร้างโรงแรมระดับห้าดาวกลางอุทยาน ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และเป็นการกีดกันนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ข้อดีดูจะมีประการเดียวคือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเจ้าของกิจการ และการสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดต้องมีรายจ่ายราคาแพงตามมาด้วย

หลายปีผ่านมา นิยายน้ำเน่าก็ยังวนกลับมาให้เราเห็นอีก แต่คราวนี้หนักข้อกว่าเดิม เมื่อมีการพบว่า ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรฯ กำลังจะอนุมัติให้เอกชนเข้ารับสัมปทานในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ 10 แห่งโดยมีแผนการเปิดให้เอกชนเข้าเช่าพื้นที่บริหารจัดการในโซนบริการนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร

ประกอบด้วย ศูนย์อาหาร ร้านขายของที่ระลึก รีสอร์ท โรงแรม โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี

อุทยานแห่งชาติทั้ง 10 แห่งได้แก่ 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง 3.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 6.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 7.อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 8.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 9.อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 10.อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก

เรียกว่าโครงการนำร่องเหล่านี้ ก็ฟาดเอาอุทยานเกรดเอ ไปเกือบหมด แถมทางกระทรวงยังใจกว้างราวกับทะเลอันดามัน ให้เอกชนเช่าอุทยานฯได้ยาวนานถึง 30 ปี

นายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่อุทยานเพื่อทำรีสอร์ทและโรงแรม ได้ให้เหตุผลว่า เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น คาดว่าปี 2551 จะมีนักท่องเที่ยวในอุทยานฯประมาณ 12 ล้านคน และยังเป็นการหารายได้ให้ทางกรมอีกต่างหาก

ถามว่าอยู่ดีๆ ข้าราชการในกระทรวง หรือในกรมอุทยานแห่งชาติฯกล้าพอจะผลักดันโครงการเหล่านี้ตามลำพังหรือ ในขณะที่มีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่พาอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งแห่งบ้านเลขที่ 111 และนายทุนของพรรคไปตระเวนตามเกาะต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเลือกสถานที่ในการสร้างรีสอร์ท และเกาะบางแห่งได้มีการก่อสร้างรีสอร์ทไปแล้ว อาทิบนเกาะอาดังในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล

มือที่มองไม่เห็นในกระทรวงแห่งนี้ได้เข้ามาผลักดันโครงการที่ค้านสายตาคนทั้งประเทศ เช่นเดียวกับกรณีเข้ามาผลักดันให้มีการสร้างฝายแม้วมูลค่านับพันล้านบาท เพื่อกินค่าหัวคิว จนมีการเชือดข้าราชการผู้คัดค้านโครงการนี้ออกไปหลายคน

โครงสร้างของการจัดการอุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติรวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศที่มีพื้นที่รวมกัน 60 ล้านไร่ อุทยานฯบางแห่งมีพื้นที่ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครเสียอีก แต่ตกอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคนไม่กี่คน หากได้คนดีมีความสามารถ ก็พอฝากผีฝากไข้ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะเอาอุทยานฯมาหาประโยชน์ส่วนตัวเสียมากกว่า

ทุกวันนี้เราฝากความหวังในการดูแลพื้นที่ป่าของคนทั้งประเทศให้กับนักการเมืองไม่กี่คนจริงๆ ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงสูงจริงๆ

ถึงเวลาแล้ว ที่ควรจะมีการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการอุทยานฯกันใหม่ มีการกระจายอำนาจการดูแลอุทยานฯไปสู่ทุกภาคส่วนในสังคม มีคณะกรรมการที่มีอำนาจเต็มอันประกอบด้วย ข้าราชการ ภาคเอกชน นักวิชาการ คนในท้องถิ่น มามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทยานฯที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาอยู่ที่ว่า จะสร้างแรงกดดันอย่างไร เพื่อให้นักการเมืองยอมคายอำนาจของตัวเอง

Comments

  1. เพรางาย

    กว่าไม้ใหญ่จะโตขึ้นมารวมกลุ่มเป็นป่า ใช้เวลาแสนนาน เวลาตัดโค่นกลับตรงกันข้าม ช่วยกันรักษาไว้ ดีกว่ามาคอยตามแก้ทีหลัง บางอย่างแก้ไขไม่ได้ด้วยน่ะสิ

  2. คนคู่

    อีกตัวอย่างของความเข้าใจผิดระหว่างคำว่าบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นมากมายในยุคนี้

  3. กระซวก

    ผมเข้าใจความหวังดีและเจตนาบริสุทธิ์ ที่บก.wantan อยากให้การจัดการอุทยานเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและท้องถิ่นอย่างโปร่งใส ใครๆก็รู้ว่า นักกินเมืองไทยหาแหลกได้เก่งขนาดไหน และ ขรก.ที่ดีย่อมเป็นไม้อ่อนลู่ตามลมทุกยุค แต่ปัญหาอยู่ที่ความพร้อมของปชช. ที่อยากให้เขามีส่วนกำหนดชะตากรรม ตัวอย่างชัดๆมีไม่รู้กี่อย่าง อบต.เอย ป่าชุมชนเอย วิทยุชุมชนเอย ถามว่าที่บรรลุวัตถุประสงค์ตามอุดมการณ์เลิศเลอมีกี่เปอร์เซนต์? เราก็รู้กันอยู่ว่าสังคมไทยตอนนี้เป็นยังไง อะไรที่NGO สรรหามาให้ คนรากหญ้าที่ถูกหวยไปพร้อมกับปราชญ์ชาวบ้านก็เอาไปประเคนกลับให้นักกินเมืองหมดแลกกับประชานิยม แล้วขรก.ที่ยังมี อุดมการณ์เขาจะคิดอย่างไร ปัญหาของไทยก็ต้องหาวิธีไทยๆแก้ ผมก็คนรักป่าคนหนึ่ง(ไม่ใช่ขรก.)แต่เจ็บแล้วจำ แล้วก็รู้ว่า ถ้าตามตูดฝรั่งทื่อๆทุกเรื่อง เราจะไม่มีทางแก้ปัญหาอะไรได้เลย สังคมจะมีประชาธิปไตยไมได้เลยถ้าระดับภูมิปัญญาและวินัยต่างกับลิบลับ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.