ปีนี้ครบรอบ ๓๖ ปีเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือ ครบ ๓ รอบเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ การสังหารโหดนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เวลานั้นผมอายุ ๑๕ ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก คุ้นเคยกับธรรมศาสตร์ดีเพราะเดินเข้าออกมหาวิทยาลัยแห่งนี้เกือบทุกอาทิตย์ ด้วยเหตุว่าที่นี่เป็นสวรรค์ของเด็กกิจกรรม
ผมมาธรรมศาสตร์ครั้งแรกหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เมื่อองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดนิทรรศการ “จีนแดง” ขึ้นที่หอประชุมใหญ่ เพื่อเผยแพร่ความคิดสังคมนิยม อุดมการณ์ทางการเมืองแบบมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ เหมาอิสต์
ในงานนั้นมีหนังสือฝ่ายซ้ายพิมพ์ออกมามากมาย โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ และบทกวีหลายชิ้นของจิตรได้รับการเผยแพร่ คัมภีร์เหมาเจ๋อตง หนังสือปกสีแดงเล่มเล็กซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการใช้ชีวิตที่นักศึกษาฝ่ายซ้ายต้องพกไว้ในย่ามตลอดเวลา และหนังสือหัวก้าวหน้าอีกมากมายวางขายกันเกลื่อน ขณะที่ในหอประชุมมีการแสดงดนตรีของวง “ท. เสนและสัญจร” ซึ่งต่อมากลายเป็น “คาราวาน” วงดนตรีเพื่อชีวิตวงแรกของไทย
ช่วงนั้นผมแวะเวียนมาร่วมกิจกรรม ประชุมกับพี่ๆ นักศึกษาโดยตลอด บรรยากาศตอนนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่แทบไม่ค่อยเข้าห้องเรียน ชาวนา ชาวไร่ กรรมกร เดินเข้าออกมหาวิทยาลัยตลอดเวลา ร่วมกันคิดร่วมกันฝันว่า “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”
แม้ว่าจะเริ่มถูกปลูกฝังแนวคิดซ้ายจัด ถูกบังคับให้อ่านหนังสือ แคปิตะลิสม์ ของ สุภา ศิริมานนท์ นวนิยายเรื่อง แม่ ของ แมกซิม กอร์กี้ ไปจนถึง ปรัชญาชีวิต ของ คาลิล ยิบราน แต่ผมยังจำได้ดีว่าตัวเองชอบไปเดินเลียบทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อดูชาวบ้านงมกุ้งก้ามกรามตัวโตอันเป็นดัชนีชี้วัดว่าสมัยนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาสะอาดเพียงใด
จนกระทั่งเมื่อจอมพล ถนอม กิตติขจร ผู้ถูกบังคับให้ออกนอกประเทศภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้บวชเป็นสามเณรกลับเข้าประเทศ ก่อให้เกิดการประท้วงของนักศึกษาประชาชนไปทั่ว และรุนแรงขึ้นจากเหตุการณ์ช่างไฟฟ้า ๒ คนที่จังหวัดนครปฐมถูกฆ่าแขวนคอขณะออกไปติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับมาของเณรถนอม
ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) นัดชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง บรรดากลุ่มกระทิงแดงเข้ามาก่อกวนอย่างหนักถึงขนาดเอางูมาปล่อยในที่ชุมนุม ในที่สุดแกนนำคนหนึ่งซึ่งหากจำไม่ผิดคือ ธงชัย วินิจจะกูล ตอนนั้นอยู่ปี ๒ ม. ธรรมศาสตร์ ประกาศว่า หากสนามหลวงไม่อาจคุ้มครองเราได้ ขอให้พวกเราย้ายไปชุมนุมที่ลานโพ พอพูดจบบรรดาการ์ดก็รื้อเวที ช่วยกันเข็นถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตรหลายสิบถังที่ใช้เป็นฐานรองเวที ผ่านหน้าเราไปตั้งเวทีใหม่ในธรรมศาสตร์
พจนา จันทรสันติ เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งที่มาร่วมชุมนุม พูดด้วยความตกใจว่า เสียงเข็นถังน้ำมัน เหมือนเสียงสายพานลำเลียงของรถถังไม่มีผิด ราวกับเป็นลางสังหรณ์
ผมเองไม่ทันคิดอะไร ยังร่วมร้องเพลง “สู้ไม่ถอย” พร้อมๆ กับผู้คนต่างทยอยเดินไปร่วมชุมนุมที่ลานโพจนล้นมาถึงสนามฟุตบอล และวันต่อมาก็ต้องย้ายเวทีมาที่สนามฟุตบอลเพราะลานโพดูจะเล็กเกินไปเสียแล้ว
ทุกเย็นหลังเลิกเรียน ผมจะมาร่วมชุมนุมจนรถเมล์เที่ยวสุดท้ายถึงได้กลับบ้าน เรื่อยมาถึงคืนวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๑๙ สถานการณ์เลวร้ายลง มีการปล่อยข่าวว่าจะมีการทำรัฐประหาร จะมีการล้อมปราบนักศึกษา บรรดาการ์ดต่างวางแผนรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งเครียด ผมนั่งอยู่ในสนามฟุตบอลจนใกล้เที่ยงคืน ได้พบพี่สาวคนโต (มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) เธอไล่ให้ผมกลับบ้านเพราะไม่ปลอดภัย เวลานั้นผมคิดจะกลับบ้านไปเปลี่ยนชุดนักเรียนเพื่อจะกลับมาร่วมชุมนุมใหม่ แต่พอกลับเข้าบ้านได้พ่อแม่ก็ไม่ยอมให้ออกจากบ้านเด็ดขาด ถึงขนาดใช้เข็มขัดเฆี่ยนตีด้วยความเป็นห่วง ขณะที่ลูกสาวคนโตยังไม่กลับบ้าน
ตอนสายวันที่ ๖ ตุลาคม มีรายงานข่าวทางโทรทัศน์ช่อง ๔ (ช่อง ๙ ปัจจุบัน) เพียงช่องเดียวว่ามีการล้อมปราบนักศึกษาอย่างโหดร้ายที่สุด มีข่าวลือหนาหูว่าร่างนักศึกษาหลายคนที่โดนยิงตายถูกแทงปอดและทิ้งลงทะเลที่ชลบุรี ตกเย็นพวกผู้นำทหารทำรัฐประหาร ประกาศเคอร์ฟิวไม่ให้คนออกจากบ้านหลังเที่ยงคืน สิ่งที่ผมคิดได้ขณะนั้นคือต้องออกตามหาพี่สาวและเพื่อนหลายคนว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่
คืนนั้นผมนอนไม่หลับ น้ำตาไหลคิดถึงคนรู้จักว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร วันรุ่งขึ้นผมและเพื่อนออกตระเวนตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อตามหาผู้รอดชีวิต ไม่ก็ไปดูศพผู้เสียชีวิตว่าเป็นคนรู้จักหรือไม่ ผมนั่งรถเมล์ไปสังเกตการณ์หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทหารถือปืนกันคนไม่ให้เข้าไป ผมเดินต่อไปยังท้องสนามหลวง เห็นคนมุงซากยางรถยนต์ไหม้ซึ่งควันยังกรุ่น เห็นสิ่งของคล้ายกระดูกโผล่มาจากตรงนั้นจึงรู้ว่ามีคนถูกเผานั่งยาง เย็นนั้นนั่งรถเมล์มาที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน (สโมสรตำรวจในปัจจุบัน) ได้ข่าวว่าผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ที่นี่ พวกเรารอฟังประกาศรายชื่อผู้ต้องหาด้วยใจระทึก ภาวนาให้มีชื่อคนรู้จักเพราะอย่างน้อยก็ยังดีที่ได้รู้ว่าเขาไม่สูญหายหรือเสียชีวิต
เราได้ยินชื่อเพื่อนหลายคน แต่ไม่มีชื่อมด วนิดา ตอนนั้นมดเป็นแกนนำกรรมกรที่ทางการต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่ง เธอหนีรอดมาได้ และตัดสินใจเข้าป่าในเวลาต่อมา ส่วนผมกลับมาบ้าน คืนนั้นผมเอาหนังสือฝ่ายซ้ายหลายสิบเล่มเผาลงถังสังกะสีไม่ให้เพื่อนบ้านรู้ ทำลายหลักฐานที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเวลานั้นใครต่อใครล้วนถูกจับกุมคุมขังได้ทันทีในข้อหาเป็นภัยต่อสังคม
นั่งเผาหนังสือทั้งน้ำตานองหน้าด้วยความคับแค้นใจ สภาพตอนนั้นไม่ต่างกับบ้านแตกสาแหรกขาด คิดถึงคนที่โดนยิงตายหลายคน คิดถึงอีกหลายคนที่ยังตามหาไม่เจอ แต่อัดอั้นตันใจไม่รู้จะทำอะไรได้เพราะทหารตำรวจครองเมือง ใจหนึ่งก็อยากเข้าป่าเพื่อกลับมาแก้แค้น อีกใจหนึ่งก็เป็นห่วงพ่อแม่ที่กินไม่ได้นอนไม่หลับมาหลายคืนเพราะลูกสาวคนโตหายตัวไปเป็นอาทิตย์แล้ว
หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ผมเป็นอาสาสมัครอายุน้อยที่สุดที่ไปช่วยงานกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ตอนนั้นมีพระไพศาล วิสาโล (ยังไม่บวช) ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ฯลฯ เป็นสมาชิกคนสำคัญ ภารกิจของกลุ่มคือการรณรงค์ให้ปล่อยผู้นำนักศึกษา ๑๘ คนที่ถูกจับกุมคุมขังจากเหตุการณ์นั้น อาทิ ธงชัย วินิจจะกูล สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สุธรรม แสงประทุม วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ฯลฯ พวกเราผลัดกันไปเยี่ยมผู้ต้องหาที่ติดคุกในเรือนจำ ให้กำลังใจ คอยส่งข่าวความคืบหน้า และติดต่อกับองค์การนิรโทษกรรมสากลเผยแพร่ข่าวคดี ๖ ตุลาในสื่อต่างประเทศเพื่อหวังกดดันรัฐบาลไทย จนในที่สุดผู้ต้องหาทั้งหมดก็ได้รับการปลดปล่อย
ขณะที่พวกเราโดนสันติบาลกดดันอย่างหนัก บ้างถูกดักฟังโทรศัพท์ บ้างมีตำรวจนอกเครื่องแบบคอยติดตามจนกลายเป็นเรื่องปรกติ เราทำงานค่อนข้างว้าเหว่ เพราะไม่มีใครกล้าแอ่นอกรับเรื่องนี้ ยอมรับว่าตอนนั้นบางครั้งผมก็กลัวโดนอุ้ม
๖ ตุลาคม ๒๕๒๐
ครบ ๑ ปีเหตุการณ์สังหารโหด บรรยากาศเวลานั้นเสรีภาพมีเพียงน้อยนิด กิจกรรมนักศึกษายังเป็นสิ่งต้องห้ามในมหาวิทยาลัย ไม่มีใครกล้าพูดถึงการนองเลือดที่เพิ่งผ่านไป เช้าวันนั้นผมสวมชุด รด. ออกจากบ้านเพราะมีเรียนวิชาทหาร ก่อนไปเรียนแวะมาท่าพระจันทร์ เพราะนัดพรรคพวก ๓-๔ คนมาทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำได้ว่าวันนั้นมีเฉพาะพวกเราเท่านั้นมาร่วมไว้อาลัย ช่างภาพสื่อมวลชนต่างประเทศจำนวนมากมารอทำข่าวความเคลื่อนไหวภายหลังเหตุการณ์ผ่านไป ๑ ปี แต่ไม่มีนักข่าวไทยเลย พอเราตักบาตรเสร็จ นักข่าวฝรั่งพยายามตามมาสัมภาษณ์ เราไม่กล้าพูดอะไร ได้แต่ก้มหน้าก้มตาเดินไปท้องสนามหลวงพร้อมถือดอกไม้ธูปเทียนไปด้วย เราหยุดใต้ต้นมะขามต้นหนึ่ง ยืนพนมมือสงบนิ่ง ปักธูปและแขวนดอกไม้ไว้บนกิ่งไม้ต้นนั้นที่เมื่อปีก่อนนักศึกษาคนหนึ่งถูกแขวนคออย่างทารุณ
๓๖ ปีผ่านไป ภาพเหล่านั้นยังคงแจ่มชัดจนถึงปัจจุบัน เป็นบทพิสูจน์ว่า “ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย”
Comments
Pingback: ฉบับที่ ๓๓๒ ตุลาคม ๒๕๕๕
😥