“น้ำตาของเด็กเมื่อคนแก่ตาย
จะไม่มากเท่าน้ำตาของคนแก่เมื่อเด็กตาย”
ผมเคยได้ยินคำพูดนี้มาหลายสิบปี และไม่เคยเข้าใจเลย จนเมื่อพี่สาวคนหนึ่ง คือ มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ จากไปเมื่อห้าปีก่อน คุณแม่ร้องไห้ทุกวันจนแทบไม่มีน้ำตา
พ่อเคยเขียนว่า
“ดึกดื่นค่อนคืนแล้ว แม่ยังถามว่า…ลูกสาวหายไปไหน
หลั่งน้ำตา ร่ำร้องหา จนฟ้าสาง”
สำหรับคนเป็นพ่อแม่แล้ว คงไม่มีอะไรย่อยยับทางจิตใจเท่ากับการสูญเสียลูกสาวตัวเองไปในวัยอันไม่สมควร แต่ขณะเดียวกัน หากเป็นลูก ๆที่รู้ว่าพ่อแม่กำลังจะจากไปในวัยชราตามธรรมชาติ ยังพอเตรียมใจรับกับสถานการณ์ได้ดีกว่า
ตอนสายของวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา วัดโพธิแมน วัดจีนสำคัญแห่งหนึ่งย่านถนนสาธุประดิษฐ์ ครอบครัวของผมได้มาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับพี่วนิดาครบรอบห้าปีของการจากไป ทางครอบครัวได้เก็บอัฐิไว้ในอาคารแห่งหนึ่งที่บรรจุช่องเก็บอัฐิไว้นับร้อยช่องราวกับเป็นคอนโดมิเนียม เป็นการสะดวกในการเก็บอัฐิของผู้จากไปไว้ให้กับคนที่อยู่ข้างหลังได้มาแสดงความเคารพ
ตรงช่องเก็บอัฐิของพี่มด คุณพ่อได้มาเคาะเรียกลูกสาวให้มารับประทานอาหารที่จัดไว้ และบอกว่าทุกคนคิดถึงมาก แม่ไม่พูดอะไรได้แต่จ้องภาพถ่ายของลูกสาวได้พักหนึ่งก็ร้องไห้ออกมาด้วยความคิดถึงลูกสาวคนโต หลายคนต้องน้ำตาไหลพรากด้วยความสะเทือนใจและสงสารแม่เป็นที่สุด
เหตุการณ์ผ่านไปห้าปี แม่พอจะเข้าใจได้ว่า ทำไมลูกต้องช่วยเหลือชาวบ้านอย่างหนักมาตลอดหลายสิบปี จนไม่ได้ดูแลสุขภาพตัวเอง และป่วยเป็นโรคร้ายในที่สุด
แม่จำได้ว่าตั้งแต่ลูกเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ลูกสาวกลับบ้านดึกดื่นทุกวัน หลายครั้งก็ไม่ได้กลับบ้านเป็นอาทิตย์ แม่ไม่รู้หรอกว่า ลูกสาวคนนี้ไปช่วยกรรมกรเคลื่อนไหวประท้วงค่าแรงที่ถูกเอาเปรียบ
พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แม่ไม่รู้ว่า มดเป็นบุคคลที่ทางการต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่ง ในฐานะแกนนำนักศึกษาคนสำคัญ และต้องเข้าป่าเพื่อร่วมต่อสู้กับนักศึกษาอีกหลายพันคนในเวลานั้น
สิ่งที่แม่ทำได้คือ มารอหน้าประตูบ้านทุกวันถึงดึกดื่น เพื่อหวังว่าวันหนึ่งลูกสาวจะกลับบ้าน รอจนถึงสี่ห้าปีก่อนที่ลูกจะตัดสินใจออกจากป่า กลับมาใช้ชีวิตตามปรกติ
พอลูกสาวเรียนจบมหาวิทยาลัย แม่ดีใจที่ลูกมาทำงานเหมือนคนทั่วไป และวาดหวังว่าลูกสาวคนโตจะเป็นฝั่งเป็นฝาและมีโอกาสได้อุ้มหลานกับเขาบ้าน แต่พี่มดมาทำงานเหมือนคนอื่นได้ไม่กี่ปี ก็ตัดสินใจเดินออกจากสังคมที่สุขสบาย ปลอดภัยในเมืองใหญ่ ไปร่วมต่อสู้นอนกลางดิน กินกลางทรายกับชาวบ้านจำนวนมาก เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม และการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านจากผลกระทบของการสร้างเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี
ตอนแรก ๆ แม่เริ่มสงสัยว่า ลูกสาวไปทำงานต่างจังหวัดอะไร ทำไมไม่กลับบ้านเป็นเดือน รู้แต่ว่าทุกครั้งที่ลูกสาวกลับบ้าน จะนอนหลับราวกับไม่ได้นอนเป็นเดือน ร่างการผ่ายผอม บางครั้งก็มาแค่เปลี่ยนเสื้อผ้าและออกจากบ้านไปโดยไม่ยอมค้างคืนเลย
แม่ไม่รู้ว่า เวลานั้นชื่อของมด วนิดาตกเป็นข่าวดังทางหนังสือพิมพ์และทีวี ในฐานะที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ผู้นำชาวบ้านมาประท้วงทั้งที่หน้าเขื่อน ศาลากลางจังหวัดและเคยยึดรถไฟนำชาวบ้านหลายหมื่นคนมาล้อมทำเนียบเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของคนยากคนจนพึงมีเท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคม
แม่ไม่รู้ว่า ลูกสาวคนนี้ผู้มีความเชื่อว่า“ไม่มีความทุกข์ยาก ถ้ามีความยุติธรรม” เคยถูกจับติดคุก และมีคดีถูกฟ้องร้องในศาลหลายคดี ถูกกล่าวหาสารพัดจากผู้เสียผลประโยชน์ ตั้งแต่เป็นมือที่สามที่ก่อความวุ่นวาย รับเงินต่างชาติ หรือเป็นชู้กับคนนั้น คนนี้ จนหลายครั้งมดแทบจะถอดใจ สู้ไปก็มีแต่พ่ายแพ้ เพียงแต่พี่มดรำลึกเสมอว่า
“ความอับจนหลายครั้งทำให้ข้าพเจ้าเริ่มท้อแท้ แต่ความมานะอดทนของชาวบ้าน ความทุกข์ยากของมวลชนที่อยู่รายล้อมข้าพเจ้า เป็นเครื่องมือเตือนสติ และทำให้ข้าพเจ้าอยู่กับพวกเขามาจนถึงปัจจุบันนี้”
จนเมื่องานวันศพของลูกสาวคนนี้ แม่เริ่มเข้าใจแล้วว่า สิ่งที่ลูกสาวคนโตทำมาตลอดชีวิตส่งผลอย่างไรต่อคนในสังคม มีชาวบ้านจากทุกสารทิศมาช่วยงานศพทุกวัน และเมื่อมีการจัดงานรำลึกให้กับลูกสาวที่ปากมูน ชาวบ้านจากทั่วประเทศเหมารถมาร่วมงานหลายพันคน
แม่เริ่มรู้แล้วว่า ลูกสาวของแม่เป็นที่รักใคร่ของผู้คนมากจริง ๆ ชาวบ้านต่างมาจับมือแม่ ปลอบประโลมแม่ ทำทุกอย่างเพื่อให้แม่สบายใจ แม้ว่าจะไม่สามารถเรียกเอาดวงใจกลับคืนมาได้อีก
ชาวบ้านหลายคนเดินทางมาจากแดนไกลเพื่อมาขอบคุณแม่ผู้สร้าง “ลูกสาวคนจน” ให้กับโลกใบนี้ ผู้เคยพูดว่า
“ดิฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นผู้เสียสละ ไม่ได้คิดว่าเป็นนักบุญหรือแม่พระ และก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นหญิงเหล็ก ดิฉันเป็นคนธรรมดา เพียงแต่ดิฉันเป็นคนไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมจำนนง่าย ๆเท่านั้น”
มด ได้กลายเป็นตำนานของนักต่อสู้เพื่อคนยากคนจนอย่างแท้จริง เป็นแบบอย่างให้กับผู้คนจำนวนมากในสังคม
แต่ทุกวันนี้ บางคืน แม่ยังน้ำตาไหลเงียบ ๆ ไม่ยอมพูดอะไร ลูก ๆ เชื่อว่า หัวอกของคนเป็นแม่ ยังคิดถึงลูกสาวชื่อ มด วนิดา ตลอดไป
กรุงเทพธุรกิจ 27 ธันวาคม 2555
Comments
กวีซีไรต์-เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เขียนบทกวีไว้อาลัยคุณมด-วนิดา รวมเล่มในหนังสือกวีนิพนธ์เล่มใหม่ในรอบ 8 ปีหลังซีไรต์ของกวี-เรวัตร์ ชื่อ “แม่น้ำเดียวกัน” ประกอบด้วยรวมบทกวี 80 บท ภาคหนึ่ง: โลกใบอื่น ภาคสอง: พื้นที่จริงแท้ ภาคสาม: แม่น้ำเดียวกัน ภาพปก-ภาพประดับโดยกวีซีไรต์รุ่นพี่ – ศักดิ์สิริ มีสมสืบ จัดจำหน่ายโดยศูนย์หนังสือจุฬาฯ โดยบทกวีอุทิศแด่คุณมด ชื่อ “จิตวิญญาณของมด (คือดวงใจสีทอง ผู้ร้องทุกข์ จักอยู่เหย้าเฝ้ายุคทุกสมัย) หน้า 71
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตคุณมดแล้วทำให้มีกำลังใจต่อสู้กับชีวิตมากขึ้นค่ะ ขอบคุณมากนะคะ