ผู้เขียนเป็นคนชอบเที่ยวภูเขามากกว่าทะเล
เคยมีคนถามว่า เดินทางท่องเที่ยวมาทั่วประเทศ พิชิตยอดดอยมาก็หลายลูกแล้ว ชอบภูเขาใดเป็นพิเศษ
ดอยหลวงเชียงดาวคือคำตอบเดียว
หากมีโอกาสขับรถออกจากเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางอำเภอแม่ริม-อำเภอฝาง พอขับรถไปได้ประมาณ 70 กิโลเมตร เข้าเขตอำเภอเชียงดาว สังเกตทางซ้ายมือ จะเห็นภูเขาโดด ๆ ลูกหนึ่งสูงตระหง่านเด่นมาแต่ไกล
คนทางเหนือเชื่อว่า ดอยเชียงดาวเป็นที่สิงสถิตของเจ้าหลวงคำแดง ผู้เป็นเจ้าแห่งผีทั้งหลาย เป็นที่สักการะของชาวเหนือมาช้านาน
ไม่กี่ปีมานี้ ผู้เขียนเคยเดินกลางสายฝนขึ้นยอดดอยเชียงดาว แล้วมองลงมาเห็นวิวไกลสุดลูกหูลูกตาตลอด ๓๖๐ องศา ไม่มีต้นไม้ใหญ่ ไม่มีขุนเขาอื่นใดมาบดบังทัศนียภาพ หัวใจพองโต เป็นความสุขสงบที่ยังจดจำมาจนทุกวันนี้
ความเหน็ดเหนื่อยตลอดเจ็ดชั่วโมงที่ต้องปีนเขากันขึ้นมา หายเป็นปลิดทิ้ง บนยอดภูเขาหินปูนสูงที่สุดในประเทศไทย ขอบฟ้ากว้างใหญ่สุดลูกหูลูตากำลังรออยู่ ขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า แต่ลมแรงจัดทำให้ต้องหลบลงมาพักแรมอยู่บริเวณอ่างสลุงด้านล่างยอดดอย
ค่ำคืนนั้น พวกเราแหงนหน้าดูดาวพราวฟ้า นึกถึงคำพูดของคนโบราณที่เรียกภูเขานี้ว่า เพียงดาว เพราะด้วยความสูง 2,275 เมตรของยอดดอยสูงเป็นอันดับสามรองจาก ดอยอินทนนท์และดอยผ้าห่มปก ทำให้รู้สึกได้ว่าหมู่ดาวอยู่ใกล้ตาจนแทบจะเอื้อมมือไปคว้าดาว จึงเป็นที่มาของคำว่า เพียงดาว หรือ เชียงดาวในปัจจุบัน
การเดินทางขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาวครั้งนั้น พวกเราไปสำรวจหากล้วยไม้สกุลใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบ และบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินนี้ มีเฉพาะบนยอดดอยเชียงดาวเพียงแห่งเดียว
พวกเราได้พบกล้วยไม้ สิรินธรเนีย Sirindhornia pulchella หรือ เอื้องศรีเชียงดาว สูงไม่ถึงยี่สิบเซ็นติเมตร กล้วยไม้ดินโผล่ขึ้นมาตามซอกหิน ใบของเค้าที่ม้วนตัวอยู่จะค่อย ๆ โผล่พ้นดิน ก่อนจะคลี่ใบสีเขียวลายจุดสีเข้มออกมา ช่อดอกสีม่วง ตรงเกสรมีงวงน้ำหวานเป็นหลอดโค้งยาว ขึ้นตามหน้าผาสูงชัน เราค่อย ๆ ก้าวอย่างระวัง ระวังไม่ให้เหยียบโดน และสำรวจจนพบเห็นนับร้อยต้นทีเดียว
ความมหัศจรรย์ของระบบนิเวศ สภาพดิน สภาพแร่ธาตุ อากาศ ความสูง อุณหภูมิ และปริมาณน้ำฝนอันพอเหมาะ ได้ทำให้เจ้ากล้วยไม้น้อย ๆ ชนิดนี้ เลือกที่จะมาถือกำเนิดบนโลกใบนี้ตรงบริเวณชะง่อนผาบนยอดดอยเชียงดาวเพียงแห่งเดียว
อันที่จริงบนยอดดอยหินปูนแทบจะไม่มีชั้นดิน อากาศแปรปรวนตลอด ลมแรง เราเห็นลมหอบเอาเมฆหมอกที่ลอดผ่านหน้าขึ้นไปบนท้องฟ้าและไหลเป็นสายลงมาสู่ยอดดอยอีกครั้ง ภูมิประเทศแบบนี้ยากที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ แต่พืชบางชนิดก็สามารถเอาชีวิตรอดได้
ต้นไม้ใหญ่ชนิดหนึ่งที่สร้างความประทับใจมาก คือค้อเชียงดาว หรือปาล์มรักเมฆ หน้าตาคล้ายต้นปาล์มสูงประมาณ 10 เมตร แต่กลับเจริญเติบโตบนยอดดอยท้าลมแรง น้ำน้อย และผืนดินอันไร้แร่ธาตุได้มั่นคง
รากของค้อเชียงดาวชอนไชลึกลงไปในซอกหิน เกี่ยวตัวเองให้ยืนหยัดสู้กับลม พายุและความแห้งแล้งได้อย่างทรนง
นอกจากสิรินธรเนียหรือเอื้องศรีเชียงดาวแล้ว ดอยเชียงดาวยังมีพันธุ์ไม้หลากหลายที่สุดในประเทศประมาณ 1,800 ชนิด เป็นกล้วยไม้กว่า 110 ชนิด และมีสัตว์ป่าหายากหลายชนิด โดยเฉพาะกวางผาหรือม้าเทวดา
สิ่งมีชีวิตเหล่านี้บนยอดดอยเชียงดาว ต้องยอมรับว่า “นายแน่มาก” ที่ยังเอาตัวรอดได้อย่างมั่นคง
แต่ความมั่นคงทางธรรมชาติเหล่านี้กำลังถูกท้าทาย เมื่อมีกระแสข่าวว่า ทางการจะปัดฝุ่นสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้าขึ้นสู่ยอดดอยเชียงดาวอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเคยเงียบหายไปเกือบสิบปีก่อน
เหตุผลไม่มีอะไรมากกว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยว และหวังว่าจะมีผู้คนมาท่องเที่ยวยอดดอยเชียงดาวมากขึ้น ที่ผ่านมา ต้องอาศัยการเดินเท้าอย่างเดียวไม่ต่ำกว่าเจ็ดชั่วโมง ขณะที่หากมีการสร้างกระเช้าแล้ว สามารถจะส่งคนขึ้นลงได้วันละหลายร้อยคนในเวลาไม่กี่นาที
พวกเราลองสำรวจและคำนวณทิศทางดู หากมีการสร้างกระเช้าเชียงดาวจริง บริเวณที่พบกล้วยไม้สิรินธรเนีย คงจะเป็นที่ตั้งของสถานีกระเช้าไฟฟ้าเชื่อมต่อกับสถานีด้านล่างพอดี และบนยอดดอยแห่งนี้มีพื้นที่เล็กและแคบมาก ขนาดไม่เกินหนึ่งไร่ หากโครงการเกิดขึ้นจริง คงมีการปรับพื้นที่บนดอยกันครั้งใหญ่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
มูลค่าโครงการนี้เมื่อเกือบสิบปีก่อนคือ สองพันล้านบาท ปัจจุบันคงปาเข้าไปไม่ต่ำกว่าสี่พันล้านบาท แต่หากโครงการสร้างเสร็จจริง ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่า ข้างบนยอดดอยจะเหลืออะไรให้นักท่องเที่ยวได้ดู
เพราะที่ผ่านมา สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดได้บนยอดดอยนี้ถือว่าเป็นสุดยอดแห่งการปรับตัวแล้ว พวกเขาได้รับการทดสอบมาหลายยุคหลายสมัยแล้วว่าเป็นพวกทรหดสุดขีด เพราะสภาพอากาศและภูมิประเทศอันโหดร้ายสุดขีดบนนี้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมถึงมนุษย์ไม่อาจจะอยู่รอดได้ แต่สุดท้ายพวกเขากำลังจะมาพ่ายแพ้และสูญพันธุ์เพราะน้ำมือของมนุษย์
สิ่งมีชีวิตบนยอดดอยเป็นความเปราะบางมาก อุตส่าห์หนีขึ้นไปอยู่บนยอด เพียงดาว มนุษย์อย่างเราจะตามไปซ้ำเติมพวกเขาอีกทำไม
17 มค. 56 / กรุงเทพธุรกิจ
Comments
ใครสร้าง ก็ แช่งให้ฉิบหายไปอีก 100 ชั่วโคตร
2225 m.?
ผมเคยขึ้นไปศึกษาพันธุ์ไม้บนดอยหลวงเชียงดาว
เมื่อ13 ปีที่แล้ว(ปี 43) หากมีการสร้างกระเช้าจริง
ก็เสียดายแทนรุ่นลูกหลานที่จะไม่มีธรรมชาติที่สวยงาม
ให้ดู ให้ศึกษาอีกต่อไป
ผมมีที่ดินอยู่เชียงดาว ใกล้บ่อนำ้พุร้อน ตอนนี้ราคาที่ขึ้นพรวดๆ ถ้ามีการสร้างกระเช้า ผมคงได้ประโยชน์เต็มๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังขอคัดค้านเต็มที่ ไม่อยากได้กระเช้าครับ 😛
เชียงดาวมีมนต์ยขลังใครคิดไม่ดีทำไม่ดีย่อมมีอันเป็นไป
เดินทางขึ้นยอดดอย ได้บรรยากาศในการเดินทางที่ดีมากครับ ทั้งได้ชม วิวธรรมชาติ สัมผัสลมหนาว