ครั้งหนึ่งกับท่านทะไลลามะ

การเดินทางข้ามภูเขาสูงร่วม ๔,๐๐๐ เมตรตามเทือกเขาหิมาลัยเห็นหิมะปกคลุมยอดเขาโดยตลอด ขณะที่ตามพื้นดินมีแต่ความแห้งแล้ง ก้อนหินขรุขระ และสายน้ำอันเชี่ยวกราก มุ่งหน้าสู่เมืองเลห์ เมืองหลวงของลาดักแห่งแคชเมียร์ เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ผมเฉลียวใจเลยว่าจะได้มีโอกาสพบพระอารมณ์ดีผู้มีชื่อเสียงสะท้านโลกมานานร่วมครึ่งศตวรรษ

ตั้งแต่สมัยเด็ก ผมคุ้นเคยกับชื่อชาวเอเชีย ๒ คนซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  คนแรกเพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน คือเจ้านโรดม สีหนุ ผู้ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศจีน กับอีกท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ต้องลี้ภัยจากประเทศอันเป็นที่รักเพราะถูกจีนยึดครองมานานกว่า ๕๐ ปี คือทะไลลามะองค์ที่ ๑๔

ลาดักแม้จะอยู่ในแคว้นแคชเมียร์ ภายใต้การปกครองของอินเดีย แต่ดินแดนแห่งนี้ได้รับฉายาว่า ทิเบตน้อย เพราะดูเหมือนวัฒนธรรมของชาวทิเบตได้แผ่คลุมมานานนับพันปีแล้ว ตั้งแต่รูปร่างหน้าตาของผู้คน เครื่องแต่งตัว บ้านเรือน และวัดต่างๆ

ทะไล เป็นภาษามองโกล แปลว่า ทะเลอันกว้างใหญ่ หรือมหาสมุทร  ลามะ เป็นภาษาทิเบต แปลว่า ทรงศักดิ์ หรือผู้มีความรู้  คำว่า ทะไลลามะ เป็นคำเรียกนามนักพรต ผู้เป็นหัวหน้าใหญ่ในประเทศทิเบตทั้งในด้านศาสนจักรและอาณาจักร

ผมอ่านเรื่องราวของท่านทะไลลามะตั้งแต่เด็กแล้วว่า พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๗๘ ที่ “ตักเซอร์” หมู่บ้านเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต และทรงถูกค้นพบด้วยวิธีการตามประเพณีของทิเบต เมื่ออายุได้ ๒ ปีกว่า ว่าเป็นองค์ทะไลลามะกลับชาติมาประสูติ ทรงขึ้นครองราชย์เป็นผู้นำประเทศทิเบต เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๓  และหลังจากที่กองทหารจีนได้บุกเข้าโจมตียึดครองอาณาจักรทิเบตให้ตกเป็นของจีน พระองค์ได้เดินทางไปปักกิ่งในปี ๒๔๙๗ เพื่อเจรจาสันติภาพกับเหมาเจ๋อตุง และผู้นำอื่นๆ ของประเทศจีน เช่น โจวเอินไหล และ เติ้งเสี่ยวผิง แต่ในเดือนมีนาคม ๒๕๐๒ ได้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่ลาซา เมืองหลวงของทิเบต  ผู้ประท้วงชาวทิเบตถูกกองทหารจีนจับกุมและสังหารนับแสนคน  องค์ทะไลลามะได้เดินทางลี้ภัยไปประเทศอินเดีย โดยมีชาวทิเบตประมาณ ๘ หมื่นคนติดตามพระองค์ไปพำนักอาศัยที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย จนถึงทุกวันนี้

ทิเบตสูญเสียอิสรภาพมานับตั้งแต่นั้น และองค์ทะไลลามะจึงเป็นสัญลักษณ์ของชาวทิเบตมาจนถึงปัจจุบัน

วันที่ผมเดินทางมาถึงเมืองเลห์ เข้าพักที่เกสต์เฮาส์แห่งหนึ่ง เจ้าของโรงแรมผู้อารีบอกว่า พรุ่งนี้เป็นวันสุดท้ายที่ท่านทะไลลามะจะพำนักอยู่ที่เมืองนี้ ทำให้ผมรู้ว่านอกจากที่ธรรมศาลาแล้ว เลห์ก็เป็นเมืองที่ท่านเดินทางมาสม่ำเสมอ และเมื่อท่านเดินทางมาถึงเมืองเลห์เมื่อต้นเดือนสิงหาคม มีชาวลาดักผู้ศรัทธาหลายเชื้อชาติร่วม ๔ หมื่นคนไปยืนรอต้อนรับเรียงรายตลอดสองข้างทางจากสนามบินไปที่พำนักระยะทาง ๗ กิโลเมตร

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมเหมารถแท็กซี่ราคาแพง มุ่งออกนอกเมืองเพื่อไปร่วมบรรยากาศการเทศนาธรรมครั้งใหญ่ในวัด Shewatsel Grounds  เมื่อไปถึงต้องออกแรงเดินไปอีกนานกว่าจะมาถึงลานกลางแจ้งขนาดใหญ่ มีผู้คนหลายหมื่นคนจากทั่วทุกสารทิศของลาดักมานั่งกันอย่างสงบ เพื่อฟังเสียงเทศนาของท่านทะไลลามะ วัย ๗๗ ปี  คนเหล่านี้มาจับจองที่นั่งหลายวันแล้วด้วยความศรัทธาอันแรงกล้าต่อผู้นำทางจิตวิญญาณของพวกเขา  ผมค่อยๆ ลัดเลาะเบียดเสียดเข้าไปใกล้ศาลาที่ประทับของท่าน และพอเห็นพื้นที่แห่งหนึ่งที่กันไว้สำหรับคนต่างชาติจึงเข้าไปแทรกทันที หวังจะเข้าไปให้เห็นตัวท่านใกล้ที่สุด

ท่านทะไลลามะ กำลังเทศน์ต่อหน้าผู้ศรัทธาหลายหมื่นคนบริเวณวัด Shewatsel Grounds แคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย

เบื้องหน้าห่างไปไม่ถึง ๕๐ เมตรบนศาลาขนาดใหญ่ อริยะบุคคลท่าทางใจดี ผู้ได้ชื่อว่าเปี่ยมด้วยความเมตตา ผู้พูดเสมอว่า  “อาตมาเป็นเพียงพระสงฆ์ธรรมดา ไม่มีอะไรมากกว่านี้ และน้อยกว่านี้” กำลังนั่งอยู่บนบัลลังก์ และเทศนาให้ชาวลาดักฟังมา ๔ วันแล้ว

“ดวงอาทิตย์ส่องสว่างให้แก่ทุกคนเท่าเทียมกัน เราทุกคนก็ควรจะปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมโลกทุกชาติทุกภาษาอย่างเท่าเทียมกัน ให้ความเคารพต่อทุกความเชื่อ ทุกศาสนาเหมือนกัน เพราะพวกเราล้วนกำเนิดมาจากมารดาเดียวกัน และยิ่งไปกว่านั้นเราทุกคนก็ตายแบบเดียวกัน” คือใจความตอนหนึ่งที่ท่านเทศน์ และมิตรสหายผู้ใจดีแปลให้ฟังในขณะนั้น

ท่านได้ย้ำว่า “เราควรจะสำรวจตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่า อารมณ์ขุ่นมัวของเราทำลายเราและคนรอบข้างอย่างไรบ้าง”

ท่านทะไลลามะเคยบอกว่า กิจวัตรประจำวันของท่านประการหนึ่งคือการดูดาว “อาตมาตื่นตี ๔ สิ่งแรกที่ได้เห็นคือพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าจากพระพุทธรูป ขึ้นมาสวดมนต์ และออกมามองดูฟ้า มองเห็นดวงดาวมากมาย ทำให้เกิดความรู้สึกพิเศษว่า เราแทบไม่มีความสำคัญอันใดเลยในจักรวาล” ทำให้ชาวพุทธตระหนักในความไม่เที่ยงแท้

ครั้งหนึ่ง…มีคนถามองค์ทะไลลามะว่า

“อะไรเป็นเรื่องที่ท่านรู้สึกแปลกใจมากที่สุดเกี่ยวกับมนุษยชาติ ?”

ท่านตอบว่า…

“มนุษย์เรานี้ยอมสูญเสียสุขภาพเพื่อทำให้ได้เงินมา แล้วต้องยอมสูญเสียเงินตราเพื่อฟื้นฟูรักษาสุขภาพ

แล้วก็เฝ้าเป็นกังวลกับอนาคต จนไม่มีความรื่นรมย์กับปัจจุบัน

ผลที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือ…

เขาไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน…หรือแม้กระทั่งอยู่กับอนาคต เขาดำเนินชีวิตเสมือนหนึ่งว่าเขาจะไม่มีวันตาย

และแล้วเขาก็ตาย…

อย่างไม่เคยมีชีวิตอยู่จริง”

ก่อนเที่ยงของวันนั้น ท่านทะไลลามะได้กล่าวขอบคุณประชาชนหลายหมื่นชีวิตอย่างจริงจังที่อุตส่าห์ใช้ชีวิตกลางแดดอันร้อนแรงตลอดเวลา ๔ วันเพื่อมาฟังคำเทศนาของท่าน ก่อนจะทิ้งปริศนาธรรมว่า

“ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งมีคุณค่าประเสริฐยิ่ง หากท่านมีอายุยืนนาน แต่ไม่ได้ทำเรื่องดีงาม ชีวิตคงไร้ประโยชน์ อย่างน้อยเราควรใช้ความพยายามที่เหลืออยู่เพื่อบรรลุธรรม หรืออย่างน้อยเพื่อหาหนทางในการบรรลุธรรม”

ฟังคำพูดของท่าน ไม่ต้องเชื่อหรอกครับ แต่เก็บไปคิดก่อน สักวันหนึ่งเราอาจจะหวนรำลึกถึงคำพูดนี้ของท่านเอง

 

  • ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 335 มกราคม 2556

 

Comments

  1. Pingback: ฉบับที่ ๓๓๕ มกราคม ๒๕๕๖

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.