ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ผมเป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิดเมื่อ ๕๐ ปีก่อน
ผมเกิดที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ใช้ชีวิตวัยเด็กที่ซอยวัดแขกถนนสีลม เห็นงานประจำปีในการแห่เจ้าแม่ศรีมหาอุมาเทวีที่วัดแขกมาตั้งแต่เป็นเด็กน้อย พอถึงวัยเข้าเรียนก็สอบเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญได้ ทุกวันต้องเดินไป โรงเรียนตั้งอยู่บนถนนเซนต์หลุยส์ซอย ๓ เดินผ่านถนนสาทรอันร่มรื่นด้วยต้นมะฮอกกานีขนาดใหญ่ริมคลองสาทร เห็นคนมาตกปลา นั่งพักผ่อนริมคลอง
ผมเรียนไม่ทันจบ วันหนึ่งต้นมะฮอกกานีนับร้อยต้นที่เรียงรายบนถนนสาทรก็ถูก กทม. ตัดเหี้ยนเปลี่ยนเป็นพื้นซีเมนต์ คลองสาทรถูกถมเพื่อขยายพื้นผิวการจราจรให้กว้างขวางรองรับจำนวนรถที่เพิ่มขึ้น
พอโตขึ้นมาหน่อยพ่อแม่ก็ย้ายบ้านมาอยู่ตรอกจันทร์ เวลานั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผัก รอบบ้านเป็นท้องร่องสวนผลไม้หลากชนิด ทุกวันต้องเดินออกมาปากซอยโหนรถเมล์สาย ๑ สาย ๗๕ มาโรงเรียนที่บางรัก เป็นการเบียดเสียดโหนออกนอกตัวรถประมาณ ๕-๖ คน ทนพิษควันดำบนท้องถนน บางวันก็เดินทางลัดผ่านสวนมะพร้าว สวนผัก ก่อนออกมาถนนเจริญกรุงที่รถยังติดแน่นเหมือนทุกวันนี้
อยู่มาวันหนึ่งบ้านที่อยู่มา ๒๐ กว่าปี อาณาบริเวณเกือบ ๑ ไร่ ก็โดนเวนคืนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพราะทางด่วนขั้นที่ ๒ กำลังจะสร้างเพื่อขยายพื้นผิวการจราจร และตำแหน่งที่บ้านก็คือทางลงทางด่วนถนนเจริญกรุง เมื่อถูกเวนคืนก็ต้องก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมเพื่อประโยชน์ของคนใช้รถใช้ถนนที่เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ครอบครัวของผมก็ต้องเป็นผู้เสียสละ ยอมอพยพไปอยู่ทาวน์เฮาส์หลังเล็กแถวบางนา เพราะเงินค่าเวนคืนทางด่วนพอจะหาซื้อบ้านหลังใหม่ได้ในราคานั้น
หลายสิบปีที่ผ่านมาความเจริญและการขยายถนนเพื่อรองรับปริมาณรถอันมหาศาล ทำให้หลายชีวิตในกรุงเทพฯ ต้องเป็นผู้เสียสละอยู่ร่ำไป แต่ดูเหมือนยิ่งขยายถนนยิ่งทำให้รถติดมากขึ้นจากปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นหลายล้านคันอย่างรวดเร็ว
ทุกวันนี้การจราจรบนท้องถนนเกือบทุกสายในกรุงเทพฯ แทบจะเป็นการจลาจลทุกวันไม่มีวันหยุดตลอดทั้งวันทั้งคืน แต่ยังโชคดีหน่อยที่พอมีรถไฟฟ้าลอยฟ้าและใต้ดิน
มีเรื่องเล่าให้ฟังด้วยความเจ็บใจว่า เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อนรัฐบาลได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญการคมนาคมจากเยอรมนี เพื่อวางแนวทางการแก้ปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า กทม. ต้องเร่งสร้างระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้คนใช้รถส่วนตัวมากขึ้น ตอนนั้นรัฐบาลมีเงินกว่า ๒ หมื่นล้านบาทที่จะเอามาสร้างระบบขนส่งมวลชน แต่สุดท้ายแทนที่จะใช้งบประมาณนี้มาสร้างรถไฟฟ้ากลับพลิกมาสร้างทางด่วนขั้นที่ ๑ สร้างแรงจูงใจให้คนใช้รถส่วนตัวมากกว่าระบบขนส่งมวลชนถามว่าอะไรทำให้เกิดกำลังภายในเปลี่ยนแนวคิดในการแก้ปัญหาจราจร จากระบบขนส่งมวลชนเป็นการส่งเสริมให้คนใช้รถบนทางด่วน ก็ลองไปดูว่าบริเวณทางลงทั้ง ๒ ด้านของทางด่วนบางนา-แจ้งวัฒนะใกล้ที่ดินมูลค่ามหาศาลของตระกูลผู้ยิ่งใหญ่ในวงการที่ดินผู้ใดกัน และมูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้นเท่าใดภายหลังมีการสร้างทางด่วน
ระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางจึงล้าหลังมา ๑๐ กว่าปีกว่าจะมีการลงมือสร้างอย่างจริงจัง แต่อีกด้านหนึ่งทางจักรยานยังเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ ขณะที่นักวิชาการรุ่นใหม่ทั่วโลกเริ่มมองเห็นแล้วว่า ทางออกในการแก้ปัญหาการจราจรของมหานครใหญ่ๆ ทั่วโลกนั้นคือการตัดทางจักรยาน ส่งเสริมให้การใช้จักรยานเป็นทางเลือกสำคัญในการเดินทาง ไม่ใช่แค่การขี่จักรยานท่องเที่ยว
ทุกวันนี้เมืองใหญ่หลายเมือง เปิดพื้นที่บนถนนทำทางจักรยานด้วยหลักความเท่าเทียมกัน ถนนไม่ได้มีไว้ให้เฉพาะรถ ๔ ล้อหรือรถมอเตอร์ไซค์อย่างเดียว คนถีบจักรยานก็มีสิทธิ์ใช้ด้วย มีเลนจักรยานที่มีความปลอดภัยมากขึ้น มีการเชื่อมโยงทางจักรยานเข้ากับระบบขนส่งมวลชน ดึงดูดให้คนทั่วไปใช้จักรยานเพื่อการเดินทางไปทำงาน ไปซื้อของกันมากขึ้น
ปริมาณคนขี่จักรยานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเมืองใหญ่ มหานครหลายแห่งในยุโรป เริ่มพบว่าปริมาณการสั่งซื้อน้ำมันจากภายนอกลดลง ลดการใช้เงินตราลงมหาศาล อากาศดีขึ้น ช่วยลดปัญหาโลกร้อน ที่จอดรถหลายแห่งร้างจนต้องทุบทิ้งสร้างเป็นสวนสาธารณะ และที่สำคัญคือยอดการใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนในเมืองลดลง เพราะอากาศดีขึ้น ผู้คนได้ออกกำลังกาย
สิบปีที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานพยายามรณรงค์ให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้เห็นความสำคัญของการให้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง เวลามีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ครั้งใดก็พยายามสื่อสารเรียกร้องมาโดยตลอด แต่ทุกครั้งก็เห็นแต่การสร้างภาพด้วยการปั่นจักรยานเล่นๆ เพื่อการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ แล้วตั้งหน้าเวนคืนบ้านเรือนผู้คนเพื่อตัดถนนไปเรื่อยๆ
อีกด้านหนึ่งมหานครใดมีการจราจรติดขัด ยิ่งต้องปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อฟอกปอดของคนในเมือง และเพื่อทำให้รู้สึกว่าชีวิตร่มรื่นและรื่นรมย์บ้างจากสีเขียวของต้นไม้ใหญ่ ยกตัวอย่างกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียมีพื้นที่เล็กกว่ากรุงเทพฯ เล็กน้อย คือมีประมาณเกือบ ๑ ล้านไร่ แต่เชื่อไหมว่านิวเดลีมีพื้นที่สีเขียวหรือป่ารวมแล้วประมาณ ๗ หมื่นกว่าไร่ ขณะที่กรุงเทพฯ ของเรามีเพียง ๑๒,๐๐๐ กว่าไร่
กรุงนิวเดลีติดอันดับ ๙ ขณะที่กรุงเทพฯ ติดอันดับ ๔ ของประเทศที่การจราจรเลวร้ายที่สุดในโลก แต่เขามีพื้นที่สีเขียวมากกว่าเราเกือบ ๗ เท่า
ณ วงเวียนจราจรหลายแห่งกลางเมือง คนอินเดียจะปลูกต้นไม้ใหญ่ในใจกลางรถยนต์ที่ติดขัด แต่ที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ในอดีตเคยเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ก็ถูก กทม. ตัดเหี้ยนเป็นแห่งสุดท้าย จนผมนึกไม่ออกว่ามีวงเวียนใดในกรุงเทพฯ ที่เป็นสวนสาธารณะมีต้นไม้ใหญ่ มิใช่แค่สวนหย่อมหรือสวนไม้ดอกไม้ประดับ ซอยบางแห่งที่มีต้นไม้ใหญ่ วันดีคืนดีก็อาจถูก กทม. มาตัดต้นไม้ออกโดยอ้างว่า เพื่อปรับปรุงพื้นผิวการจราจร และล่าสุดต้นไม้ใหญ่กว่า ๑,๐๐๐ ต้น ในสวนรถไฟก็เกือบถูกตัดโค่นลงเพื่อเปลี่ยนเป็นสนามหญ้า หากไม่มีคนออกมาโวยวายเสียก่อน
ทางจักรยานและสวนสาธารณะจึงเป็นสิ่งที่คนในเมืองใหญ่ต้องการมากกว่าสิ่งอื่นใด
ตอนนี้เทศกาลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครกำลังมาถึงแล้ว ในฐานะคนกรุงเทพฯ ผมไม่อยากได้ผู้ว่าฯ ที่มาเล่นปาหี่ เล่นลิเก ล้วงท่อ กวาดขยะ ทอดกล้วยแขกกลางถนนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ผมอยากได้อากาศดี อยากเห็นสวนสาธารณะที่ให้คนแก่ เด็กเล็ก และคนทั่วไปมีที่ผ่อนคลาย ออกกำลังกาย
ผมอยากได้ทางจักรยานเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางจากการจราจรอันติดขัด ไม่ใช่ขี่ไปเที่ยวโชว์ตัวเหมือนผู้สมัครผู้ว่าฯ ทุกคน
ผมอยากบอกว่าถนนไม่ใช่พื้นที่ของรถยนต์เท่านั้น รถจักรยานก็มีสิทธิ์ใช้ถนนด้วย
ในฐานะคนกรุงเทพฯ ผมขอมา ๑๐ กว่าปีแล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะผู้ว่าฯ ที่ผ่านมารับปากทุกเรื่อง และหายไปพร้อมกับปาหี่กลางถนนหลังจบการเลือกตั้ง
Comments
Pingback: ฉบับที่ ๓๓๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖