ครั้งหนึ่งกับอาจารย์ป๋วย

๙ มีนาคมนี้ ถ้าอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีชีวิตอยู่ จะมีอายุครบรอบ ๙๗ ปี แต่ท่านจากแผ่นดินไปแล้ว ๑๔ ปี

อาจารย์ป๋วยไม่เคยมีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ มีตำแหน่งสูงสุดในอาชีพราชการ คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่ชีวิตของท่านกลายเป็นตำนานที่ผู้คนกล่าวขานกันตั้งแต่เมื่อท่านมีชีวิตอยู่จนกระทั่งเสียชีวิตไปแล้ว

ผมรู้จักชื่อกับตัวจริงของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตั้งแต่เป็นนักเรียนอัสสัมชัญชั้น ป. ๒-๓ จำได้ว่าแต่ละปีหลังจากประกาศผลสอบไล่ปลายปีแล้ว ทางโรงเรียนจะเชิญศิษย์เก่าดีเด่นและทำคุณประโยชน์ให้สังคมไทยมาแจกประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนเรียนดี คือสอบได้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพื่อให้นักเรียนได้เห็นแบบอย่างที่ดีและเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อในอนาคต

ปีนั้นทางอธิการได้เชิญนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาแจกรางวัล ผมจำได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ใส่แว่นใจดี หน้าตาเหมือนคนจีนแบบอาป๊า แต่ไม่รู้ว่าตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ทำอะไร หรือใหญ่โตอย่างไร  รู้แต่ว่าเป็นศิษย์เก่าผู้รักโรงเรียนอัสสัมชัญมาก เวลาทางโรงเรียนเชิญให้มามอบรางวัลท่านไม่เคยปฏิเสธเลย

ในบรรดาศิษย์เก่าอัสสัมชัญ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถือเป็นนักเรียนที่บรรดาครูบาอาจารย์ภาคภูมิใจที่สุดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ความรู้ ความสามารถ และความซื่อสัตย์สุจริต

ป๋วยไม่ใช่ลูกคนรวย พ่อแม่อพยพมาจากเมืองเถ่งไห้ ประเทศจีน บ้านเดียวกับอาป๊าของผม  ท่านขวนขวายจนเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย London School of Economics เกียรตินิยมอันดับ ๑

ในช่วงที่กำลังเรียนหนังสือในประเทศอังกฤษ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒  ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ป๋วยได้อาสาสมัครเป็นเสรีไทยทำงานต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น และเป็นพลร่มเสี่ยงตายกระโดดลงมาบนแผ่นดินไทย เพื่อหวังมาส่งข่าวลับให้นายปรีดี พนมยงค์ จนถูกจับได้เป็นเชลยศึก  ต่อมาเมื่อสงครามสงบได้รับการประดับยศเป็นพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ

เมื่อท่านกลับมาได้เข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง เป็นคนเก่งและมีชื่อเสียงจากความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ยอมก้มหัวให้ผู้มีอำนาจในสมัยนั้น จนก้าวสู่ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่ออายุเพียง ๔๓ ปี และกลายเป็นตำนานของคนที่นั่นมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อท่านได้รับการชักชวนให้มาก่อตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่ให้การศึกษาแก่ท่าน  ตามระเบียบของกรมข้าราชการพลเรือนสมัยนั้น หากทำงาน ๒ แห่ง จะต้องรับเงินเดือนเต็มแห่งหนึ่ง อีกแห่งรับครึ่งเดียว ท่านจึงขอรับเงินเดือนเต็มในฐานะคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ คือ ๘,๐๐๐ บาท และรับเงินเดือนจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติครึ่งหนึ่ง คือ ๒๕,๐๐๐ บาท แทนที่จะทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่ปฏิบัติกัน คือรับเงินเดือนเต็มจากงานที่ได้เงินมากที่สุด

ตอนผมอยู่ชั้น ม.ศ.๓ ผมเป็นสมาชิกค่ายอาสาพัฒนาของโรงเรียน และได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปประชุมเรื่องการพัฒนาชนบท  ผมคงจะอายุน้อยที่สุด เจ้าภาพเลยให้นั่งติดกับอาจารย์ป๋วย ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนใจการพัฒนาชนบทมาโดยตลอด ยังจำภาพท่านถลกแขนเสื้อเชิ้ตสีขาว
ใส่แว่น บางครั้งพ่นควันบุหรี่ปุ๋ยๆ ติดตาได้ดี

หลังจากนั้นไม่นานเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ท่านต้องหนีออกนอกประเทศ  สามปีต่อมาผมเป็นน้องใหม่ วันแรกที่เข้าธรรมศาสตร์ ตรงประตูท่าพระจันทร์มีป้ายหนึ่งขยายลายมืออาจารย์ป๋วยเขียนด้วยมือซ้ายโย้ไปเย้มาเพราะท่านไม่สบาย พูดไม่ได้ มือขวาเป็นอัมพาต เป็นข้อความกล่าวต้อนรับเพื่อนใหม่สั้นๆ แต่สะเทือนใจคนอ่านเป็นยิ่งนัก

สมัยเป็นนักศึกษา ทุกปีเด็กกิจกรรมจะช่วยกันเขียนจดหมายเล่าเรื่องต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยส่งไปให้ท่านที่บ้านพักในประเทศอังกฤษ และขออนุญาตให้ท่านเขียนข้อความสั้นๆ ให้เพื่อนใหม่

ซึ่งท่านก็ไม่ปฏิเสธ  ความอยุติธรรมที่ท่านได้รับจากรัฐบาลเผด็จการในเวลานั้นฝังใจและเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้ผมกลายเป็นนักกิจกรรมเต็มตัว

เมื่อผมจบออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย และได้มาร่วมงานกับนิตยสาร สารคดี  พอถึงฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ ทางกองบรรณาธิการคิดว่าน่าจะทำเรื่องรำลึกถึงอาจารย์ป๋วยผู้ลี้ภัยจากเมืองไทยไปครบ ๑๐ ปี  ผมได้รับมอบหมายให้ทำสกู๊ปเรื่องนี้ เพื่อบันทึกว่าชีวิตของท่านในแดนไกลเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาไม่มีสื่อใดๆ รายงานเรื่องราวของท่านในที่สาธารณะเลย เพราะบรรยากาศทางการเมืองสมัยนั้นยังมีกลิ่นอายขวาพิฆาตซ้าย

เนื่องจาก สารคดี ให้ความสำคัญกับภาพมาก ผมเลยติดต่อคุณปีเตอร์ อึ๊งภากรณ์ ลูกชายคนกลางที่เป็นช่างภาพด้วย ในการนำภาพถ่ายของอาจารย์ที่ประเทศอังกฤษมาเผยแพร่ให้คนได้รับทราบเป็นครั้งแรก และปรากฏการณ์ครั้งนั้นทำให้ สารคดี หมดแผงในเวลารวดเร็ว เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนหลังจากออกจำหน่ายได้ปีกว่าๆ ว่า หนังสืออะไร ช่างกล้าดีแท้

ปี ๒๕๓๐ อาจารย์ป๋วยได้กลับมาเยี่ยมเมืองไทยเป็นครั้งแรก

ผมได้ไปรอต้อนรับท่านที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับลูกศิษย์ลูกหาที่ถือป้ายมีข้อความว่า “ปลื้มใจนักเตี่ยกลับบ้าน” “ลูกโดมมิลืมเลือนอาจารย์ป๋วย” “ยังข้นและยังเข้ม ดุจเกลือเค็มในแผ่นดิน ดีกว่าน้ำปลาริน อันปรุงรสละลายหาย”

ที่บริเวณหน้าตึกโดม ไม่มีแถวกองเกียรติยศคอยต้อนรับ ไม่มีบริวารคอยคุ้มกัน มีเพียงชายชราใจดีผู้หนึ่ง ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้ใด ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ให้คนกลัวเกรง กำลังถูกห้อมล้อมด้วยผู้คนนับร้อยนับพันจากทั่วสารทิศ ซึ่งมาให้กำลังใจบุคคลอันเป็นที่รักผู้ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจมานานนับ ๑๐ ปี

เมื่ออาจารย์มีอายุครบ ๘๐ ปีใน พ.ศ.๒๕๓๙ สารคดี ได้รายงานเรื่องราวเกี่ยวกับตัวท่านเป็นหน้าปกอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงการเปิดใจสัมภาษณ์ จอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เคยเป็นคู่ขัดแย้งกัน ท่านได้พูดถึงอาจารย์ป๋วยเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ตอนหนึ่งว่า เมื่อจอมพลถนอมได้หนีออกนอกประเทศไปพักที่สิงคโปร์ ภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  คุณป๋วยได้แสดงน้ำใจไปเยี่ยมเยียน

“อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีความสามารถมาก ท่านได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญาทุกอย่าง  ผมเคยเชิญท่านมาเป็นรัฐมนตรีด้วย แต่ท่านไม่ขอรับตำแหน่ง ท่านเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา”

๖ สิงหาคม ๒๕๔๒ มีโทรสารจากประเทศอังกฤษฉบับหนึ่งแจ้งข่าวการเสียชีวิตของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ด้วยโรคเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องโป่งแตกด้วยวัย ๘๓ ปี และได้ทำการเผาศพเรียบร้อยแล้ว ตามความประสงค์ของท่านที่เคยเขียนไว้ว่า “ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป”

วันนั้นบุคคลที่ซื่อสัตย์พอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นซื่อสัตย์ตามข้าราชการตัวอย่างที่กล้าคัดค้านและกล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้อง ผู้ใหญ่ผู้เห็นใจและเข้าใจปัญหาของผู้ยากไร้และคนยากคนจน นักวิชาการที่เป็นมิ่งขวัญของนักวิชาการทุกคน ผู้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยด้วยวิญญาณและการกระทำ ผู้ใฝ่สันติที่สอนให้คนต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสังคมอันเป็นธรรมด้วยสันติวิธี ได้จากพวกเราไปแล้ว

หลายวันต่อมาผมอยู่บนเรือหลวง กระบุรี แห่งราชนาวีไทย ร่วมกับผู้คนจำนวนมาก เพื่อนำอังคารของอาจารย์ป๋วยไปลอยทะเลบริเวณใกล้เกาะคราม  ทหารกองเกียรติยศทำความเคารพอดีตเสรีไทยและสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่  เมื่ออังคารถูกโปรยลงสู่ท้องทะเล

เสียงแตรนอนดังขึ้น  คนบนเรือต่างโปรยดอกกุหลาบสีแดงเป็นการแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

บราเธอร์จอห์น แมรี อดีตเพื่อนร่วมงานได้เคยบอกผมในวันที่ทางโรงเรียนอัสสัมชัญได้จัดงานไว้อาลัยและพิธีมิสซาให้แก่ศิษย์เก่าท่านนี้ว่า

“ในบรรดาผู้คนบนโลกนี้ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เปรียบเสมือนคนถือคบไฟคอยส่องแสงสว่างนำทางให้แก่ผู้คน อาจารย์ป๋วยเป็นคนหนึ่งผู้ถือคบไฟส่องสว่างให้คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไป…สัตบุรุษเช่นนี้เราจะลืมไม่ได้”

Comments

  1. สมศักดิ์ แซ่เตีย

    ด้วยจิตคารวะแด่ท่านอาจารย์ป่วย อึ้งภากรณ์
    สัตบุรุษที่ฅนทั้งโลกต้องจารึกและต้องสานต่ออุดมการณ์ที่เป็นธรรม เพื่อความเป็นธรรมนำความสันติสุขยุติธรรมแก่ฅนทั้งโลก

  2. นรงค์ยศ

    ข้อมูล ชีวประวัติอย่างละเอียดตรงไปตรงมา ของคนประเภทนี้ซึ่งยังมีอีกมากมาย ในเมืองไทย หาดูแล้วมีน้อยมากครับ

    เราต้องไปอึ้ง ทึ่ง ประทับใจ อยากเอาแบบอย่าง จากหนังประวัติของบุคคลสำคัญจากหนังที่อเมริกาสร้าง

    ตามนั้น…

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.