ความในใจของนักอนุรักษ์

              gbga8g8e989bha9e8fica

“สิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุนตามธรรมชาติที่ทุกคนได้รับโดยไม่ต้องแปรรูปเป็นเงิน การดูแลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งแวดล้อมพื้นฐานที่มีคุณภาพโดยไม่เบียดเบียนกันจึงควรเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ผู้ใดเรียกร้องหรือสนับสนุนประชาธิปไตยจึงต้องสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อมและตรวจสอบนโยบายที่มุ่งทำลายมันด้วย มิเช่นนั้นก็ถือว่าเป็นแค่พวกสนับสนุนนักการเมืองที่ไม่มีอุดมการณ์ใดๆ ไม่ใช่คนสนับสนุนประชาธิปไตย”

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ตอนผู้เขียนเป็นบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ได้ปีแรก เดินทางไปเก็บข้อมูลในป่าลึก เพื่อมาทำสารคดีเรื่องปัญหาความขัดแย้งของชาวบ้านในพื้นที่ต่อ โครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เพื่อทำการผลิตไฟฟ้าขนาด ๘๐ เมกกะวัตต์ แต่ต้องเสียพื้นที่ป่าดิบหลายหมื่นไร่

ระหว่างทางมีโอกาสได้แวะไปพูดคุยกับคุณสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าอพยพสัตว์ป่าในอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ห่างจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งกรุงไม่ถึงสิบกิโลเมตร แกบอกว่า

“ถ้าเราใช้ป่าทั้งหมดที่เป็นที่เก็บความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว เราจะไปหาความอุดมสมบูรณ์ได้ที่ไหน ธาตุอาหารในดินก็จะไม่ได้ถูกผลิตเพิ่มขึ้นเลย เมื่อป่าถูกเปิดแล้วหน้าดินก็ถูกชะล้าง มันไม่มีตัวที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ได้”

เวลานั้นประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านในสภา ผมจำได้ว่าคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ สส.คนสำคัญของพรรค ได้นำม็อบชาวบ้านจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาประท้วงหน้ารัฐสภา เพื่อสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนแก่งกรุง ตอนนั้นรัฐบาลยังไม่แน่ใจว่าจะสร้างดีหรือไม่ ถูกประชาชนในพื้นที่และนักอนุรักษ์ต่อต้าน หนาแน่น เพราะก่อนหน้านี้มีการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน และก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ทั้งปัญหาน้ำเสีย ปัญหาการสูญเสียที่ดินของชาวบ้าน  โดยเฉพาะพื้นที่ป่าหลายแสนไร่ที่จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ

ตอนนั้นนักอนุรักษ์ถูกด่าจากรัฐบาล สื่อมวลชนว่าเป็นผู้ขัดขวางการเจริญของประเทศ เพราะทำให้รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกการสร้างเขื่อนแก่งกรุง แต่ก็แลกกับการรักษาผืนป่าดิบได้สำเร็จจนปัจจุบันกลายเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ป่าใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้แห่งหนึ่ง

ก่อนหน้านั้น อ้ายพวกนักอนุรักษ์ ก็เคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน เขื่อนขนาดใหญ่กลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวรได้สำเร็จ จนทุกวันนี้ยูเนสโกได้เลือกให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยพร้อมกับป่าห้วยขาแข้ง โดยการผลักดันของคนนักอนุรักษ์ตัวพ่อ สืบ นาคะเสถียร ผู้ทำงานวิจัยชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้พื้นที่กว่าห้าล้านไร่ให้โลกได้รับรู้

หลายปีต่อมานักอนุรักษ์และชาวบ้านในพื้นที่ก็ถูกด่าจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เป็นพวกรับเงินต่างชาติ ขัดขวางการพัฒนา ในข้อหาขัดขวางการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่

อันที่จริงต้องยอมรับว่า ไม่ว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล หรือเป็นฝ่ายค้าน ทั้งสองพรรคไม่เคยทะเลาะกันเลยเรื่องการสร้างเขื่อน เพราะดูเหมือนจำเลยจะมีคนกลุ่มเดียวตลอดคือ นักอนุรักษ์

เป็นความจริงที่ว่า เมื่อเป็นนักการเมืองแล้ว ย่อมต้องสร้างผลงานเป็นรูปธรรมให้ชาวบ้านเห็น เพื่อคะแนนเสียงในสมัยหน้า  และสร้างผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องเพื่อสะสมเสบียงกรัง

การสร้างเขื่อนจึงตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ดี ได้ทั้งกล่องได้ทั้งเงินทอน

เราจึงไม่เคยเห็นนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อน มีแต่พวกนักอนุรักษ์ล้าหลัง นักอนุรักษ์หน้าโง่รับเงินต่างชาติ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนที่ต้องใช้ผืนป่าและชีวิตสัตว์ป่าเป็นเครื่องเซ่นสังเวย

ในยุคที่การเมืองแบ่งออกเป็นสองสี นักอนุรักษ์จำนวนมากก็ถูกกล่าวหา ถูกเหน็บแนมว่าเป็นพวกสลิ่ม ด้วยข้อหาว่า สนใจแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อม สนใจชีวิตของต้นไม้และสัตว์ป่า มากกว่าสนใจปัญหาประชาธิปไตย หรือสนใจปัญหาผู้เสียชีวิตในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาสามปีก่อน

ทั้ง ๆที่คนเหล่านี้อาจจะใส่ใจเรื่องนั้นอย่างเงียบ ๆ แต่ไม่ได้แสดงออกให้เห็นชัดเจนกว่าความสนใจในด้านธรรมชาติ เพียงแค่นี้ก็ถูกติดป้ายโดยง่ายดาย

แต่ไม่ต้องแปลกใจหากลองมองย้อนไปในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมาจะพบว่า  ผู้ที่ส่งเสียงเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย มักจะเสียงดังกว่าผู้ที่ส่งเสียงเรื่องสิ่งแวดล้อมเสมอ

เราเห็นคนที่พูดเรื่องประชาธิปไตย ก้าวขึ้นมาเป็นนักการเมือง รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมากมายทุกยุคทุกสมัย แต่แทบจะไม่เคยเห็นคนที่สนใจสิ่งแวดล้อมก้าวขึ้นมาเป็นนักการเมืองเลย

เพราะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายคนต่างมีวาระซ่อนเร้นเรื่องการก้าวสู่อำนาจทางการเมือง แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมแทบไม่ได้แสวงหาอำนาจทางการเมือง

ปัญหาสิ่งแวดล้อมดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก คนในประเทศที่เจริญแล้วให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมชัดเจน แม้กระทั่งประเทศลาวหรือพม่า ขณะที่ประเทศไทย พรรคใดที่ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมีเขียนเอาไว้พอเป็นพิธีให้ดูดี

แต่เอาเข้าจริงแล้วปัญหาประชาธิปไตยกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน คือเรื่องของความเท่าเทียมกัน ในการใช้หรืออนุรักษ์ทรัพยากร ไม่ใช้ถูกผูกขาดการใช้ทรัพยากรโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องฟังเสียงคนในสังคมอย่างเท่าเท่ยมกัน

ล่าสุดโครงการป้องกันน้ำท่วมมูลค่า ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาทของรัฐบาลชุดนี้ ที่มีวาระการสร้างเขื่อนจำนวนมาก แต่ไม่เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความเห็นของฝ่ายอื่น กลับใช้คำพูดหยาบคาย บริภาษด่าว่า พวกนักอนุรักษ์ผู้ออกมาเพียงขอข้อเท็จจริงของโครงการนี้ว่าเป็น พวกขยะ เรียกร้องให้บรรดาพวกนิยมความรุนแรงออกมากำจัดให้สิ้นซาก

ราวกับว่ากำจัดขยะเหล่านี้ให้หมดเมื่อใด ประเทศนี้จะเจริญรุ่งเรือง ไม่มีคนมาคอยขัดขวางการพัฒนาประเทศ

แต่อันที่จริง พวกขยะเหล่านี้ อาจจะมีความคิดล้ำหน้ากว่ายุคสมัย

หลายสิบปีก่อน นักอนุรักษ์เคยเตือนรัฐบาลเรื่องนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่า หากไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ อาจจะสร้างผลเลวร้ายต่ออุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อรัฐบาลไม่ฟังเสียงเตือน สุดท้ายเมื่อมีคนไปร้องเรียนศาลปกครองเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศที่คร่าชีวิตผู้คนหลายคน สุดท้ายศาลก็สั่งให้โรงงานเหล่านั้นหยุดกิจการชั่วคราว สร้างมูลค่าความเสียหายในเวลานั้นนับแสนล้านบาททีเดียว

หลายปีก่อนนักอนุรักษ์เป็นคนจุดประกายรณรงค์ให้จักรยานเป็นทางเลือกในการคมนาคม โดยรัฐบาลไม่เคยสนใจ จนปัจจุบันนี้กระแสการขี่จักรยานได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้คนจำนวนมาก ลดการใช้น้ำมัน ลดการปล่อยควันพิษมหาศาล  แต่นักอนุรักษ์เหล่านี้ไม่เคยออกมาบอกว่าตัวเองเป็นผู้ริเริ่ม เพราะสุดท้ายนักการเมืองก็มาเอาเครดิตเรื่องนี้ไปเต็ม ๆในช่วงหาเสียง

ไม่นับรวมผืนป่าบางส่วนของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แก่งกรุง แก่งเสือเต้น และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เกือบกลายเป็นอ่างเก็บน้ำหลายล้านไร่ หากนักอนุรักษ์ไม่พร้อมใจกันออกมาคัดค้านมาโดยตลอด

ถามว่าบรรดานักอนุรักษ์ที่ต่อสู้เพื่อธรรมชาติได้อะไร นอกจากคำก่นด่าว่า สลิ่ม ขยะ รับเงินต่างชาติ พวกล้าหลัง ขัดขวางการพัฒนา สารพัดข้อกล่าวหา โดยที่แทบจะไม่มีเครื่องมือในการตอบโต้ หรือเครื่องมือในการต่อสู้ใด ๆ

พวกเขาได้แต่นิ่งเงียบ อดทน เพราะรู้ดีว่า พวกเขาต่อสู้ให้ธรรมชาติได้ดำรงอยู่ เพื่อคนรุ่นหลัง ต่อสู้เพื่อคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสุดท้ายต่อสู้เพื่อชีวิตของสรรพสัตว์ในโลกนี้ที่ควรจะได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากมนุษย์มากนัก

นักอนุรักษ์ต่อสู้เพื่อธรรมชาติมานานแล้ว นานก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมือง นานก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างสี พวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม ไม่เคยได้รับการยกย่อง ไม่เคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ใด ๆ  มีแต่การถูก กล่าวหา ดูหมิ่น เหยียดหยาม เหน็บแนมจากทุกฝ่าย

แต่นักอนุรักษ์คงต่อสู้อย่างเงียบ ๆ ต่อไป พวกเขาจำเป็นต้องมองข้ามความเจ็บปวดที่ถูกกระทำในปัจจุบัน และสิ่งที่เขากระทำจะได้รับการพิสูจน์ในอนาคต

สารคดี มิย.13

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.