งานวิจัยสร้างชาติ

news_img_508033_1

“งานวิจัยวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ”

เราคงได้ยินคำพูดนี้มาบ่อย ๆ  แต่ไม่ทราบว่าจะเข้าหูนักการเมืองหรือไม่

เคยได้ยินเรื่องอำกันในวงเหล้าไหมครับว่า  มีรายงานข่าวแจ้งว่า เขาค้อ เขาทราย กาแล็กซี่ ฝาแฝดชื่อดังอดีตนักชกมวยแชมป์โลกชาวไทย ได้ประกาศว่า พบน้องชายฝาแฝดคนสุดท้องแล้ว ไปเติบโตที่ประเทศเกาหลีใต้ ตอนนี้มีชื่อดังไปทั่วโลก มีนามว่า

“ ซัมซุง กาแล็กซี่”

แม้จะเป็นเรื่องขำ ๆ แต่เรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มือถือยี่ห้อนี้ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของยอดขายสมาร์ทโฟน สามารถขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก แซงหน้าไอโฟนไปแล้ว

สมัยก่อน เจ้าผู้ครองตลาดโทรศัพท์มือถือทั่วโลก มีแค่ยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่นเท่านั้น คือ โนเกีย โซนี่ โมโตโรล่า อิริคสัน ไอโฟน แต่ตอนนี้มือถือสัญชาติเกาหลีกวาดเรียบ

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ เกาหลีให้ความสำคัญกับการสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยพื้นฐานมาโดยตลอด

แม้ว่าที่ผ่านมาในอดีตเกาหลีใต้จะประสบปัญหาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานมาตลอด หลายครั้งเกิดรัฐประหาร มีสงครามกลางเมือง เกิดความขัดแย้งในรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ถึงกระนั้นก็ตามที่ผ่านมา แทบทุกรัฐบาลต่างให้ความสำคัญกับการทุ่มทุนงบประมาณด้านงานวิจัย เพื่อสร้างรากฐานของประเทศมาตลอด สามารถผลิตนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก เพื่อสร้างสินค้าไฮเทคของตัวเอง จนไม่น่าแปลกใจ เราเห็นแบรนด์สินค้าเกาหลีใต้ตีตลาดโลกเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ฮุนได แดวู คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถืออย่าง แอลจี ซัมซุง ฯลฯ

รัฐบาลเกาหลีใต้จับมือกับภาคเอกชน ลงทุนสร้างนักวิทยาศาสตร์ สร้างนักวิจัย ไม่กี่หมื่นล้านดอลล่าร์ แต่สามารถสร้างผลผลิตออกไปตีตลาดทั่วโลกได้หลายล้านล้านดอลล่าร์ทีเดียว

ข้ามไปที่ประเทศอินเดีย ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศยากจน แต่วันนี้อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดกันบ้าง เพราะอินเดียปัจจุบันกลายเป็นประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงแห่งหนึ่งของโลก

หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ยุคประเทศได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศอินเดียเติบโตมาพร้อม ๆกับประเทศปากีสถาน แต่ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาดูเหมือนอินเดียจะทิ้งปากีสถานหลายช่วงตัว อินเดียกำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่

เหตุผลประการหนึ่งต้องยอมรับว่า ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย การเมืองของปากีสถานยังล้มลุกคลุกคลาน มีรัฐประหารสลับกับการเลือกตั้งมาโดยตลอด ขณะที่อินเดียมีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่า

แต่เหตุผลสำคัญอีกประการคือ รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญในด้านการศึกษามาโดยตลอด และทุ่มทุนสร้างนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักคอมพิวเตอร์และนักวิจัยมานาน เมื่ออินเดียเปิดประเทศให้นักลงทุนจากทั่วโลกมาตั้งโรงงานอุตสาหกรรม อินเดียได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ตรงที่มีการเตรียมแรงงานคุณภาพสูงจำนวนมาก และค่าจ้างถูกกว่าประเทศอื่น

ไม่นานอินเดียจึงโดดเด่นในอุตสาหกรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ คอมพิวเตอร์ ไอที โรงงานระดับโลกจากยุโรป และอเมริกาอาทิ IBM  Microsoft  Dell มุ่งหน้ามาลงทุนที่นี่ โดยเฉพาะในเมืองบังกาลอร์  ที่ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และไอทีของอินเดีย จนฝรั่งมั่นใจในคุณภาพของคนที่การศึกษาจากสถาบันนี้

ทุกวันนี้แค่ในเมืองบังกาลอร์มีวิศวกรอินเดียทำงานในโรงงานชื่อดังถึง 150,000 คน

ล่าสุดอินเดียกำลังจะเป็นผู้นำแบบก้าวกระโดดทางด้านการรับออกแบบเกมคอมพิวเตอร์และภาพการ์ตูนแอมมิเนชั่น

สิบกว่าปีที่ผ่านมา อินเดียจึงเจริญกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายช่วงตัว ด้วยเหตุผลที่ตอกย้ำว่า ประเทศเจริญแล้ว ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและการสร้างนักวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างชาติ

หากลองมาดูค่าใช้จ่ายด้านงานวิจัยและพัฒนาเทียบเป็นเปอร์เซนต์ของ GDP (Gross Domestic Product) หรือ ผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศ จะพบว่า

ญี่ปุ่น 3.4%
เกาหลี 3.27%
สหรัฐอเมริกา 2.82%
สิงคโปร์ 2.27%
จีน 1.42%
มาเลเซีย 0.64%
ไทย 0.25%
มองโกเลีย 0.21%

มีนัยะว่า ประเทศไทยให้ความสนใจกับการสร้างงานวิจัยต่ำมาก และเมื่อมองย้อนกลับมาที่ หน่วยงานอันดับหนึ่งของประเทศไทยในการผลิตนักวิทยาศาสตร์ สร้างนักวิจัย คือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานในกำกับของ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

งบประมาณที่ทาง สวทช.เคยได้รับปีละ สามพันกว่าล้านบาท ได้ถูกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลตัดงบประมาณลงไปเกือบพันล้านบาท โดยอ้างความสิ้นเปลือง ความไม่คุ้มค่าในงานวิจัย ซึ่งน่าจะแสดงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลชุดนี้ได้เป็นอย่างดี และไม่นานก็ได้ข่าวว่า งบวิจัยกว่าหลายร้อยล้านบาท กลับกลายเป็นงบหาเสียงในพื้นที่ของนักการเมืองคนนั้น

หากบรรดานักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของสวทช. ที่ไม่เคยมีเรื่องมีราวกับนักการเมืองเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ครั้งนี้พร้อมกันลุกขึ้นมาแต่งชุดดำประท้วงรัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติท่านนี้

คงสะท้อนได้ว่า ความเสื่อมโทรมของวงการวิทยาศาสตร์กำลังตั้งเค้าทะมึนจริง ๆ

กรุงเทพธุรกิจ  20 มิย. 56

 

Comments

  1. sarun

    บางครั้งงานวิจัยที่ทำ ก็เพียงแค่ให้มีผลกับตำแหน่งทางวิชาการ ไม่ได้ต่อยอดทางความคิด เหมือนกับใครพอใจจะทำเรื่องไหนก็ทำ ขอให้ต่างจากคนอื่นเป็นพอ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.