เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วหน้าชายฝั่งระยอง เมื่อวันที่ 27 กค. 2556 น่าจะเป็นอุบัติเหตุน้ำมันรั่วกลางทะเลร้ายแรงที่สุดในอ่าวไทยก็ว่าได้
เช้ามืดของวันนั้น เรือบรรทุกน้ำมันดิบที่ลอยเรืออยู่ห่างจากท่าเรือมาบตาพุดประมาณยี่สิบกิโลเมตร กำลังถ่ายน้ำมันดิบผ่านทุ่นรับน้ำมันดิบ มายังโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท PTTGC บนฝั่ง แต่ได้เกิดรอยแตกรั่ว ทำให้น้ำมัน 50,000 ลิตร กระจายออกสู่ทะเล ต่อมาคราบน้ำมันบางส่วนได้ลอยเข้าสู่อ่าวมะพร้าว เกาะเสม็ด สร้างความเสียหายให้กับชายหาด ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศในระยะยาว ไม่นับรวมถึงปัญหาการท่องเที่ยว พี่น้องชาวประมงต้องขายรายได้จากการออกหากุ้ง หอย ปู ปลา ประเมินความเสียหายไว้หลายพันล้านบาท
แม้ว่าจะมีการระดมเจ้าหน้าที่ออกมาเก็บกวาดแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า บริษัทกลุ่มปตท. ได้สนใจแก้ปัญหาครั้งนี้มากน้อยเพียงใด จึงส่งผลกระทบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ไม่ว่าความล่าช้าในการแก้ปัญหา ความอ่อนด้อยประสบการณ์ในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินแบบนี้ แต่ที่สำคัญคือท่าทีตอนแรกของผู้บริหารระดับสูงของปตท.บางคนที่ใช้คำพูดอันแข็งกร้าว และมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเล็กน้อย ประมาณว่า “เอาอยู่” แต่สุดท้ายความเสียหายก็ลุกลามใหญ่โตเป็นข่าวดังทางสื่อมวลชนติดต่อกันหลายวัน
น้ำมันรั่วกลางทะเลที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง ได้สะท้อนถึงภาพขององค์กรขนาดยักษ์ที่พยายามประกาศว่าตัวเองเป็นองค์กรสีเขียว มีการทำกิจกรรมมากมายเพื่อตอบย้ำภาพลักษณ์นี้ ไม่ว่าการปลูกป่าหลายล้านไร่ การให้รางวัลบุคคลหรือชุมชนที่รักษาป่า จนได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่นระดับนานาชาติมากมายว่า
เอาเข้าจริงแล้วปตท. ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังทุกขั้นตอน ทุกระดับ หรือเป็นแค่การสร้างภาพลักษณ์องค์กร
ต้องยอมรับว่า สิบกว่าปีที่ผ่านมา บริษัทกลุ่มปตท.หมดเงินไปกับค่าโฆษณา ประชาสัมพันธ์หลายพันล้านบาท เพื่อสร้างภาพว่าใส่ใจสิ่งแวดล้อม จนเกิดภาพจำว่า หากคิดถึงการปลูกป่า คิดถึง ปตท. แต่เงินเหล่านี้แทบจะไร้ค่า เมื่อเกิดน้ำมันรั่วกลางทะเล ภาพลักษณ์ที่พยายามสร้าง เสียหายยับเยิน จากที่ก่อนหน้านี้ก็เคยถูกกล่าวหาว่า ทำลายป่า เมื่อครั้งมีโครงการสร้างท่อก๊าซจากพม่าผ่านเข้ามาเมืองไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ทำให้มีการเปิดพื้นที่ป่าหลายแห่งในจังหวัดกาญจนบุรี และถูกกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติคัดค้านอย่างหนัก และมาบัดนี้ภาพพจน์ของปตท. ก็กำลังจะกลายเป็น ผู้ทำลายทะเลไทย
อันที่จริง ธุรกิจน้ำมัน ปิโตรเคมี หรือก๊าซธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการขุดเจาะ หรือการขนส่งกลางทะเล ล้วนแต่มีความเปราะบางต่อการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างง่ายดาย มีตัวอย่างจากทั่วโลก ที่แสดงให้เห็นว่า อุบัติเหตุทางทะเล เป็นเรื่องรุนแรงและส่งผลกระทบมหาศาล แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัทปตท. ก็ไม่แตกต่างจากผู้บริหารของกลุ่มกิจการน้ำมันทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นวิศวกร มักมีความเชื่อมั่นตัวเองสูงว่า รู้ทุกเรื่องดี แม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ได้เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความสลับซับซ้อนอย่างเพียงพอ คิดว่าอุบัติเหตุครั้งนี้จัดการได้ หรือเอาเข้าจริงแล้วก็อาจจะมองนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงแค่ CSR เพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรสีเขียว แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ใน DNA ขององค์กร ซึ่งพนักงานทุกระดับ โดยเฉพาะระดับบริหารจะต้องใส่ใจ เข้าใจกับเรื่องนี้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การซื้อสื่อ โฆษณาสร้างภาพพจน์ หรือทำ CSR ปลูกป่า แยกขยะ ใช้ถุงผ้า ฯปิดไฟ ปิดแอร์ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากน้ำมันรั่วกลางทะเล นอกจากถือเป็นการซ้อมใหญ่ราคาแพงแล้ว ยังเป็นเครื่องเตือนสติองค์กรขนาดใหญ่อีกหลายแห่งในประเทศ ในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมามักจะให้ความสำคัญกับความ เสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงจากอุบัติภัย ความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือ ส่วนความเสี่ยงที่มองว่า ธุรกิจขององค์กรจะไปสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพียงใด ไม่ค่อยให้น้ำหนักมาก
บทเรียนครั้งนี้ คงทำให้หลายองค์กรที่ฉลาดและเข้าใจต้องหันมาทบทวนการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
เพราะภาพลักษณ์ที่อุตส่าห์ลงทุนสร้างมานับสิบปี หายวับไปกับตาเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อน้ำมันดิบสีดำยกพลขึ้นหาดพร้าวเกาะเสม็ด
กรุงเทพธุรกิจ 15 สิงหา 56