ช่วงนี้อากาศร้อนจัดและยุงชุมใช่ไหมครับ
ทุกบ้าน ทุกที่ทำงานบ่นกันมากว่ายุงชุมมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว จนทำให้ยอดขายไม้ตียุงพุ่งพรวดเป็นประวัติการณ์เพื่อนที่เคยอดทนไม่ตบยุง ตียุงมานาน ก็ตบะแตกกันคราวนี้ เพราะทนไม่ไหวที่ยุงเยอะมากจริง ๆ
พรรคพวกบอกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะอากาศหนาวที่ต่อเนื่องยาวนาน และปุบปับอากาศก็อุ่นขึ้นทันที ทำให้ยุงที่ไม่ได้ออกลูกออกหลานมานาน ก็เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วจากอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ระยะฟักตัวของไข่เร็วขึ้น
พูดง่าย ๆ คือบรรดายุงอั้นกันมานาน พออากาศร้อนขึ้นก็ขยายพันธุ์ทีเดียวเต็มบ้านเต็มเมือง
แต่ในความเป็นจริง ปัญหายุงชุมจะอยู่กับมนุษย์ไปตลอด จากวิกฤติโลกร้อน อากาศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วไปทั่วโลก จนไม่สามารถพยากรณ์ได้อีกต่อไป เดี๋ยวหนาวจัด เดี๋ยวร้อนจัด
โลกร้อนทำให้เกิดปัญหายุงชุมมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีอีกหลายปัญหาที่ดูเหมือนมนุษย์จะแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
“การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มความเสี่ยงในความขัดแย้ง เรื่องความหิวโหย น้ำท่วม ภัยแล้ง การอพยพครั้งใหญ่ในศตวรรษนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน ความเสียหายจากก๊าซเรือนกระจกที่มีต่อระบบนิเวศ ได้เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าล้านล้านดอลล่าร์ และความเสียหายจะเพิ่มขึ้นทุกองศาที่สูงขึ้น…..หลายสิ่งหลายอย่างไม่อาจจะหวนกลับคืนมาได้ เหมือนเดิม หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น”
นี่คือบทสรุปจากรายงานการประชุมของ IPCC (intergovernmental Panel and Climate Change )หรือองค์กรนานาชาติทางการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเมื่อไม่นานมานี้ IPCC เป็นองค์กรที่จัดตั้งขั้นในปี 1988 ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรนานาชาติที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด ไม่โอนเอียงไปฝ่ายใด โดยใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน ในการรายงานผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนอย่างตรงไปตรงมา
นักวิจัยได้รายงานว่า ภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ได้ทำให้เกิดการละลายของธารน้ำแข็งในแอฟริกาตะวันออก เทือกเขาแอลปส์ ในทวีปยุโรป เทือกเขาแอนดิสในทวีปอเมริกาใต้ ปรากฎการณ์การฟอกขาวของประการัง ตั้งแต่ทะเลแคริเบียน ไปจนถึงบริเวณชายฝั่งทวีปออสเตรเลียที่เรียกว่า Great Barrier Reef และปัญหาเส้นทางอพยพของปลาแซลมอนในชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือที่เปลี่ยนไป จนส่งกระทบต่อการทำจับปลา และปัญหาองุ่นสุกเร็วเกินไปในออสเตรเลีย และนกอพยพจากซีกโลกใต้ขึ้นไปทวีปยุโรปเร็วขึ้น
“ตอนนี้ชัดเจนมากว่า ธรรมชาติทั่วโลกกำลังปรับตัวอย่างรุนแรง และเราต้องพยายามบรรเทาความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ยิ่งเราทำได้เร็วขึ้น โอกาสจะลดความหายนะร้ายแรงที่สุดก็มีมากขึ้น” ราเจนดร้า พาเชาริ ประธาน IPCC
ในปีค.ศ. 2009 ทั่วโลกล้มเหลวในการช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำโดยประเทศจีนปฏิเสธลดการปล่อยก๊าซด้วยเหตุผลว่า จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา ต้องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่เหมือนประเทศในยุโรป ที่เจริญแล้ว ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มันเริ่มต้นเมื่อร้อยปีก่อน เมื่อมีการขุดน้ำมันมาใช้ และฟอสซิลเหล่านี้ได้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นมา และตอนนี้เรากำลังได้รับผลกรรมจากสิ่งที่มนุษย์เราทำขึ้นมาเอง
สิ่งที่ IPCC กำลังเตือนภัยคือ หายนะครั้งสำคัญกำลังมาเยือนทั้งโลกแล้ว การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่ใช้ ความน่ากลัวชั่วครู่แล้วหายไป เพราะเมื่อมันเกิดขึ้น ได้ส่งผลกระจายไปทั่วโลก และหลายสิ่งที่ถูกทำลายลงไปอาจจะไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีก โดยเริ่มจากการทำลายประการัง การละลายของก้อนน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ และการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำจืดหลายชนิด
IPCC ได้เตือนทั่วโลกว่า ปัญหาใหญ่ที่มนุษย์กำลังเผชิญหน้าคือ การขาดแคลนน้ำและการผลิตอาหารไม่เพียงพอ เมื่อเจ็ดปีก่อน นักวิจัยทั่วโลกยังไม่ค่อยให้ความสนใจต่อภัยคุกคามพืชเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้มีการชี้ชัดแล้วว่า ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวเจ้า จะมีปัญหาผลผลิตตกต่ำจากอากาศร้อนขึ้น ในอีกสามสิบปีข้างหน้า ประชากรเขตร้อนจะเจอปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
ตั้งแต่ปีค.ศ. 2007 ราคาอาหารเกษตรขยับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามผลผลิตที่ลดลง และการทำประมงในเขตร้อนก็กำลังเจอปัญหาจับปลาได้น้อยลง เพราะฝูงปลาจำนวนมากได้อพยพขึ้นทางเหนือมากขึ้นจากอุณหภูมิในท้องทะเลสูงขึ้น
ไม่เกินแปดสิบปี ทั่วโลกจะเจอปัญหาการขาดแคลนปลาอย่างรุนแรง
สุดท้ายปัญหาที่มนุษย์มิอาจหลีกเลี่ยงได้คือ สงครามกลางเมืองหรือระหว่างประเทศเพื่อแย่งชิงทรัพยากร
การละลายของธารน้ำแข็ง น้ำแห้งจากภัยแล้ง จะทำให้แหล่งน้ำจืดทั่วโลกขาดแคลน ผลผลิตการเกษตรไม่เพียงพอ จะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในสังคมชนบททั่วโลก อาจเกิดสงครามแย่งชิงอาหาร และประเทศที่ติดชายฝั่งทะเล เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดการท่วมพื้นที่ชายฝั่ง ส่งผลให้เกิดการอพยพผู้คนหลายร้อยล้านคน เกิดการแย่งชิงบุกรุกพี้นที่
ไม่นับรวมถึงความเจ็บป่วย การบาดเจ็บ ความตายของผู้คนจากคลื่นร้อน ไฟป่า อาหาร น้ำไม่สะอาด จนเกิดโรคระบาดตามมา
กรุงเทพธุรกิจ
18 เมษ. 2557