“สังคมจะรุ่งเรือง ถ้าคนแก่ปลูกต้นไม้ สร้างร่มเงาให้เด็กๆ โดยไม่คิดจะเข้าไปนั่งเอง”
สุภาษิตกรีก
หลายปีก่อน มีกิจธุระต้องไปอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่เป็นประจำ สังเกตว่า บ้านพัก ร้านอาหาร มีภาษาญี่ปุ่นและสังเกตเห็นคนญี่ปุ่นมาท่องเที่ยวหรืออาศัยอยู่ในอำเภอนี้มากขึ้นอย่างผิดสังเกต
ผมถามเพื่อนแถวนั้น ได้ความว่า ตอนนี้คนญี่ปุ่นเริ่มมาอาศัยอยู่ในอำเภอเชียงดาวมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนเกษียณอายุ มาใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่ เพราะอากาศดี หนาวเย็น คล้ายญี่ปุ่น ภูมิประเทศสวยงาม สงบ ไม่พลุกพล่านเหมือนที่อื่น ๆ จนปัจจุบันเชียงดาวกำลังกลายเป็นชุมชนคนสูงอายุญี่ปุ่น ที่อพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากอากาศหนาวเย็นสบายแล้ว ค่าครองชีพยังถูกกว่าในประเทศตัวเอง
หันมามองที่บ้านเรา ก็เริ่มจะไม่แตกต่างกันแล้ว
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว (Aging Society) กล่าวคือ ทุกวันนี้เรามีคนอายุเกิน 60 ปีเกือบ 10 ล้านคน จากประชากร 67 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14. โดยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
เป็นความโชคดีของสังคมไทย ที่เรามีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์และสาธารณสุข ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไม่ค่อยมีคนสูงอายุมากนัก ไม่ว่า เขมร ลาว พม่า เวียดนาม เพราะผลจากการมีสงครามใหญ่ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ประชากรรุ่นสงครามตายลงไปเยอะ หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันเป็นผู้สูงอายุไม่มากนัก สังคมส่วนใหญ่จึงมีแต่เด็ก และวัยกลางคน
องค์การสหประชาชาติ ได้นิยามเกี่ยวกับประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไว้ว่า มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิน ร้อยละ 10 และนิยาม “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” เมื่อประชากรอายุ60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเกินร้อยละ 20
คาดว่าอีกสิบปีข้างหน้า ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จำนวนผู้สูงอายุจะมีประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด
กล่าวคือจะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน
ประชากรในวัยทำงานประมาณ 40 ล้านคนจะต้องเป็นภาระต้องหาเลี้ยงผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในอีกไม่กี่ปี ไม่นับรวมถึงการดูแลเด็ก ๆ (0-14 ปี ) ที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้
การที่ครอบครัวไทยมีบุตรน้อยลง หรืออยู่เป็นโสดกันมากขึ้น ก็ช่วยทำให้ประชากรไทยไม่ค่อยเพิ่มมากขึ้น คาดกันว่าอีกสิบปีข้างหน้า ประชากรมีประมาณ 70 ล้านคน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คนรุ่นเด็กจะลดน้อยลง ขณะที่คนรุ่นสูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่คนสูงอายุนอกจากจะไม่มีรายได้แล้ว ยังจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ป่วยเป็นโรคมากมาย ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มะเร็ง เป็นภาระที่รัฐบาลและครอบครัวจะต้องดูแลไปตลอด
เวลาไปกินข้าวกับเพื่อนฝูง บทสนทนาบทหนึ่งที่พลาดไม่ได้คือ การปรับทุกข์กันเรื่อง การดูแลพ่อแม่ผู้ชราในบ้านตัวเอง บ้างแลกเปลี่ยนหาประสบการณ์การดูแล บ้างก็มานั่งระบายถึงความลำบากในการดูแลคนชราที่เจ็บป่วยนอนบนเตียงจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ทำให้บรรดาคนโสดที่ไม่ได้แต่งงาน เริ่มคิดหนัก นึกไปถึงอนาคตว่า หากแก่ตัวลงจะมีใครมาดูแลบ้าง
สาวโสดบางคนเริ่มไปทำสัญญาเช่าซื้อคอนโดมิเนียมในบ้านพักคนชราสวางคนิวาส อย่างน้อยมีคนดูแลยามแก่ชรา
ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตที่ต้องมีการเตรียมการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น แต่ดูเหมือนรัฐบาลยังไม่ตั้งรับกับปัญหาการก้าวสู่สังคมคนสูงอายุที่ประเทศไทยใช้เวลาเดินทางแค่ยี่สิบกว่าปี
ขณะที่กลุ่มประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นประเทศเจริญแล้ว ใช้เวลาค่อนข้างนาน เช่น ฝรั่งเศสใช้เวลา 115 ปี สวีเดน 85 ปี ออสเตรเลีย 73 ปี สหรัฐอเมริกา 69 ปี เป็นต้น ทำให้มีเวลาปรับตัวและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างเพียงพอ
และกลุ่มประเทศต่อมา ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ใช้เวลาสั้นกว่ามาก เช่น ชิลี 27 ปี จีน 26 ปี ไทย 22 ปี บราซิล 21 และสิงคโปร์ 19 ปี เป็นต้น ทำให้มีเวลาเตรียมตัวน้อย
หรือเป็นเพราะรัฐบาลและผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุ จึงอาจมองข้ามปัญหานี้
อายุเฉลี่ยของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. คือ 70 ปี ขณะที่ตัวรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดนี้ส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปี ล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุกันถ้วนหน้า
ยังไม่เคยมีบทวิจัยว่า หากผู้มีอำนาจส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จะเกิดอะไรขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะมีประสบการณ์ที่มีมากกว่าคนวัยอื่น แต่ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
แต่ส่วนตัวมีความเชื่อว่า
ความหลากหลายของอายุทำให้สังคมแข็งแรง
หากคนมีอำนาจประกอบด้วยคนหลายรุ่น หลายอายุ จะทำให้มิติการมอง การแก้ปัญหามีความคมชัดมากขึ้น
แต่เมื่ออำนาจรัฐอยู่แต่ในคนสูงวัยรุ่นเดียวกัน สังคมจะแข็งแรงหรือไม่
อนาคตจะตอบตัวเอง
กรุงเทพธุรกิจ 18 กย. 57
Comments
Old cowboys never die.