๓ มีนาคมที่ผ่านมา มีการถ่ายทอดสดงานประกวดรางวัลออสการ์ ประจำปี ๒๐๑๔ ถือว่าเป็นงานประกวดภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ที่สุด มีผู้ชมให้ความสนใจทั่วโลก ว่าใครจะเป็นดารานำฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง ภาพยนตร์เรื่องใดจะได้ตุ๊กตาทองคำ และปีนี้ดูเหมือนจะมีคนดูมากที่สุดในรอบสิบปี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จของการถ่ายภาพแบบ selfie
หลายคนคงเคยเห็นภาพพิธิกรชื่อดัง Ellen DeGeneres ผู้มาเป็นพิธีกรการถ่ายทอดสดครั้งนี้ ได้ถ่ายภาพ selfie ตัวเองและดาราฮอลลีวู้ดชื่อดังหลายคนอาทิ เมอริล สตีฟ, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์, แบรด พิตต์, แองเจลินา โจลี, ลูปิตา นียองโง, จูเลีย โรเบิร์ต, แบรดลี คูเปอร์, จาเร็ด เลโต ออกเผยแพร่ไปในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จนกลายเป็นไฮไลท์สำคัญของงาน แย่งซีนผลการประกวดรางวัลไปถนัดใจทีเดียว
เพียงชั่วโมงเดียวที่เธอส่งรูปไปใน ทวิตเตอร์ ก็มีคนรีทวีตไปถึง ๑,๐๗๖,๙๗๑ ครั้ง จนทวิตเตอร์เกิดล่มไปยี่สิบนาที ทิ้งห่างสถิติสูงสุดเดิมของประธานาธิบดีโอบามา ที่เคยทำไว้ ๗๗๘,๐๐๐ ครั้ง ปัจจุบันมีคนรีทวีตภาพนี้ประมาณสามล้านกว่าคน ถือเป็นการรีทวีตมากที่สุดในโลก
แต่คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากทอล์กออฟเดอะทาวน์ครั้งนี้ ไม่ใช่พิธีกรหรือดาราฮอลลีวู้ด แต่กลับเป็นโทรศัพท์มือถือ Samsung ที่เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ของการจัดการประกวดรางวัลออสการ์ครั้งนี้ โดยทุ่มเงิน ๒๐ ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาเพื่อหวังจะบุกตลาดมือถือในทวีปอเมริกาเหนือ โค่นคู่แข่งสำคัญอย่าง Apple
คนทั่วโลกต่างเห็นว่า ภาพ selfie ชื่อดังนี้ ถูกบันทึกด้วยโทรศัพท์มือถือ Samsung รุ่น Galaxy Note 3 และเบื้องหลังชองความสำเร็จเกิดขึ้นเมื่อ Ellen DeGeneres มีความคิดจะถ่ายภาพระหว่างงานประกวด ทางทีมงานเลยเปลี่ยนให้เธอใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อของสปอนเซอร์รายใหญ่ถ่ายภาพแทนมือถือไอโฟนของเธอที่ใช้เป็นประจำ ถึงขนาดต้องมีคนมาติวเข้มสอนวิธีการถ่ายภาพกล้องยี่ห้อนี้ก่อนงานจะเริ่มไม่นาน
Samsung ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดทางโซเชียลมีเดีย วางแผนผ่านการถ่ายภาพแบบ Selfie และจับมือกับสถานีโทรทัศน์ ABC ผู้ถ่ายทอดสด พยายามให้เห็นสินค้า Samsung ปรากฎอย่างเนียน ๆ ที่ภาษาโฆษณาเรียกว่า Tie-In ตลอดงาน เป็นการย้ำแบรนด์สัญชาติเกาหลีจนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
อย่างไรก็ตาม ภาพถ่าย Selfie ในสื่อออนไลน์ได้ผลในการโฆษณามือถือของ Samsung มากกว่าการโฆษณาอย่างเป็นทางการในงานเสียอีก แม้จะมีภาพถ่ายอีกมากมายซึ่งล้วนแล้วแต่เห็นตราสินค้า Samsung โดดเด่นอยู่บนโทรศัพท์
เหตุใดการถ่ายภาพแบบ Selfie จึงจุดกระแสได้อย่างรวดเร็วในโลกมีเดียยุคใหม่ ภายในสิบสองเดือน สถิติการถ่ายภาพแบบนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงถึง ๑๗,๐๐๐ % ถึงขนาดเมื่อปีที่แล้ว Oxford Dictionary ได้ประกาศให้คำว่า Selfie เป็น “ 2013 Word of the Year” โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนักร้อง นักแสดงชื่อดังใช้วิธีการถ่ายภาพเป็นการจุดกระแสหรือโฆษณาตัวเอง จนทำให้บรรดาแฟนคลับนิยมใช้กันอย่างรวดเร็ว
Oxford Dictionary ให้นิยามความหมายของการถ่ายภาพชนิดนี้คือ รูปภาพที่คนถ่ายภาพตัวเองโดยใช้สมารท์โฟนหรือเวบแคมและอัพโหลดลง ในเวบไซท์โซเชียลเช่นเฟสบุ้คหรืออินสตาร์แกรม นอกจากนั้น คำว่า Selfie ยังมีความหมายถึงค่านิยมใหม่ที่ครอบงำคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น ผู้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตัวเอง คิดถึงแต่ตัวเอง
Selfie มีรากคำมาจาก self ( ตัวเอง) แต่เพิ่ม suffix คือ ie ซึ่งเป็นการถ่ายภาพตัวเองคนเดียว หรือถ่ายภาพร่วมกับคนอื่นด้วยมือของเรา ซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรจากการตั้งเวลากล้องถ่ายรูป เพื่อสามารถถ่ายรูปได้ทุกคน
อันที่จริง โทรศัพท์มือถือ ได้ทำให้การถ่ายภาพเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับทุกคน ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อกล้องเป็นอุปกรณ์ต่างหาก อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้การถ่ายภาพตัวเอง ส่วนมากยังต้องพึ่งพาคนอื่นในการถ่าย แต่เมื่อวิธีการถ่ายภาพตัวเองแบบ Selfie ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว หากเราให้เพื่อนถ่ายภาพเราเอง ต้องเสียเวลารอให้เพื่อนส่งรูปมาให้ บางทีก็ได้ภาพที่ไม่ค่อยชอบนัก แต่หากเราถ่ายเอง จะถ่ายภาพกี่ร้อยกี่พันครั้งก็ได้ เราสามารถเลือกภาพที่เราเชื่อว่าดูดีที่สุดเพียงไม่กี่ภาพ และโพสต์ลงในอินสตราแกรม หรือเฟสบุ๊ก เพื่อทำให้คนอื่นเห็นเราในสิ่งที่เราอยากให้คนอื่นเห็น และรอคอยให้คนอื่นมากดไลค์หรือแสดงความเห็นชื่นชมภาพของเรา
เดินไปที่ไหน อยู่ตรงไหน หรือกำลังกินอาหาร เราจึงเห็นเด็กวัยรุ่นถ่ายภาพตัวเองในอิริยาบถต่าง ๆมากขึ้นเรื่อย ๆ
Selfie ทำให้เราสามารถควบคุมการถ่ายภาพของเราได้เอง และเลือกภาพที่เราจะส่งไปให้คนอื่นได้เอง แน่นอนว่าเป็นภาพที่เราเชื่อว่าน่าสนใจที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพตัวเองคนเดียว หรือถ่ายภาพกับคนอื่นร่วมกัน Selfie จึงเป็นการที่เราเลือกและควบคุมสิ่งที่เราต้องการให้คนอื่นเห็นได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่ามันจะแพร่หลายอย่างรวดเร็ว
แต่ ในทางตรงกันข้าม หากโพสต์รูปไปแล้ว มีคนกดไลค์น้อย อาจจะทำให้เด็กคนนั้นอาจจะรู้สึกแย่กับตัวเอง สูญเสียความมั่นใจตัวเองไปเลยก็มี เหมือนอย่างในประเทศอังกฤษ แต่ละปีมีผู้เข้ารับการรักษาอาหารเสพติดโซเชียลมีเดียปีละร้อยกว่าคน โดยสาธารณสุขอังกฤษประกาศว่า อาการเสพติดสังคมออนไลน์นี้ ถือเป็นโรคชนิดหนึ่ง
ไม่น่าแปลกใจที่ หากเราสังเกตอุปกรณ์เสริมในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนยี่ห้อต่าง ๆ ดูจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพ มากกว่าอุปกรณ์อย่างอื่น เพราะคงมีการทำวิจัยแล้วว่า การถ่ายภาพเป็นอุปกรณ์ที่ลูกค้าใช้มากรองจากการโทรศัพท์และการเล่นออนไลน์ ไม่ว่าการพัฒนาความคมชัด ความละเอียดของภาพ ลูกเล่นต่าง ๆ มีโปรแกรมการแต่งรูปหลากหลายชนิด โปรแกรมการส่ง การแชร์ในโซเลียลมีเดียอย่างสะดวกรวดเร็ว
การถ่ายภาพคือการเล่นกับจิตวิทยาของผู้คน หากเล่นได้ถูกที่ถูกเวลา เหมือนกับการถ่ายภาพแบบ Selfie นั่นคือยอดขายสินค้าที่ติดตามมา และเป็นความสำเร็จทางการตลาดของสินค้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ๆ
อีกด้านหนึ่ง ผู้คนในสังคมทุกวันนี้กำลังอยู่ในปรากฎการณ์ที่เรียกกันว่า “สังคมก้มหน้า” ซึ่งหมายถึงผู้คนจำนวนมากที่เสพติดโลกออนไลน์ ประมาณว่าทุกห้านาที ต้องหยิบโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตออกมาเล่น หรือบางคนแทบจะไม่ห่างเครื่อง ตื่นขึ้นมาก็เล่นไลน์หรือเฟสบุ๊กกันเลย เดินข้ามถนนก็เล่น กินข้าวก็เล่น ก่อนนอนก็เล่น โดยไม่สนใจคนรอบข้าง
เวลาอยู่บนรถไฟฟ้า สังเกตไหมครับว่า ผู้คนจำนวนมากที่นั่งส่วนใหญ่จะก้มหน้าดูโทรศัพท์มือถือ โดยไม่สนใจกับคนรอบข้าง
หากเรานัดเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนาน มาทานข้าวเลี้ยงสังสรรค์กัน สังเกตไหมว่า เราจะนั่งคุยกันถามสารทุกข์ดิบ ว่า เพื่อนคนนั้นเป็นอย่างไร คนนี้เป็นอย่างไรได้ไม่นาน หลังจากนั้นต่างคนก็จะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา เล่นไลน์ หรือเล่นเฟสบุ๊ก หรือถ่ายภาพ Selfie ลงในอินสตราแกรม จนกระทั่งแยกย้ายกันกลับ
บางครั้งหลายคนก็ฉูกคิดว่า แล้วจะมาเจอกันทำไม เจอกันแล้วก็ไม่คุยกัน ก้มหน้าหนีตัวเองไปอยู่ในโลกออนไลน์หรือโลกเสมือนโดยพร้อมเพรียงกัน
ดูเหมือนปฏิสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่อยากคุยกันต่อหน้าจะลดลงไปเรื่อย ๆ แทนที่ด้วยการคอยลุ้นกันว่า สเตตัสหรือภาพที่เราอัพโหลดขึ้นไป จะมีคนมากดไลค์ หรือแชร์เพียงใด
การท่องในโลกของออนไลน์ การติดต่อกับผู้คนผ่านไลน์ หรือเฟสบุ๊ก ดูเหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่เราสามารถเป็นผู้เลือก หรือผู้ควบคุมการสื่อสารได้เช่นกัน
แน่นอนว่าในโลกออนไลน์ ข้อดีของมันมีมากมายมหาศาล ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้นมาก ไลน์ทำให้การสื่อสารของเรารวดเร็วและประหยัดเวลา เฟสบุ๊กทำให้เราเจอะเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกัน สื่อสารกับคนแปลกหน้าได้อย่างง่ายดาย โดยที่ เราสามารถเลือกที่จะสื่อสาร เลือกที่จะเขียนหรือไม่เขียนแสดงตัวตนหรือความเห็นใด ๆ ซึ่งแตกต่างจากการเผชิญหน้าหรือพูดคุยกันแบบเจอหน้า เพราะหมายถึงการต้องสื่อสารกันในระดับที่เท่าเทียมกัน ไม่สามารถเลือกหรือหลีกเลี่ยงการสนทนาได้
อยู่ในสังคมก้มหน้ากันนาน ๆ อาจจะทำให้เราเคยชินกับการอยู่ในพื้นที่ที่เราคิดว่าปลอดภัย ไม่ยอมเผชิญหน้ากับความจริงหรือไม่ ก้มหน้าอยู่ในโลกเสมือนที่อาจจะไม่จริงและเราเลือกเป็นผู้เลือกในการสื่อสารด้วย
ทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ โซเชียลมีเดียมีทั้งประโยชน์และโทษที่อาจจะมองไม่เห็น ดังนั้นในโลกแห่งการสื่อสารยุคใหม่ เราจะรักษาความสมดุลนี้ได้อย่างไร
เพราะหากเราไม่ได้สื่อสารผ่านไลน์ หรือเฟสบุ๊ก เวลาเจอกันจริง ๆ เรากำลังจะกลายเป็นคนแปลกหน้ากันหรือไม่
สารคดี สค.57