หลายวันที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ทางคณะกรรมการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่มีนายพิสิษฐ์ ณ พัทลุง เป็นประธานมูลนิธิได้ประกาศยุติการดำเนินงานเป็นการชั่วคราว
พูดภาษาชาวบ้านก็คือว่า ขอปิดกิจการอย่างไม่มีกำหนด
คณะกรรมการได้อ้างสาเหตุว่า ได้ประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินทำให้เงินทุนดำเนินงานหมดลง จนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
หากเป็นบริษัทก็คือ กำลังเจ๊ง ล้มละลายแล้ว
แต่ก่อนหน้านั้น หลายคนคงทราบว่าเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นในมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯมาโดยตลอด เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิเกือบทั้งหมด ได้เรียกร้องให้นายพิสิษฐ์ลาออกจากตำแหน่งประธานมูลนิธิ เพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิที่ทำหน้าที่ในการดูแลและคุ้มครองสัตว์ป่า
เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์ว่านายพิสิษฐ์ดำเนินธุรกิจเป็นเจ้าของร้านอาหาร “เพื่อนเดรัจฉาน” แถวถนนรามอินทรา ซึ่งก่อตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เป็นร้านขายอาหารและซื้อขายแลกเปลี่ยนสัตว์ ภายในร้านอาหารนี้ก็มีบรรยากาศแบบสวนสัตว์ มีสัตว์ป่าและนกหายากจำนวนมาก
ในอดีต นายพิสิษฐ์เคยเป็นอดีตผู้อำนวยการสวนสัตว์ และในช่วงเวลานั้น ก็มีข่าวพัวพันกับการจัดหาซื้อสัตว์
ก่อนหน้านี้ ประธานมูลนิธิรับงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท สยามโอเชี่ยนเวิลด์ ในสยามพารากอน ซึ่งเป็นธุรกิจแสวงหาผลกำไรจากการนำสัตว์ทะเลหายากมาจัดแสดง และเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อแรกเปิดอควาเรียมแห่งนี้ว่ามีสัตว์ทะเลจำนวนมากตายในอควาเรียมแห่งนี้
เมื่อเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯได้ออกมาเปิดโปงให้นักข่าวฟังว่า อควาเรียมแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับการรับซื้อปลาสวยงามในแถบฝั่งทะเลอันดามัน อันเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และทำให้ปลาทะเลตายจำนวนมาก ปรากฏว่าแทนที่ประธานมูลนิธิจะแสดงบทบาทของนักอนุรักษ์สนับสนุนการดำเนินงานของลูกน้องตัวเอง แต่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิออกมาขอโทษบริษัท สยามโอเชี่ยนเวิลด์ ฐานทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง
เจ้าหน้าที่มูลนิธิได้ปฏิเสธในคำสั่งนั้น เพราะถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งมูลนิธิ
ปีที่ผ่านมา มีข่าวการจัดส่งช้างไทย 8 เชือก ซึ่งยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นช้างป่าที่ลักลอบจับจากในป่าหรือช้างเลี้ยง ส่งไปขายในประเทศออสเตรเลีย โดยมีบริษัท เอเชี่ยน ไวด์ไลฟ์ คอนซัลแทนซี จำกัด ซึ่งมีที่อยู่บ้านเลขที่เดียวกับร้านอาหารเพื่อนเดรัจฉาน เป็นบริษัทผู้รับผิดชอบในการจัดส่งช้างไทย
ปัจจุบันท่านประธานมูลนิธิจึงสวมหมวกสองใบ หมวกใบแรกเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรอนุรักษ์แถวหน้าของประเทศนี้ และหมวกอีกใบหนึ่งเป็นนักธุรกิจค้าสัตว์
หลายเดือนที่ผ่านมา สาธารณชนได้เรียกร้องให้ประธานมูลนิธิพิจารณาตัวเองถึงบทบาท และความโปร่งใสในการทำหน้าที่ประธานมูลนิธินี้ว่าจะเลือกเป็นนักอนุรักษ์ หรือจะเป็นพ่อค้าสัตว์
ไม่มีใครรังเกียจอาชีพค้าขายสัตว์หรอก แต่การดื้อดึงจะสวมหมวกสองใบ เป็นการเหมาะสมแล้วหรือ
สุดท้าย นายพิสิษฐ์ได้ใช้อำนาจของประธานและกรรมการมูลนิธิที่เป็นคนของเขาทั้งหมด ออกคำสั่งปิดกิจการมูลนิธิ อันมีผลให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดถูกปลดโดยปริยาย จะได้ไม่มีปากไม่มีเสียงออกมาคัดค้านอีกต่อไป โดยอ้างว่าไม่มีเงินหมุนเวียน
ทั้งที่ความจริงยังมีเงินอยู่มากพอที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้
ที่ตลกร้ายก็คือ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรรมการมูลนิธิไม่ได้เป็นคนหาเงินทุนเลย แต่เงินดำเนินงานทั้งหมดมาจากการหาทุนของเจ้าหน้าที่มูลนิธิ
เจ้าหน้าที่เหล่านี้หลายคนทำงานอนุรักษ์มาตลอดเวลา 20 กว่าปี เท่ากับอายุขององค์กรแห่งนี้ เป็นหูเป็นตาให้กับคนในสังคม เพื่อดูแลปกป้องสัตว์ป่าและผืนป่า
เจ้าหน้าที่เหล่านี้ยอมรับเงินเดือนไม่มาก เพื่อทำงานอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ ช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ชุ่มน้ำเขาสามร้อยยอด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้กระทิงนับร้อยตัวกลับคืนมาที่เขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้อย่างเงียบๆ
ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันสังคมไทยอาจจะมีองค์กรอนุรักษ์หลาย 10 องค์กร แต่องค์กรที่เข้มแข็งที่สุดและทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง มีผลงานและพอที่สังคมไทยจะฝากผีฝากไข้ได้นั้น มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯอยู่ในอันดับต้นทีเดียว
แต่วันนี้ไม่มีเหลืออีกต่อไป เพราะประธานและกรรมการมูลนิธิได้ใช้อำนาจตามกฎข้อบังคับของมูลนิธิ กระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับข้อเรียกร้องของสาธารณชน
2 ปีก่อน เมื่อคุณทักษิณ ชินวัตร มีปัญหาส่วนตัวเรื่องความโปร่งใสในการซื้อขายหุ้น กลับใช้อำนาจยุบสภาเพื่อหนีปัญหา ลากคนทั้งประเทศให้วุ่นวายไปด้วย
มาปีนี้ นายพิสิษฐ์มีปัญหาส่วนตัวเรื่องจริยธรรมของตัวเอง กลับใช้อำนาจปิดมูลนิธิ เพื่อหนีปัญหาการถูกซักฟอกจากสังคม
แต่นายพิสิษฐ์ลืมไปว่า มูลนิธิไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่มีผู้บริจาคเงินร่วมกันก่อตั้ง โดยมีเจตนารมณ์ในการปกป้องดูแลธรรมชาติ ไม่ใช่สนับสนุนการซื้อขายสัตว์ป่า
วันนี้ผู้คนในสังคมควรจะลุกขึ้นมาทำอะไรหรือยัง
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
Comments
อ่านแล้วเศร้าใจมากค่ะ แล้วเราจะพึ่งใครได้ในสังคมนี้ ที่ผู้อ่อนแอ ผู้ด้อยโอกาส สัตว์ที่ไม่มีทางสู้ต้องถูกกระทำตลอดกาล
อีกอย่างตอนที่แมลงกัดมันนะ มันไม่สามารถปัดได้เพราะหางที่ธรรมชาติให้มาปัดทีไรก็ไปติดแต่ไอ้ที่เขาใช้ลากรถเห็นแล้วรันทดมากครับช่วยกันดูหน่อยครับขอร้อง