ทุกครั้งที่จะเดินทางไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนผู้ทราบข่าว ก็มักจะแสดงความห่วงใยว่า “ ระวังอันตราย ดูแลตัวเองด้วยนะ”
ภาพการรับรู้ของผู้อยู่ห่างไกลเหตุการณ์ มักจะมองว่า ดินแดนแห่งนี้คงเต็มไปด้วยเสียงระเบิด ควันไฟ ร่างของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากความขัดแย้งทางการเมือง ความเชื่ออันฝังรากลึกมานาน และรุนแรงมากขึ้นในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา
นกแอร์ทะยานขึ้นจากสนามบินดอนเมือง ของบ่ายวันศุกร์ มุ่งหน้าสู่หาดใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่การจราจรทางอากาศคับคั่งมาก
ผู้โดยสารเต็ม พนักงานต้อนรับตัวเล็ก ๆ ทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย เข็นรถมาแจกอาหารว่างพอกินเสร็จ ผมขยำถุงกระดาษด้วยความเคยชิน แต่พลันเหลือบไปเห็นฝรั่งสองคนผัวเมียนั่งข้าง ๆ บรรจงพับถุงกระดาษอย่างเรียบร้อย และวางไว้บนโต๊ะรอพนักงานมาเก็บ
หลังทักทายกัน ฝรั่งก็ให้คำตอบว่า พับถุงกระดาษ เผื่อให้คนหลังเก็บไปใช้ต่อได้
แต่ลึกไปกว่านั้น ผมเห็นความละเอียด ความอ่อนโยนของหัวใจ ต่างจากผม มีแต่ขยะในหัวใจและมักง่าย
ละอายใจจริงๆ
จากสนามบินหาดใหญ่ เรามุ่งหน้าไปปัตตานี ระหว่างทาง เห็นได้ชัดว่า ด่านตรวจของทหาร ตำรวจ มีถี่มากแต่การตรวจไม่ได้เข้มข้นมาก ไม่ถึงสองชั่วโมง เราก็มาเข้าร่วมงาน “วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2” สันติ(ที่มองเห็น) ภาพ” ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จัดโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีคนเข้าร่วมงานประมาณ ๘๐๐ คน
ผมได้ความรู้เพิ่มขึ้นมา ทำไมเขาจึงใช้ชื่องานว่า ปาตานี และหายสงสัยเมื่อได้คำตอบว่า ปัตตานีเป็นชื่อที่ทางการเรียกจังหวัดปัตตานี แต่ปาตานีเป็นชื่อรัฐในอดีตเคยเป็นอาณาจักรเก่าแก่ มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี นราธิวาสและยะลาก่อนที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยในสมัยรัตนโกสินทร์
ความขัดแย้งที่ผ่านมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามในการแยกตัวออกมาจากรัฐไทยในฐานะที่คนแถวนี้เคยมีอาณาจักรของตัวเองมาก่อน ประกอบกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจไม่เคารพประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนมุสลิม ทำให้ความขัดแย้งบานปลายออกไปยังไม่รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเถื่อน น้ำมันเถื่อน และยาเสพติดที่หากินกับการทำสงครามกลางเมืองครั้งนี้
การจัดงานครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งจากรัฐบาล ทหาร ตำรวจ ภาคประชาชนและกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างกัน ได้มีโอกาสได้แสดงความเห็น ได้พูดคุยเพื่อปูทางไปสู่การแสวงหาสันติภาพ
เพราะจะช้าจะเร็ว สงครามส่วนใหญ่ก็จบลงที่โต๊ะเจรจาสันติภาพ
ผมนั่งฟังการแสดงความเห็นของกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย ส่วนใหญ่เป็นญาติผู้สูญเสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบแต่นั่งฟังเป็นพิเศษ เมื่อได้ยินหญิงสาวคนหนึ่งมาอ่านบทกวี
“ขอความสันติจงมีแด่ทุกท่าน
วันสื่อสันติ(ที่มองเห็น)ภาพและจับต้องไม่ได้
กระบวนการยุติธรรมมีอยู่จริงหรือไม่ในโลกนี้
เพื่อความยุติธรรมยังพึ่งพิงได้หรือเปล่าในสังคมไทย
เพื่อสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อผู้มีอำนาจยังมองเพื่อนมนุษย์เป็นผู้อื่นที่แตกต่าง
ความหวังความฝันลมๆแล้งๆจะแล้งอีกนานเพียงใดใครตอบได้บ้าง
การตีกรอบถูกขีดเส้นให้แคบลง
แล้วเราจะอยู่อย่างไรท่ามกลางผู้คนเพิ่มจำนวนมากขึ้น
เปิดปากปกป้องสิทธิก็หาว่าต่อต้านไม่ทำตาม
ศึกษาหาความรู้เพื่อช่วยเหลือตนเองและครอบครัวก็ถูกมองว่าไม่รักชาติ
แล้วเราจะมีชีวิตปลอดภัยได้อย่างไร
ได้โปรดส่งคืนความสุขความยุติธรรมมาให้เราด้วยเถิด
ฉันเกิดที่นี่ โตที่นี่ ฉันยังคงอยู่ที่นี่ชายแดนใต้ดินแดนแห่งนี้ที่น่าอยู่สำหรับฉัน
จนมาถึงพ.ศ.๒๕๔๗ ฉันคิด ฉันตั้งคำถาม ฉันสงสัย ฉันกังวล มันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านของฉัน
จนวันนี้พ.ศ.๒๕๕๘ ๑๑ปี สิ่งที่เป็นข้อกังขายิ่งสับสนยังคงอยู่ ฉันต้องทำอะไร ฉันจะอยู่ยังไง
ฉันไม่สามารถอธิบาย ฉันไม่เข้าใจ ใครก่อ ใครทำ ใครได้ประโยชน์ แต่ฉันรู้ว่าฉันกลายเป็นเหยื่อ
วันนี้มีพูดคุยเรียกร้อง ขอสันติภาพ มีฝักมีฝ่าย ปาร์ตี้ เอ ปาร์ตี้ บี แล้วฉันล่ะเป็นใครกัน
บ้านของฉัน ฉันอยู่ฉันอาศัย มีใครถามฉันบ้างมั้ย
ฉันฟัง ฉันพูด ฉันตอบ ใครบ้างจะสนใจได้ยินมัน
๑๑ ปี กับทุกเรื่องราวที่เกิดก่อซึ่งปัญหา ทุกบทบาทหน้าที่ ได้ทบทวนบ้างมั้ยหนอ
หรือจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมก่อต่อเติมเชื้อเพลิงแห่งปัญหา หรือกำลังใช้สติตัดต่อด้วยปัญญา ใช้ปัญญาหรือตัณหาแก้ปมมากกว่ากัน
๑๑ ปี นานพอขอยุติ ไม่ต้องรอถึง ๓๐ ปี หรือร้อยปี เพียงเท่านี้เราเจ็บปวดมากพอแล้ว
เมื่อวานหนูเด็ก วันนี้โตเป็นผู้ใหญ่ ขอไม่รอถึงพรุ่งนี้ตอนแก่ตัว มันหดหู่เกินไป
ณ วันนี้ ขอเรียกร้องขออิสรภาพ ขอความเป็นธรรม กับทุกฝ่ายทุกอำนาจที่ครอบงำ
ถ้าเรื่องคดีอันวาร์ และเพื่อนร่วมชะตากรรมยังคงอยู่ดองในห้องขัง
คงสิ้นหวังที่จะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
เพียงพอ พอกันที หยุดหลอกกัน
ไว้อาลัยแด่เธอ สันติแค่ภาพ แค่มายา
วันนี้ สิ่งที่ฉันปรารถนา คือ ความปลอดภัย สงบ สุขสันติ ของทุกคน
โปรดฟังฉัน เพราะฉันคือประชาชนที่อยู่ที่นี่บ้านของฉัน ดินแดนของฉัน ปาตานีชายแดนใต้
ด้วยความศรัทธา”
รอมือละห์ แซเยะ
เยาวชนใจอาสา และภรรยาอันวาร์ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงชายแดนใต้
๒๘ กุมภา ๒๕๕๘ “
น้ำเสียงของหญิงสาววัยยี่สิบกว่าผู้นี้มั่นคง เด็ดเดี่ยว แววตามีความมุ่งมั่น ชัดเจนว่าผ่านความทุกข์ยาก เธอคือภรรยาของอันวาร์ นักกิจกรรมเพื่อสังคมที่โดนพิพากษาติดคุกถึง ๑๒ ปี
นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หรือ “อันวาร์” อดีตคนทำงานสื่อทางเลือกในพื้นที่ชายแดนใต้ ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก ๑๒ ปีในเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๕๖ โดยถูกแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ซัดทอดว่าเป็นสมาชิกกู้ชาติปัตตานี (BRN) เป็นอั้งยี่ และกบฏเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรไทย และยึดอำนาจปกครองในส่วนของ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน เพื่อตั้งประเทศหรือรัฐใหม่ที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง และหลังจากนั้นไม่นานวันมีประชาชนทุกภาคส่วนเดินทางไปเยี่ยมที่เรือนจำปัตตานีนับพันคน เพราะทุกคนเชื่อว่า นายมูฮาหมัดอัณวัร ไม่ได้กระทำผิด
อันวาร์เป็นอดีตนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และถูกจับข้อหาก่อการร้ายตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เนื่องจากมีพยานระบุว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้าย ทั้ง ๆที่ไม่เคยอยู่ในที่เกิดเหตุอันใด มีการสู้คดีกันมาตลอดโดยศาลชั้นต้นตัดสินว่ามีความผิด ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องว่าไม่มีความผิด แต่เมื่อมาถึงศาลฎีกากลับยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก
อันวาร์เป็นตัวอย่างของนักทำกิจกรรมภาคประชาสังคม ที่ต้องการเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในท้องถิ่นของเขาโดยใช้สื่อทางเลือกในนาม สำนักสื่อบุหงารายา คำว่า บูหงารายา แปลว่าดอกชบา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของพื้นที่
“อันวาร์ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสันติภาพ หรือ School of Peace ที่ประเทศอินเดีย ในปีพ.ศ.๒๕๕๓ และการทำสื่อสันติภาพกับองค์กรในมหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงนั้นเองที่เราได้รู้จักกันและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นว่าอันวาร์สนใจทำงานด้านสื่อเพื่อสันติภาพอย่างจริงจังและยังได้เข้าฝึกอบรมข่าวที่โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ด้วย” รอมือละห์ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากเล่าให้ฟังต่อว่า
อันวาร์ยังได้พยายามสร้างเครือข่ายกลุ่มเยาวชนกับการสร้างสันติภาพ โดยร่วมกับกลุ่มมะขามป้อมจัดโครงการอบรมในพื้นที่ต่างๆทั้งที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี อำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส
“บทบาทของอันวาร์ในช่วงที่ผ่านมาเป็นภาพที่ชัดเจนถึงการต่อสู้ด้วยปากกาและ ตัวอักษรโดยเชื่อว่านั่นเป็นการสู้เพื่อสันติภาพ”
แต่แน่นอนว่า การเคลื่อนไหวของอันวาร์อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจผิด และจับตาดูเป็นพิเศษซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ ที่อุดมคติของคนหนุ่มสาวผู้ปรารถนาจะแสวงหาสันติภาพเป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านได้ตามแบบฉบับของพวกเขา อาจจะถูกมองไปอีกด้านหนึ่งในสายตาของฝ่ายความมั่นคง
อันวาร์เป็นคนทำสื่อเพื่อสันติภาพ เป็นคนพยายามเชื่อมโยงปัญหาในท้องถิ่นให้คนข้างนอกได้รับรู้แต่สิ่งที่เขาได้รับตอบแทนกลับมา คือการถูกพิพากษาจำคุกอยู่ในเรือนจำไปอีกนาน
ทุกวันนี้ อันวาร์กลายเป็นวีรบุรุษหรือไอดอลของเด็กรุ่นใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรื่องราวของเขาถูกนำออกมาเล่าขานอย่างต่อเนื่อง ถึงวีรกรรมของเขาผู้ต่อสู้เพื่อสันติภาพของคนสามจังหวัดภาคใต้ดังบทกวีล่าสุดที่เขาแต่งในเรือนจำ
“ฉันไม่ยอมรับความผิด
ฉันผิดที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพชาวปัตตานี
ฉันผิดด้วยการต่อสู้กับกฎหมายอยุติธรรม
ฉันยังผิดที่ต่อสู้เพื่อพลเมืองถูกกดขี่
ฉันไม่เคยคิดจะวางระเบิด เผาเมือง ตัดคอตำรวจ
แต่ฉันไม่หวาดเกรงที่จะหยิบปากกาต่อสู้
12 ปี ผลลัพธ์บวกคูณผลตอบแทนในกรงขัง
20 วัน ฉันสัมผัสถึงมือ กำลังใจจากเพื่อนนับพัน”
“Save Anwar” “Free Anwar” กำลังดังกระหื่มอย่างเงียบ ๆ ในโลกออนไลน์
สารคดี มีนาคม 2558