หากจำกันได้ เมื่อราวต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวเล็ก ๆทางหน้าหนังสือพิมพ์รายงานว่า ผลการศึกษาสถานการณ์อุบัติใหม่ของโรคมะเร็งในปี 2544-2546 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า
คนระยองป่วยเป็นโรคมะเร็งมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะมะเร็งในปอด
ขณะเดียวกันคนระยองยังมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศ และมีอัตราของเด็กแรกเกิดมีร่างกายผิดปกติสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบสิบปีที่ผ่านมา
หากเป็นคนนอกวิเคราะห์หาสาเหตุ ก็คงนึกว่า สาเหตุของโรคมะเร็งในปอด น่าจะเป็นเพราะคนระยองสูบบุหรี่จัด หรือสาเหตุจากควันพิษในอากาศทั่วไป
แต่หากถามคนระยองที่อยู่ในพื้นที่มานาน คำตอบที่ได้รับก็คือ คนระยองเจ็บป่วยมานานแล้ว ไม่ใช่เฉพาะโรคมะเร็งอย่างเดียว โดยเฉพาะคนที่ทำงานและชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ นิคมอุตสาหกรรม
ความเจ็บป่วยผิดปกติของคนแถวนั้น เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ภายหลังการสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บนที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก พื้นที่เกือบหมื่นไร่ และตามติดมาด้วยการตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งอื่นรวมกัน สองหมื่นกว่าไร่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก อมตะซิตี้ ผาแดง และล่าสุดนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย เพื่อที่จะให้จังหวัดระยองเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เพราะมีท่าเรือน้ำลึก พื้นที่ราบขนาดใหญ่ติดทะเล มีถนน โรงไฟฟ้า น้ำประปา และระบบสาธารณูปโภคพร้อมสรรพสำหรับรองรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนับแสนคน
ปัจจุบันระยองมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 2,151 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี
นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นความภูมิใจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นแหล่งรองรับนักลงทุนอุตสาหกรรมรายใหญ่จากทั่วโลก และนักลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม น้ำมัน ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก และการผลิตไฟฟ้า ด้วยมูลค่าการลงทุนหลายล้านล้านบาท
ในแง่ของของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นธุรกิจดาวรุ่งในปัจจุบัน เป็นธุรกิจหลักที่ค้ำยันเศรษฐกิจไทย ช่วยทำให้จีดีพีของประเทศโตขึ้น บริษัทเหล่านี้ล้วนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นหุ้นบลูชิป หุ้นเหล่านี้รวมๆกันแล้ว มีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าหุ้นราว 5 ล้านล้านบาท ในตลาดหลักทรัพย์ จึงได้รับการดูแลอุ้มชูอย่างดีเยี่ยมตั้งแต่รัฐบาลป๋าเปรมมาจนถึงรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลขิงแก่ ราวกับไข่ในหิน
เมื่อมีข่าวความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนรอบ ๆพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ ขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ เราก็จะได้เห็นบรรดารัฐมนตรีพากันลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
ภาพที่เห็นจนชินตาตามหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์คือ ท่านรัฐมนตรีในชุดสวมหมวกกันน็อก ห้อมล้อมด้วยผู้ติดตามและนักข่าว เดินตรวจพื้นที่ในโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกับรับฟังคำชี้แจงจากเจ้าของโรงงาน อธิบายว่าโรงงานมีระบบเทคโนโลยีทันสมัยในการลดการปล่อยควันพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในขบวนการผลิต และปล่อยสารพิษไม่เกินมาตรฐานของทางการ จึงไม่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
ภาพต่อมาอาจจะเห็นบรรดาท่านเหล่านี้ไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านรอบพื้นที่ และรับปากว่าจะดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศต่อไป
รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยรับปากทุกเรื่อง แต่สุดท้ายพอข่าวจางหายกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง ทุกอย่างก็กลับคืนสู่ความเงียบต่อไป
อันที่จริงกรมควบคุมมลพิษได้เคยทำการสำรวจคุณภาพอากาศรอบ ๆ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พบสารอินทรีย์ระเหย ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 20 ชนิด ซึ่งเกือบทั้งหมดมีค่าเกินกว่าระดับมาตรฐานของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา
กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าในตำบลมาบตาพุด พบผู้ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 88 โรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้นร้อยละ 57
ตลอดเวลาห้าปีที่ผ่านมา ครูและเด็กนักเรียนโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ถูกหามส่งโรงพยาบาลนับร้อย ๆ คน เพราะทนสูดกลิ่นเหม็นจากโรงกลั่นน้ำมันที่ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนไม่ไหว
สุดท้ายก็ยอมแพ้ด้วยการย้ายโรงเรียนหนี ขณะที่ชาวบ้านรอบ ๆโรงเรียนต้องยอมทนกลิ่นเหม็น จนป่วยเป็นโรคภูมิแพ้กันถ้วนหน้า เพราะไม่สามารถย้ายบ้านได้
ส่วนโรงพยาบาลมาบตาพุด ที่ทำการรักษาของคนเหล่านี้ ก็มีแผนจะย้ายโรงพยาบาลออกจากพื้นที่เช่นกัน เพราะมีกองขยะภูเขามาตั้งอยู่ใกล้ ๆ
ทุกวันนี้แม้ว่าจะมีผู้ป่วยในตำบลมาบตาพุดเพิ่มขึ้น แต่ทางนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้ออกมายืนยันว่า โรงงานอุตสาหกรรมสามารถลดจุดรั่วซึมที่ทำให้เกิดสารอินทรีย์ระเหยในบรรยากาศที่เกินมาตรฐานได้ และมีการตรวจสอบปริมาณการปล่อยมลพิษตลอดเวลา จึงแน่ใจว่าสามารถลดปัญหามลพิษได้
และเมื่อเร็ว ๆนี้ สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นชอบในการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชียเพิ่มเติมอีกจำนวน 700 ไร่ ในเขตอำเภอบ้านฉาง และอนุมัติให้สร้างโรงงานปิโตรเคมีมูลค่านับหมื่นล้านบาทเข้าในพื้นที่ได้ โดยยืนยันว่ามีกระบวนการดูแลด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างได้มาตรฐาน จะไม่สร้างปัญหาให้กับผู้คนเหมือนที่มาบตาพุด
“ทุกวันนี้ผมยืนมองปล่องควันโรงงานจากที่บ้านทุกวัน คิดว่าควันที่ออกมาเยอะอย่างนี้มันจะไปตกอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ใช่บ้านของเรา อยากจะบอกคนที่เกี่ยวข้องว่า พอแล้วครับอุตสาหกรรมที่บ้านของผม ตอนนี้เพื่อนๆ ในหลายตำบลต่างก็นอนไม่หลับ เพราะกลัวว่าถ้าสร้างโรงงานแล้วจะเดือดร้อน แต่ถ้าโรงงาน หรือโรงไฟฟ้ามา บอกได้เลยว่าน้ำคงไม่พอใช้ทำสวนอีกต่อไปแล้ว คงจะต้องเดือดร้อนมาก” นายสมบูรณ์ เพชรฉกรรจ์ คนบ้านฉาง ผู้เห็นเพื่อนบ้านหลายคนเจ็บไข้ได้ป่วย และค่อยๆ ตายลงไป เล่าให้นักข่าวฟัง
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศผลประกอบการออกมาว่า ครึ่งปีแรก กลุ่มธุรกิจพลังงานและน้ำมันมีกำไรสุทธิทั้งหมด 90,000 กว่าล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นทั้งหลายเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท
ดูแลเงินปันผลของผู้ถือหุ้นแล้ว เหลียวมามองชะตากรรมของคนระยองด้วยนะครับ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2550
Comments
เงินที่ได้จากการทำธุรกิจตรงนี้หายไปไหน
ทไมถึงไม่นำมาเป็นสวัสดิการของคนในพื้นที่
ต้องลองให้ให้พวกพ่อแม่รัฐมนตรีมันมาอยู่บางนะคนไทย
ช่วยด้วยคะ ตอนนี้ที่ จ.นครศรีธรรมราช กำลังจะตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่อยากเป็นโรคเหมือนคนระยอง
ขอให้รัฐบาลอภิสิทธิ์เร่งดำเนินการโดยเร่งด่วน ที่สุด ของที่สุด
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้ตรงแก่นแท้ และจะเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ช่วยกัน
บำบัด อากาศ
โดยมีบทลงโทษให้รุนแรงกับผู้ประกอบการที่ปล่อยสารพิษออกมา และลงโทษให้เห็น
โดยคณะทำงานต้องมาจากหน่วยงานที่เนื่อเชื่อถือ
เพื่อ ป้องกันการอุดปาก ….ด้วยนักลงทุน
และช่วยชะลอโครงการต่างๆ โดยศึกษา%ของภาคเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเพื่อให้พื้นที่ภาคเกษตร เป็นแหล่งบำบัดที่ดี ดูรายการแผ่นดินไท เพื่อไทย เป็นไท
ช่วยกันคนละไม้คนละมือ รับแจ้เบาะแสจากชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเค้าไม่หลอกใคร
เค้ารักแผ่นดินนะ
น่าจะเชิญท่าน รมต. ไปดูงานที่ Hashima ของญี่ปุ่นบ้างจะได้ไม่สับสนระหว่าง เมืองน่าอยู่ กับเมือง…ดุ
มาบตาพุดเลยหรอ