เราทุกคนล้วนมีส่วนทำลายป่า

 21 มีนาคม ที่ผ่านมาของทุกปีเป็น วันป่าไม้โลก (World Forestry Day)

วันป่าไม้โลก มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ตลอดจนประโยชน์และผลิตผลต่างๆ ที่ได้รับจากป่า

สำหรับป่าไม้ของไทย พบว่าพื้นที่ป่าไม้เมื่อ 50 กว่าปีก่อน ที่เคยมีอยู่ประมาณร้อยละ 50 ของพื้นที่ประเทศหรือประมาณ 150 ล้านไร่ เหลือเพียง 100 ล้านไร่ หรือร้อยละ 30 ของพื้นที่ประเทศ

หมายความว่าที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ลดลงกว่า 50 ล้านไร่ หรือ เฉลี่ยลดลงปีละกว่า 1 ล้านไร่

คำถามใหญ่คือ ป่าลดลงเพราะสาเหตุอะไร

เมื่อห้าสิบปีก่อน ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 30 ล้านกว่าคน แต่ปัจจุบันมีประชากรเพิ่มขึ้นเกือบ 70 ล้านคนเรียกได้ว่าเพิ่มขึ้นเท่าตัว

แน่นอนว่า เมื่อคนมากขึ้น ประชากรขยายตัว ก็มีการใช้ประโยชน์จากป่ามากขึ้นไม่ว่าการเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเป็นป่า เป็นพื้นที่เกษตร ทำไร่ ทำนา หรือเป็นบ้านพักอาศัยจนผืนป่าหลายแห่งในอดีต กลายเป็นที่ตั้งของอำเภอหลายแห่ง โดยเฉพาะอาชีพหลักของคนไทยในอดีตคือการทำไร่ไถนา ซึ่งต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก

ป่าดงพญาเย็น ป่าดงดิบผืนใหญ่ที่กั้นระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงอีสาน ตลอดเส้นทางจากสระบุรีไปโคราชปัจจุบันก็กลายเป็นไร่นาและตัวอำเภอหลายแห่ง

ป่าดงดิบผืนใหญ่ที่มีเสือโคร่งมากมายในนิยาย ล่องไพร ของน้อย อินทนนท์ ปัจจุบันก็กลายเป็นเรือกสวนไร่นา ของชาวจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร คงเหลือแต่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากร คงไม่ใช่สาเหตุสำคัญเพียงอย่างเดียว

ทิศทางการพัฒนาประเทศ ไม่ว่านโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาในอดีตที่ส่งเสริมให้คนปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน หรือยางพาราอันเป็นนโยบายที่มุ่งให้มีการเปลี่ยนพื้นที่ป่าจำนวนหลายสิบล้านไร่เป็นพื้นที่เกษตรทั้งสิ้น

IMG_8751

ยังไม่รวมถึงนโยบายการให้สัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าหลายล้านไร่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ยังไม่รวมถึงการสร้างเขื่อนจำนวนมากที่ทำให้ป่าหลายล้านไร่กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ

แน่นอนว่า การพัฒนาประเทศต้องมีการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติดังนั้นการใช้พื้นที่ป่าคือเป้าหมายในการบริโภคอันดับแรก

แต่เหตุใดนโยบายการพัฒนาที่ผ่านมา กลับทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากขึ้นตามทิศทางการพัฒนาประเทศ

คนไทยรวยที่สุด 20% มีรายได้เกือบ 60% ของประเทศที่น่าสนใจคือ ช่องว่างระหว่างรายได้ของไทยมีมากกว่าประเทศอย่าง อินเดีย หรือ จีน เสียอีก

ในขณะเดียวกัน ยิ่งเปิดพื้นที่ป่ามากเพื่อเปลี่ยนเป็นที่ดิน  ปรากฏว่าที่ดินจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในคนจำนวนน้อยของสังคม ประมาณว่า ที่ดินที่มิใช่ผืนป่า ร้อยละ 90 อยู่ในมือของคนร้อยละ 10 ของประชากรไทยเท่านั้น

หรือยิ่งเปิดพื้นที่ป่า ยิ่งมีปัญหาช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำของคนไทยหรือไม่

คราวนี้ลองหันมามองต่างประเทศกันบ้างว่า ปัญหาประชากรที่เพิ่มขึ้น กับทิศทางการพัฒนาประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการลดลงของพื้นที่ป่าอย่างไร

หากเราพิจารณาพื้นที่ป่าเป็นสัดส่วนต่อพื้นที่ประเทศแล้ว จะพบว่าแต่ละประเทศมีพื้นที่ป่าคิดเป็นสัดส่วนดังนี้:

  • จีน 18.21%
  • ญี่ปุ่น 67.00%
  • เกาหลีใต้ 64.00%
  • เยอรมนี 31.70%
  • สหรัฐอเมริกา 30.84%
  • ลาว 71.60%
  • พม่า 63.64%
  • มาเลเซีย 59.50%
  • กัมพูชา 51.56%
  • อินโดนีเซีย 46.46%
  • เวียดนาม 37.14%
  • ไทย 29.00%
  • ฟิลิปปินส์ 23.87%
  • สิงคโปร์ 3.00%

จะเห็นว่าประเทศไทยมีสัดส่วนพื้นที่ป่าน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ หลายประเทศมีประชากรใกล้เคียงหรือมากกว่าไทย และประชากรทำการเกษตรเป็นหลัก แต่มีพื้นที่ป่าสูงกว่า อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว  กัมพูชา พม่า มาเลเซีย

ไม่นับรวมประเทศอุตสาหกรรมและมีประชากรหนาแน่นกว่าไทย อย่าง ญี่ปุ่น กลับสามารถรักษาปริมาณพื้นที่ป่าไว้ได้สูงมากอย่างน่าทึ่ง

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

หรือเป็นเพราะทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมามีปัญหา ทำให้การจัดการป่าไม้ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย

และปัจจุบันนี้คงไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันว่า ควรจะอนุรักษ์ป่ากันดีหรือไม่ แต่จะหาวิธีการอย่างไรที่ทำให้การพัฒนาประเทศกับการอนุรักษ์ป่าไม้นั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดควบคู่กันไปได้และพึงระลึกไว้เสมอว่า ที่ผ่านมา พวกเราทุกคนล้วนมีส่วนในการทำลายป่า ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกันทั้งสิ้น

น้ำแล้งทุกวันนี้ก็อย่าไปโทษใครเลย นอกจากพวกเราทุกคน

 กรุงเทพธุรกิจ  31 มีค. 59

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.