หาบเร่ แผงลอย และคนเมืองเป็นของคู่กันมาช้านาน
หาบเร่ แผงลอย ที่ขายตามท้องถนน เริ่มต้นจากบรรดาพ่อค้า แม่ค้าที่ไม่มีรายได้มากพอจะไปเปิดเซ้งร้านริมถนนเพื่อขายข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ เครื่องดื่มหรือขายเสื้อผ้า เครื่องใช้ของจำเป็นนานาชนิดให้กับคนเดินถนนในราคาย่อมเยาว์
ในอดีตหาบเร่ แผงลอย จึงเป็นอาชีพอิสระของคนจน คนต่างจังหวัดที่มาหางานทำในเมืองกรุง คนที่ไม่ค่อยมีรายได้
แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะไม่ใช่
หากไปดูแผงลอยแถวในปัจจุบัน แผงลอยเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่น่าจะใช่ผู้มีรายได้น้อยอีกต่อไป
กลายเป็นอาชีพหลักของคนจำนวนมาก ที่เห็นช่องทางการค้าขายที่ได้กำไรมากโดยไม่ต้องเสียเงินเช่าหรือเซ็งตึกแถวริมถนน
ถนนที่มีผู้คนเดินทางไปมาคับคั่ง จึงเป็นที่หมายตาของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าแผงลอย หาบเร่ และนับวันก็มีคนมาจับจองขายของ แออัดยัดเยียดกันอย่างไม่เกรงใจคนเดินถนน
ที่ผ่านมารัฐบาลหลายสมัยและทางกรุงเทพมหานคร พยายามจัดระเบียบหาบเร่ แผงลอยเหล่านี้แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมาก จนมายุครัฐบาลปัจจุบัน ดูเหมือนจะมีการจัดระเบียบได้ชัดเจนขึ้น
เราจึงได้ข่าวการไล่รื้อแผงลอยที่คลองถม สะพานเหล็ก ตลาดกลางคืนวรจักรและล่าสุดเจ้าของหาบเร่แผงลอยขายดอกไม้แถวปากคลองตลาดประมาณพันราย กำลังถูกจัดระเบียบเป็นรายล่าสุดเพื่อคืนทางเท้าให้กับคนเดินถนน
แต่มีแผงลอยแห่งหนึ่ง ถูกจัดระเบียบมาหลายครั้ง สามารถคืนทางเท้าริมถนนให้กับผู้สัญจรไปมาได้ไม่นานก็กลับมาเหมือนเดิมอีก คือแผงลอยสยามสแควร์บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส
ใครที่เคยเดินผ่านไปมาริมถนนเส้นนี้ คงทราบดีว่า แออัดยัดเยียดไปด้วยร้านค้า จนแทบจะไม่มีทางเดินเหลืออยู่เลย
หลายคนต้องถูกผลักให้ออกมาเดินริมถนน ซึ่งบางครั้งก็จะมีรถยนต์เจ้าของแผงจอดอยู่ หลายคนขึ้นรถเมล์ไม่ทันเพราะไม่อาจเบียดผู้คนลงมาขึ้นรถโดยสารได้ทันท่วงที
ในเพจของผู้เดือดร้อนคนหนึ่งใช้นามว่า “อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก” เคยเขียนระบายว่า
“รถเมล์ที่ผมกลับบ้านมาช้ามาก คันนึงรอเกือบ 20-30 นาที ผมเห็นรถเมล์วิ่งมาจากแยกอังรี ผมเดินลงมาจากสะพานลอยข้ามพารากอน ถ้าไม่มีแผงลอย ยังไงผมก็ลงมาขึ้นรถทันสบายๆ แต่ติดแผงลอยพวกนี้ ผมก็ลงมาขึ้นรถเมล์ไม่ทัน
แล้วผมต้องยืนรออีกร่วมครึ่งชั่วโมง ตัดสินใจจะโบกแท็กซี่ก็รู้กันว่าแท็กซี่สยามมันไม่รับผู้โดยสาร ถามว่าผมเดือดร้อนไหม โคตรเดือดร้อน ลองนึกสภาพนะครับ ถ้าตรงนั้นเกิดคุณพาคุณพ่อคุณแม่ไปเดินแล้วเป็นลมขึ้นมาคุณจะฝ่าคนออกมายังไง แล้วมันใช่เรื่องไหมที่คนเดินทางเท้าต้องลงไปเดินบนถนนแล้วเลนแรกก็เดินไม่ได้นะ รถเก๋งของแม่ค้าพวกนี้แหละมาจอดลงของตามสะดวกครับ”
เป็นที่ทราบกันดีว่า บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่มาจับจองแผงลอยเหล่านี้ ก็ไม่ใช่เป็นผู้ยากไร้แต่เห็นช่องทางการค้ากำไรอย่างงดงามมากกว่า เพราะมีผู้คนมีกำลังซื้อเดินผ่านไปมาอย่างพลุกพล่าน
ในขณะเดียวกันก็มีบรรดา ขาใหญ่ เป็นผู้คอยเก็บค่าคุ้มครอง เพื่อจ่ายให้กับผู้มีอำนาจขึ้นไปอีกต่อหนึ่งจนเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยมีใครกล้ามาตอแยด้วย
แต่สิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ โดยปรกติ ใต้สถานีรถไฟฟ้า จะต้องเป็นพื้นที่โปร่ง ใต้บันไดทางขึ้นลงจะห้ามไม่ให้มีสิ่งกีดขวางอะไรเลย เพื่อสามารถอพยพผู้คนบนรถไฟฟ้าได้ทันท่วงที หากเกิดอุบัติเหตุ อาทิไฟไหม้รถไฟฟ้า เพราะการอพยพผู้คนนับพันคนบนสถานีต้องให้หมดภายในเวลา 3-5 นาที คำนวณเวลาตั้งแต่ผู้โดยสารออกจากตัวรถไฟฟ้า ลงมาผ่านชั้นขายตั๋วจนกระทั่งมาถึงชั้นพื้นดินกระจายตัวไปยังที่ปลอดภัย
แต่ถ้าทางลงเต็มไปด้วยแผงลอยจำนวนมาก น่ากลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้น
วิศวกรบีทีเอสคนหนึ่งกล่าวว่า
“ถ้าเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นมา ผู้โดยสารที่อยู่บนสถานีจะต้องวิ่งลงมา ผมไม่อยากใช้คำว่าหนีตายแต่คงเป็นอย่างนั้น พอมาถึงชั้นล่าง เจอหาบเร่แผงลอย อาจเหยียบกันตายอยู่ตรงบันไดเหมือนอุบัติเหตุสะพานขาดเหยียบกันตายในกัมพูชา ”
และหากลองไปสำรวจทางขึ้นลงใต้สถานีรถไฟฟ้าอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานีอ่อนนุช พร้อมพงษ์ สะพานควาย ทางขึ้นลงก็เต็มไปด้วยแผงลอยนานาชนิด เป็นอุปสรรคสำคัญมากหากเกิดอุบัตเหตุร้ายแรงบนสถานีหรือรถไฟฟ้าที่ต้องอพยพคนออกมาอย่างเร่งด่วน
แต่ก็ไม่แออัอยัดเยียดจนแทบจะไม่มีทางเดินเลย เหมือนกับแผงลอยบริเวณสยามสแควร์
หรือรอจะให้เป็นข่าวเหยียบกันตายก่อน
กรุงเทพธุรกิจ 18 กพ. 2559