โชคดีที่มีโอกาสได้ไปดูหนังสารคดียอดเยี่ยมซึ่งกวาดรางวัลมาทั่วโลกกว่า ๗๐ รางวัล และได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ประจำปีนี้ The Look of Silence
ในสายตาของผมเรื่องนี้น่าจะเป็นสารคดีชั้นเยี่ยมในรอบหลายปีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาและวิธีการเล่าเรื่อง
เฉพาะเนื้อหาของเรื่องก็ชวนให้ใจระทึกเมื่อดูตั้งแต่ต้น เพราะเป็นการเปิดโปงโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของมนุษยชาติผู้กระทำต่อกันอย่างโหดเหี้ยม
The Look of Silence เป็นสารคดีที่เล่าเรื่องราวการสังหารหมู่ประชาชนอินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิตกว่า ๑ ล้านคนในช่วงปี ๒๕๐๘ เมื่อบรรดาผู้นำทหารทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยข้ออ้างต้องการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศที่แผ่ขยายสมาชิกมากขึ้น ตามมาด้วยการสังหารโหดประชาชนที่ถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ ฆ่ากันตาย นำศพมาทิ้งจนแม่น้ำกลายเป็นสายเลือด
ผู้กำกับภาพยนตร์ โจชัว ออพเพนไฮเมอร์ (Joshua Lincoln Oppenheimer) เดินเรื่องด้วยการปล่อยให้อดีตมือสังหารหลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่เล่าเหตุการณ์ที่ตัวเองฆ่าชาวบ้านอย่างสนุกสนาน ไม่รู้สึกอะไร แทนที่จะได้คำให้การขรึม ๆ แบบคนรู้สึกผิด และยังสาธิตอย่างโอ้อวดว่าเขาฆ่าคนอย่างไร ตั้งแต่ตัดคอ แทงหลัง ถีบลงแม่น้ำ ฝังทั้งเป็น แต่พอเลือดออกมากเกินไป ก็จะเปลี่ยนเป็นใช้ลวดรัดคอ หรือใช้ไม้ทุบให้ตายแทน
ออพเพนไฮเมอร์เล่าว่า อดีตนักฆ่าสองคนพาเขาลงไปดูจุดที่เกิดเหตุริมแม่น้ำ บริเวณเดียวที่เขามีส่วนในการฆ่าคนร่วมหมื่นคนอย่างไม่รู้สึกผิดจนถึงวันนี้
คนเดินเรื่องคือ อาดี รูกุน (Adi Rukun) ผู้ซึ่งพี่ชายของเขาเป็นเหยื่อสังหารโหดในเหตุการณ์เมื่อ ๕๐ ปีก่อน ได้ติดตามสัมภาษณ์นักฆ่าซึ่งหลายคนเป็นอดีตนักเลงอันธพาลในพื้นที่ และพาคนเหล่านี้ไปยังที่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นริมแม่น้ำ บนตึก ในห้อง ให้พวกเขาสาธิตการลงมือฆ่าพร้อมเล่าถึงความรู้สึกเวลานั้น
แม้เหตุการณ์ผ่านมาร่วมครึ่งศตวรรษ แต่พวกเขาส่วนใหญ่ยังให้สัมภาษณ์ด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่ได้รู้สึกละอายต่อสิ่งที่กระทำในอดีต หลายคนเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น
แต่มีบางคนที่ยังนอนฝันร้ายมาตลอดชีวิตกับเคราะห์กรรมที่ทำ นักฆ่าบางคนเล่าว่า หลังจากตัดคอเหยื่อมานับสิบคน เขาเริ่มทรมานเหยื่อมากขึ้น เพื่อข่มความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตัวเองว่าสิ่งที่ทำไม่ผิด เหยื่อบางคนถูกตัดจู๋ แทงก้น เมื่อถูกทรมานจนตาย ก็ดื่มเลือดของเหยื่อ
มือสังหารเล่าว่า ทหารอยู่เบื้องหลังพวกเขาซึ่งเป็นพลเรือนในหมู่บ้าน สั่งให้ตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นมา สามารถฆ่าคนในหมู่บ้านที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยข้อหาว่าจะต่อต้านรัฐบาล บางคนเป็นผู้มีการศึกษา มีความคิดหัวก้าวหน้า จะโดนข้อหาคอมมิวนิสต์เหมือนกัน บทลงโทษคือต้องตายสถานเดียว
“พวกคอมฯ จะทำลายศาสนาเรา พวกมันยังชอบร่วมเพศไม่เลือก” คือวาทกรรมสร้างความเกลียดชังให้มือสังหารกล้าลุกขึ้นมาฆ่าเพื่อนบ้านอย่างอำมหิต
“ทหารไม่ทำเองหรอกเพราะกลัวจะถูกต่างประเทศด่า จึงให้เราทำดีกว่า และสนับสนุนเครื่องมือในการฆ่าทุกอย่าง”
ไม่น่าเชื่อว่าเพียงไม่กี่ปีคนถูกฆ่าตายไปล้านกว่าคน ด้วยการปลุกระดมให้มือสังหารเกลียดชังอีกฝ่าย เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งสังคมไทยเคยสร้างความเกลียดชังด้วยคำว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ในช่วงเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙
อยากให้บรรดาคนที่ชอบสร้างความเกลียดชังในสังคม ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใดมาดูเรื่องนี้ให้มาก จะได้ตระหนักว่าผลสำเร็จของการสร้างความเกลียดชังคืออะไร
กว่า ๕๐ ปีผ่านไปความเกลียดชังในสังคมอินโดนีเซียก็ยังเป็นฝันร้ายของผู้คนจำนวนมาก
ทุกวันนี้ยังไม่มีใครกล้ากินปลาจากแม่น้ำบางสายของอินโดนีเซีย เพราะขยะแขยงกับศพนับหมื่นนับแสน กลิ่นซากศพ และสีเลือดทั้งสาย
ส่วนผลกระทบของหนังในสังคมอินโดนีเซีย แน่นอนว่าบรรดาผู้มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ยังมีอิทธิพลทางการเมือง การทหาร และหลายคนยังเชื่อเหมือนเดิมว่าครั้งหนึ่งการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ไม่ใช่บาป
แต่รูกุนบอกว่า หลังจากหนังเรื่องนี้ออกฉายไปทั่วประเทศ แม้จะถูกบรรดาผู้มีอิทธิพลและทหารข่มขู่ แต่ก็ทำให้ผู้คนในสังคมกล้ายอมรับความจริงมากขึ้น ครูสอนประวัติศาสตร์เริ่มหันมาตีแผ่ความจริงอันปวดร้าว ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อในอดีตที่ให้ร้ายป้ายสีคอมมิวนิสต์
โจโก วีโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบันให้สัญญาว่าจะตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต และได้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นเมื่อปีก่อน แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ยอมขอโทษต่อเหตุการณ์กวาดล้างคอมมิวนิสต์อันโหดร้ายคราวนั้น
รูกุนกล่าวว่า “หนังของโจชัวช่วยเปิดพื้นที่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ช่วยให้ชาวโลกได้รับรู้ความทุกข์ทรมาน ความเงียบงัน และความหวาดกลัวที่เราต้องอยู่ด้วยมาแสนนาน …บัดนี้ผมไม่กลัวอะไรอีกต่อไปแล้ว ไม่แม้แต่นิดเดียว”
ทั้ง ๆ ที่ในช่วงถ่ายทำ รูกุนกับครอบครัวต้องเก็บข้าวของเตรียมพร้อม ส่วนทีมงานก็จัดหารถไว้หน้ากองถ่าย และอีกทีมที่สนามบินรอพร้อมซื้อตั๋วทันทีหากมีเหตุร้าย เพื่อส่งพวกเขาหนีออกนอกประเทศ บางครั้งครอบครัวรูกุนก็ต้องย้ายไปอยู่เมืองอื่นโดยมีทีมงานเฝ้าระวังภัยใกล้ชิด และติดต่อขอทำวีซ่าตลอดชีพให้รูกุนได้ลี้ภัยไปเดนมาร์กด้วยหากจำเป็น
ด้านผู้กำกับออพเพนไฮเมอร์ ทีมงานจะคอยเตือนให้เขาสวมเสื้อกันกระสุนเสมอ เพราะห่วงว่าแก๊งอดีตนักฆ่าเหล่านี้อาจจะลอบสังหารเขาเมื่อไรก็ได้
ออพเพนไฮเมอร์ อดีตนักศึกษาฟิสิกส์และจักรวาลวิทยา เรียนจบจาก Department of Visual and Environmental Studies มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่น่าสนใจคือ สถาบันแห่งนี้ไม่ได้สอนพื้นฐานการทำหนังอย่างการถ่ายภาพ การตัดต่อ แต่สอนให้รู้ว่า “ภาพยนตร์คือรูปแบบหนึ่งในการทำความเข้าใจโลก” และ
“ถ้าอยากฝึกทำหนัง เอาไว้ฝึกหลังเรียนจบ แต่ขณะอยู่มหาวิทยาลัยจงฝึกการเรียนรู้โลก”
กลวิธีการเล่าเรื่องของหนัง เห็นชัดว่าแตกต่างจากสารคดีเรื่องอื่น คือปล่อยให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้เล่าเรื่องของตัวเองอย่างละเอียดในสถานที่จริง จนผู้ดูรู้สึกราวกับเห็นเหตุการณ์จริง ซึ่งตรงกับหนึ่งในวิธีการเรียนรู้อันแสนเรียบง่ายของสถาบันนี้ แต่มีประโยชน์แท้จริง คือ “จงปล่อยให้วัตถุดิบที่ดีที่สุดของเธอ เปล่งเสียงออกมาด้วยวิธีที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ออพเพนไฮเมอร์สร้าง The Look of Silence ตามหลังสารคดีอีกเรื่องคือ The Act of Killing ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน โดยใช้เวลาถ่ายทำถึง ๑๐ ปี ร่วมกับทีมงานชาวอินโดนีเซียอีก ๖๐ คน
เนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีของการสังหารโหด ในปี ๒๕๕๘ ออพเพนไฮเมอร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า
“มีที่หลายแห่งในโลกนี้ เป็นที่ที่มนุษย์มีประสบการณ์ผิดเพี้ยนอย่างถึงราก และเราต้องไปเพื่อเล่าความจริง ผมไม่ได้มองตัวเองเป็นนักเล่าเรื่องสักเท่าไร เป็นนักสำรวจมากกว่า แต่เราสร้างความจริงที่ไม่ได้ปรากฏอยู่มาก่อน มันเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีหนังถ่ายทอดออกมา”
ครับ เป็นนักสำรวจผู้เป็นมากกว่านักเล่าเรื่อง
- ตีพิมพ์ใน สารคดี ฉบับที่ 374 เมษายน 2559