“ออที เกอะ ตอที
ได้กินจากน้ำต้องรักษาน้ำ
ออก่อ เกอะ ตอก่อ
ได้กินจากป่าต้องรักษาป่า”
ภาษิตพื้นบ้านของชาวปกาเกอญอ
เชื่อว่าจากนี้เป็นต้นไปทุกปีเราจะต้องได้ยินคำพูดว่า “ปีนี้อากาศร้อนและน้ำแล้งกว่าปีก่อน”
ความแห้งแล้งของปีนี้ดูเหมือนจะทำลายสถิติความแล้งของปีก่อน เช่นเดียวกับความร้อนที่แผดเผาแผ่นดินไปทุกหย่อมหญ้า
ภาพถ่ายการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำบนภูเขาสุดลูกหูลูกตาเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรบนที่ราบสูงยังมีให้เห็น การทำลายป่าก็ไม่ได้ลดหย่อนไปกว่าปีที่ผ่านมา
แต่ในฝันร้ายก็มีฝันดีเสมอ
แม่น้ำหลายสายแห้งเหือดเป็นทราย แต่แม่น้ำบางสายยังมีน้ำไหลตลอดปี
ฤดูร้อนที่กำลังจะผ่านไป เราเดินทางไปป่าทางเหนือ ผ่านภูเขาสูงหลายลูก เห็นภูเขาหัวโล้นหลายแห่งมีร่องรอยการเผาซากไร่ข้าวโพด ภูเขาเหล่านี้คือป่าต้นน้ำสำคัญทางภาคเหนือซึ่งบัดนี้ถูกตัดไม้จนเหี้ยน
ผู้รู้คนหนึ่งเคยเปรียบเปรยเรื่องน้ำกับป่าให้ฟังว่า บนภูเขาที่มีป่าต้นน้ำ หากฝนตก ๑๐๐ ส่วน ป่าจะเก็บน้ำไว้ ๙๐ ส่วน อีก ๑๐ ส่วนจะไหลลงเบื้องล่างทันที แต่บนภูเขาที่ไม่มีป่าต้นน้ำเลย หากฝนตก ๑๐๐ ส่วน บนภูเขาจะเก็บน้ำฝนไว้ ๑๐ ส่วน และน้ำอีก ๙๐ ส่วนจะไหลสู่เบื้องล่างทันที
นี่คือเหตุผลว่าทำไมลำน้ำบางสายจึงมีน้ำไหลตลอดปีแม้จะอยู่ในหน้าแล้ง และบางสายจึงไม่มีน้ำไหลยามที่ฝนไม่ตกเลย
เรามาหยุดที่หมู่บ้านสบลานของชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอญอในป่าต้นน้ำออบขานแห่งอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
ก่อนเข้าหมู่บ้านเห็นลำน้ำสายหนึ่ง ใสและมีน้ำไหลตลอด ชาวบ้านแถวนี้เรียกว่า ลำน้ำแม่ขาน
ป่าต้นน้ำสบลานในอุทยานแห่งชาติออบขานเป็นจุดกำเนิดลำห้วยมากมายกว่า ๒๒ สาย เช่น ห้วยหมี ห้วยลูกอ๊อด ห้วยน้ำหวาน ฯลฯ แต่ละสายไหลมารวมกันเกิดเป็นลำน้ำสามสาย คือ ลำน้ำแม่ลานเงิน ลำน้ำแม่ลานคำ และลำน้ำแม่ลานหลวง ก่อนจะไหลต่อไปเป็นลำน้ำแม่ลาน
เด็กวัยรุ่นท่าทางทะมัดทะแมงอาสาพาเราเดินจากหมู่บ้านลัดเลาะไปตามคันนา ข้ามป่าใหญ่ พอพ้นชายป่าที่เห็นข้างหน้าคือลำน้ำแม่ลานหลวง น้ำใสไหลเย็น และข้าง ๆ คือลำน้ำแม่ลานคำ ทั้งสองสายมาสบกันบริเวณนี้ จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านสบลาน และไหลรวมเป็นลำน้ำแม่ขานไปบรรจบแม่น้ำปิงเบื้องล่างซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญหล่อเลี้ยงผู้คนสามอำเภอ คือ อำเภอสะเมิง อำเภอแม่วาง และอำเภอสันป่าตอง
เราเอามือวักน้ำล้างหน้าและนอนแช่น้ำดับความร้อนระอุในฤดูแล้งอย่างไม่น่าเชื่อว่ายังมีน้ำไหลในเวลานี้
แน่นอนว่าหากป่าต้นน้ำสบลานถูกทำลายเหมือนป่าต้นน้ำหลายแห่งในภาคเหนือ ลำน้ำแม่ขานคงแห้งเหือดเช่นเดียวกับลำน้ำอีกหลายแห่งที่เห็นดาษดื่น
เมื่อฝนตกสู่ผืนดิน น้ำจะถูกกักเก็บไว้ในดิน โดยมีเศษใบไม้จำนวนมากที่ร่วงหล่นจากต้นไม้ในป่าและย่อยสลายลงดินช่วยดูดซับน้ำไว้ เมื่อน้ำสะสมในดินมากจนถึงจุดหนึ่ง น้ำจะไหลซึมออกทางหน้าดิน เกิดเป็นตาน้ำเล็ก ๆ หลายแห่ง ไหลรวมเป็นลำธารย่อย ๆ
ชาวปกาเกอญอร้อยกว่าคนแห่งหมู่บ้านสบลานในเขตป่าสงวนแห่งชาติสะเมิง พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1A มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้ป่าต้นน้ำแห่งนี้ยังอยู่ในสภาพอุดมสมบูรณ์ พวกเขาช่วยกันรักษาป่าหมื่นกว่าไร่ ไม่เปลี่ยนเป็นไร่ผืนใหญ่อย่างไร่ข้าวโพดเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในป่าอนุรักษ์หลายแห่ง
พวกเขาเชื่อว่าลำน้ำทุกสายมี ผีน้ำ หรือนาที ปกป้องดูแลรักษา จึงมีพิธีไหว้ผีน้ำเพื่อเป็นการขอให้ผีน้ำคุ้มครองที่ทำกินและปกป้องรักษาน้ำ การดูแลรักษาน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชาวปกาเกอญอ เช่น ห้ามทิ้งขยะ ปัสสาวะ อุจจาระ หรือปาก้อนหินลงน้ำ เพราะถือเป็นการไม่แสดงความเคารพ โดยเฉพาะบริเวณตาน้ำนั้นห้ามฆ่าสัตว์และห้ามเหยียบย่ำตาน้ำอย่างเด็ดขาด
ความเชื่อแบบนี้หรือไม่ที่เป็นเหตุให้เราเห็นลำน้ำแถวนี้ใสสะอาดมากพวกเขาเชื่อว่าน้ำคือชีวิต น้ำมาจากการรักษาป่า และทำให้เขาปลูกไร่หมุนเวียนได้ด้วย ป่าอยู่ได้ คนก็อยู่ได้ รวมถึงคนปลายน้ำอย่างเราด้วย
ไร่หมุนเวียนเป็นระบบการปลูกข้าวที่รักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่า และรักษาความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับการปลูกข้าว แม้พื้นที่ปลูกข้าวจะใช้พื้นที่ในป่าด้วย
ในบรรดาพื้นที่ป่าสงวน ๑๑,๘๐๐ ไร่ที่ชาวปกาเกอญอช่วยกันดูแล แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ห้ามทำอะไรถึง ๗,๐๐๐ ไร่ ป่าใช้สอย ๓,๗๘๐ ไร่ ไร่หมุนเวียนและนาข้าว ๑,๐๐๐ ไร่ และที่อยู่อาศัย ๒๐ ไร่
เรียกว่าชาวบ้านช่วยกันดูแลพื้นที่ป่ากว่าร้อยละ ๙๐ ไม่ให้ถูกทำลายหรือกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
ชาวสบลานโชคดีที่มีป่าและน้ำอุดมสมบูรณ์เป็นมรดกตกทอด แต่พวกเขาก็ไม่เคยทำลายเพราะรู้ว่าความยั่งยืนของชีวิตคือการรักษาน้ำรักษาป่าผืนนี้
ตลอดทางไปสู่ลำน้ำแม่ขาน เห็นไร่หมุนเวียนของชาวบ้านอยู่ห่าง ๆ สลับกับผืนป่าขนาดใหญ่ มีต้นก่อ พะยอม ประดู่ และยาง เป็นต้นไม้ใหญ่ของป่าเบญจพรรณสลับป่าดิบ
การทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอญอคือการหมุนเวียนพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดเป็นเจ็ดแปลง แต่ละปีจะปลูกข้าวเพียงหนึ่งแปลง พอหลังเก็บเกี่ยวพื้นที่ปลูกข้าวก็จะได้รับการฟื้นฟูสภาพดินถึง ๗ ปี ปีถัดไปชาวบ้านจะปลูกข้าวแปลงที่ ๒ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ สลับกันไปจนครบ ๗ ปี จึงกลับมาปลูกในพื้นที่เดิมอีกครั้ง
แปลงที่ถูกทิ้งร้างไว้ หากมีต้นไม้เจริญเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ พวกเขาก็จะปล่อยให้โตต่อไป ไม่ตัดทิ้ง เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่า
เลข ๗ เป็นเลขนำโชคของชาวปกาเกอญอ สวรรค์มีเจ็ดชั้น ดาวลูกไก่ดาวนำโชคของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ก็มีเจ็ดดวง
พื้นที่ไร่หมุนเวียนจะตกทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ หากต้องการทำไร่หมุนเวียนเพิ่มเติมต้องได้รับความยินยอมจากชุมชน และทำตามกฎของหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามทำไร่บนพื้นที่ป่าดงดิบ ฯลฯ
“เคยมีนายทุนจากพื้นล่างมาชวนพวกเราปลูกข้าวโพดบนป่า และรับซื้อข้าวโพดถึงที่ แต่เราไม่ยินยอม เพราะต้องตัดไม้ทำลายป่า เราพอใจกับวิถีชีวิตแบบนี้ ไม่อดอยาก ไม่เดือดร้อนแล้ว” พะตีคนหนึ่งเอ่ยขึ้นขณะจูงฝูงควายออกไปหาหญ้ากินตามทุ่งนา
หลายปีก่อนรัฐบาลมีโครงการสร้างเขื่อนแม่ขานซึ่งจะทำให้ป่าแถวนี้ถูกน้ำท่วม ชาวบ้านจึงร่วมมือกับเครือข่ายต่อต้านการสร้างเขื่อนจนระงับโครงการไป แต่ยังไม่วางใจว่าโครงการนี้จะกลับมาอีกเมื่อไร
ไม่นานมานี้ผมยังจำชาวปกาเกอญอบางคนได้ ที่ลงมาถึงเมืองหลวงเพื่อร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่ขาน
“หากคนต้นน้ำทำให้น้ำสกปรก คนปลายน้ำก็ได้ใช้น้ำสกปรก แต่หากคนต้นน้ำดูแลรักษาน้ำ คนปลายน้ำก็จะได้น้ำสะอาด”
เด็กน้อยคนหนึ่งบอกเราขณะชวนกันเดินไต่เขาขึ้นไปดู “โจ๊ะมาโลลือหล่า” โรงเรียนเพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรม เป็นโรงเรียนนอกระบบที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ โดยจัดหลักสูตรแบบใหม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตท้องถิ่น เพื่อให้เด็ก ๆ สืบทอดภูมิปัญญาการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และที่สำคัญคือรักบ้านเกิดและเห็นคุณค่าของตนเอง รวมทั้งสามารถดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเอง
เยาวชนแห่งสบลานพูดจาน่าฟัง มีแววตาใสซื่อเหมือนคำพูดที่บอกเราว่า
“เขาดูแลเรา เราดูแลเขา
ถ้าไม่มีน้ำไม่มีป่า ก็ไม่มีบ้าน”
เพียงแค่รักษาป่าผืนใหญ่ เราก็ได้อะไรมากกว่าที่คิด
ขอบคุณ ข้อมูลจากหนังสือ ปกาเกอะญอ ฉันคือคน มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ
Comments
Pingback: ฉบับที่ ๓๗๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ‹ สารคดี.คอม