สุขุมวิทซอย ๒๘ เป็นซอยธรรมดาซอยหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร
แต่หากเข้าไปในซอยแล้วจะเห็นความแตกต่างจากซอยอื่นชัดเจน จากความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่สองข้างทางจำนวนมาก อาทิ จามจุรี ชมพูพันธ์ทิพย์ ฯลฯ ราวกับเดินในสวนสาธารณะ
หลายสิบปีก่อนถนนในซอยไม่ใช่ของสาธารณะ แต่เจ้าของที่ดินยกให้ทางกรุงเทพมหานครเพื่อปรับปรุงเป็นซอย และช่วยกันปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเย็น
ทุกเช้าเย็นจะมีผู้คนเข้ามาเดินออกกำลังกายในซอย รถราไม่พลุกพล่านเพราะเป็นซอยตัน ไม่ใช่เส้นทางลัด
แต่เมื่อความเจริญรุกเข้ามาในซอย ความร้อนแรงกำลังเกิดขึ้น
เกือบ ๑๐ ปีก่อนวันดีคืนดีชาวบ้านในซอยก็เห็นประกาศของทางเขตว่า กรุงเทพมหานครจะทำโครงการปรับปรุงซอย อ้างว่าจะขยายแนวท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม และสร้างที่จอดรถตลอดสองข้างทาง ด้วยการตัดต้นไม้ใหญ่หลายสิบต้นและเทปูนสร้างถนนคอนกรีต
ชาวบ้านทราบดีว่าซอยนี้ไม่เคยมีปัญหาน้ำท่วม และไม่ต้องการที่จอดรถมากมาย ล่อให้รถข้างนอกเข้ามาจอด
ชาวบ้านไม่ต้องการความร้อนจากคอนกรีต แต่ต้องการความร่มเย็นของต้นไม้ใหญ่มากกว่า
สองสามวันต่อมารถของเขตหลายคันแล่นเข้ามาในซอยเพื่อสำรวจ ผู้เขียน ลูกบ้านในซอยคนหนึ่งบอกเจ้าหน้าที่เขตว่า คนในซอยไม่ยอมให้ตัดต้นไม้ และตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ระบุชัดเจนว่า โครงการใด ๆ ของรัฐที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องได้รับความเห็นชอบจากคนในชุมชนก่อน แต่นี่ทาง กทม. ไม่เคยมาสอบถามอะไรเลย
เจ้าหน้าที่บอกว่าอย่างไรก็ต้องทำเพราะโครงการอนุมัติมาแล้ว ต้องใช้งบประมาณให้หมด แต่เรายืนยันกลับไปว่าไม่ยอมเด็ดขาด
วันรุ่งขึ้นชาวบ้านในซอยช่วยกันนำผ้าเหลืองมาผูกต้นไม้ใหญ่ สร้างพิธีกรรมบวชต้นไม้ และล่ารายชื่อชาวบ้านที่ไม่ยอมให้ตัดต้นไม้
เมื่อทางเขตกลับมาอีกครั้ง เราก็ยื่นรายชื่อคนคัดค้านให้ และเรียกร้องให้ทำประชาพิจารณ์
หลายวันต่อมาลูกบ้านคนหนึ่งมีโอกาสอภิปรายหัวข้อเรื่องโลกร้อนกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ถามท่านว่า กทม. จะลดโลกร้อนอย่างไร หากมัวแต่ตัดต้นไม้ใหญ่อย่างไม่ลืมหูลืมตา
หลังจากนั้นโครงการปรับปรุงซอย ๒๘ จึงถูกยกเลิกไปในที่สุด
หลายปีต่อมามีการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในซอย ใช้เวลาสร้างนาน จนเมื่อเดือนกุมภา-พันธ์ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับทราบข่าวว่า เจ้าของโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ต้องการตัดต้นชมพูพันธ์ทิพย์อายุ ๒๐ กว่าปีด้านหน้าทางเข้า ทั้ง ๆ ที่อยู่บนถนน ไม่ใช่อยู่ในที่ดินของตัวเอง โดยอ้างว่าต้นไม้เกะกะทางเข้าที่จอดรถ
วันหนึ่งตัวแทนเจ้าของโครงการฯ มาเจรจากับชาวบ้าน บอกว่าขออนุญาตจากทางเขตให้ตัดต้นไม้แล้วเพราะอยู่บนถนน แต่ทางเขตให้มาเจรจากับชาวบ้าน
ทางโครงการฯ ยืนยันหนักแน่นว่าจะตัดต้นไม้ และทดแทนด้วยการปลูกต้นไม้เสริมให้แถวนั้น แต่ลูกบ้านยืนกรานให้เปลี่ยนแบบแปลน ไม่ยอมให้ตัด แต่การเจรจาไม่ได้ข้อยุติ
สองสามวันต่อมาชาวบ้านยกขบวนไปหน้าที่ก่อสร้าง และนัดหมายตัวแทนให้ออกมาเจรจาเป็นครั้งสุดท้าย บอกว่าอย่างไรก็ไม่อนุญาตให้ตัดต้นไม้แน่นอน และฝากไปบอกเจ้าของโครงการฯ ด้วยว่าพวกคุณไม่มีสิทธิ์ตัดต้นไม้ในที่สาธารณะเด็ดขาด
“ต้นไม้แห่งนี้คุณยายในซอยผู้ยกที่ดินให้เป็นของส่วนรวมเป็นคนปลูกขึ้นมากับมือ พอท่านเสียไปเมื่อปีก่อนก็นำอังคารส่วนหนึ่งของท่านมาฝังไว้ใต้ต้นไม้นี้”
“พวกคุณก่อสร้างมาตลอด ๓ ปี พร้อมฝุ่นละออง ควัน เสียงดังและน้ำเสีย และยังจะตัดต้นไม้ที่ให้อากาศและความร่มเย็นอีก ถามจริง ๆ เถอะพวกคุณเคยทำอะไรให้กับซอยบ้าง”
“พวกคุณบรรดา developer ทั้งหลาย ทำโครงการขายเสร็จก็ไปแล้ว ไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่พวกเราอาศัยอยู่ที่นี่ตลอดไป พวกเราไม่ยอมเด็ดขาด และจะไม่มีการเจรจาอีกต่อไป”
เมื่อพูดจบ ชาวบ้านก็เดินไปที่ต้นไม้ใหญ่ นำผ้าเจ็ดสีมาพันรอบต้น และจุดธูปขอให้บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองดูแลต้นไม้ใหญ่ หวังให้ปลอดจากภัยพิบัติทั้งหลายทั้งปวง
จากนั้นก็มีข่าวว่าเจ้าของโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมยอมถอย ไม่ตัดต้นไม้แต่อย่างใด
ขอบคุณทางโครงการฯ ที่ฟังเสียงคนในชุมชน และจะเป็นการเริ่มต้นของการอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบ และได้ประโยชน์ทุกฝ่าย
ชาวบ้านได้ต้นไม้ ชาวคอนโดฯ ก็ได้ความร่มเย็น
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “พลังของคนตัวเล็ก ๆ หากร่วมกันต่อสู้เรียกร้องน่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่อยู่ที่ว่าจะกล้าไหม
- ตีพิมพ์ใน สารคดี ฉบับที่ 385 มีนาคม 2560