6 เมษายนที่ผ่านมา ผมได้รับข่าวการจากไปอย่างสงบของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร ในวัย 100 ปี
คนรุ่นนี้ส่วนใหญ่คงไม่เคยได้ยินชื่อ ฉลบชลัยย์ พลางกูร เจ้าของโรงเรียนดรุโณทยาน นอกเสียจากศิษย์เก่าโรงเรียนแห่งนี้หรือผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ฉลบชลัยย์ เป็นบุตรของขุนสมานสมุทกรรม (บุญหนุน มหานีรานนท์) กับนางแฉล้ม เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2459 จบการศึกษาจากโรงเรียนราชินีแล้ว เข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2479 ครูฉลบเป็นผู้หญิงคนเดียวที่สอบชิงทุน King’s Scholarship และได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาด้านอนุบาลศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
ท่านคือภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของ จำกัด พลางกูร อดีตเลขาธิการขบวนการเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนดรุโณทยานมาด้วยกัน
คุณจำกัด พลางกูร ตายไปเมื่ออายุได้เพียง 28 ปี ขณะมาปฏิบัติราชการลับในประเทศจีน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นและทำให้รัฐบาลไทยต้องประกาศสงครามกับชาติสัมพันธมิตร ขณะที่ในประเทศไทยได้มีการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ
คนตัวเล็ก ๆ คนนี้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้สัมพันธมิตร ไม่ว่าจีน อังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้รับทราบถึงการมีอยู่ของขบวนการเสรีไทย ส่งผลให้หลังสงครามโลกครั้งที่สองไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศแพ้สงคราม ด้วยการลักลอบเข้าไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศจีน
จำกัด พลางกูรได้รับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ให้ไปปฏิบัติภารกิจลับเดินทางไปประเทศจีน เสี่ยงอันตรายสูงสุดกับศัตรูรอบด้าน โดยไม่รู้ว่าจะไม่ได้มีโอกาสกลับแผ่นดินแม่อีก
ตอนนั้นจำกัดเพิ่งแต่งงานกับ คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ได้เพียงสามปี ก่อนที่สามีจะไปทำงานเพื่อประเทศชาติในแดนไกล
“ฉลบจ๋า เธอจงอยู่ไปดี ๆ นะ เธอจงคิดว่า ได้อุทิศฉันให้แก่ชาติไปแล้วก็แล้วกัน” คือคำร่ำลาครั้งสุดท้ายของสามี
เจ็ดเดือนต่อมาจำกัด พลางกูร ปฏิบัติภารกิจสำเร็จ ประเทศสัมพันธมิตรทราบว่าประเทศไทยมีขบวนการเสรีไทยที่ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น แต่ได้ล้มป่วยลงและตายที่ประเทศจีน
นายปรีดี พนมยงค์ ทราบข่าวการเสียชีวิตของจำกัดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้เล่าให้ครูฉลบทราบ จนสงครามสงบลง นายปรีดีได้เชิญผู้ใหญ่หลายท่านมาที่ทำเนียบท่าช้าง และรบกวนให้ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ สวัสดิวัตนหัวหน้าเสรีไทยสายอังกฤษ ผู้มีโอกาสได้พบจำกัดในช่วงสุดท้ายของชีวิตที่เมืองจุงกิง ได้เป็นผู้บอกภรรยาของเขา
ครูฉลบชลัยย์หนีออกไปร้องไห้นอกห้อง นายปรีดีเข้าไปโอบกอดและบอกว่า
“ต่อไปนี้ขอให้ถือว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกันนะ”
ครูฉลบชลัยย์แต่งชุดดำไว้ทุกข์ต่อมาถึง 20 ปี ครองตัวอยู่คนเดียว สืบทอดความคิดของสามีผู้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนดรุโณทยาน อุทิศตนเองเป็นครูใหญ่สอนหนังสือเด็ก ๆ
โดยเฉพาะลูกหลานของผู้ได้รับเคราะห์กรรมหลังการรัฐประหาร 2490 ครูฉลบอุปการะลูกๆ ของคนที่ถูกกวาดล้างจากเผด็จการทหาร โดยเฉพาะลูกหลานของอดีตสี่รัฐมนตรีที่ถูกลอบสังหารอย่างโหดร้าย คือนายเตียง ศิริขันธ์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และให้การช่วยเหลือนักศึกษาที่ตกเป็นผู้ต้องหาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ส่งอาหารมาเยี่ยมทุกอาทิตย์ติดต่อกันสองปี จนผู้ต้องหาถูกปล่อยออกมาทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ครูเคยเล่าให้ฟังว่า
“ดิฉันมานึกดูว่า นักศึกษาพวกนี้จะถูกฟ้องขึ้นศาลทหาร ศาลพิเศษนี่แหละที่จำกัดสามีของดิฉันได้เคยเขียนวิพากษ์วิจารณ์ไว้ และนั่นเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาถูกออกจากราชการและชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ถ้าเขามีชีวิตอยู่ เขาจะต้องทุ่มตัวเข้าช่วยเด็กพวกนี้ทุกวิถีทาง ”
ทุกครั้งที่เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม ครูฉลบเจ้าของโรงเรียนเอกชนเก่าแก่จะปรากฎตัวคอยช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมเสมอ เพราะเชื่อมั่นว่า
หากสามียังมีชีวิตอยู่ก็จะทำสิ่งเดียวกันเช่นเดียวกับครูฉลบทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
ความรักของคนสองคน เมื่อคนหนึ่งจากไป คงถูกสานต่อด้วยอุดมคติของคนที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นเวลายาวนานกว่า 60 ปี
รูปถ่ายของจำกัดใส่กรอบตั้งอยู่ในบ้านตลอดกาล จนวาระสุดท้ายของชีวิตครูฉลบ
เป็นความรักที่แม้ความตายก็มิอาจพรากจากไปได้
กรุงเทพธุรกิจ 21 เมษายน 2560
Comments
http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:3269
ชื่อคุณพ่ออาจารย์สะกดแบบนี้ครับ