“ศัตรูสำคัญของปัญหาโลกร้อนคือความโลภของมนุษย์”
ต้องยอมรับว่านาทีนี้หันหน้าไปทางไหน มีแต่คนพูดถึงเรื่องภาวะโลกร้อน พอๆ กับอยากรู้ว่าใครจะได้เป็นเอเอฟคนใหม่
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า ตั้งแต่ทำงานรณรงค์ให้ผู้คนในสังคมมีสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมมาหลายสิบปี ดูเหมือนประเด็นเรื่องโลกร้อน จะได้รับความสนใจมากที่สุด
ประเด็นเรื่องน้ำเน่า อากาศเสีย ป่าไม้ถูกทำลาย รณรงค์มาหลายสิบปี พูดให้ปากเปียกปากแฉะก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ หรือสังคมจะมีความสำนึกมากขึ้นเพียงใด
ไม่เหมือนเรื่องโลกร้อน พูดกันมาไม่กี่ปี ความสนใจของสาธารณชนพุ่งพรวดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อได้คุณอัล กอร์ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เรื่องราวของโลกร้อนอยู่ในความสนใจของผู้คนในสังคม ทุกระดับ ทุกกลุ่มทุกวัย เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก และผู้คนสามารถรับรู้ได้ง่าย จากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอย่างรู้สึกได้ อากาศอันแปรปรวน ความแห้งแล้ง ฝนที่ตกหนักและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงภาพข่าวทีวีเห็นการละลายของน้ำแข็งอย่างรวดเร็วในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ช่วยจินตนาการให้เห็นถึงน้ำท่วมโลกรวมไปถึงโรคแปลกๆ ที่เกิดขึ้นผิดสังเกตตั้งแต่เชื้ออิโบล่าไปจนถึงเชื้อหวัดนก
โลกร้อนจึงเป็นเรื่องอินเทรนด์ ใครไม่สนใจอาจจะตกกระแสสังคมเอาง่ายๆ
วันนี้หากใครจะจัดงานประชุม จัดนิทรรศการหรืองานสัมมนาทั้งทางวิชาการหรือไม่วิชาการ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ตามโรงแรมหรูๆ เปิดแอร์เย็นฉ่ำ ก็ต้องมีประเด็นเรื่องโลกร้อนเข้าไปเอี่ยวด้วย
จะเปิดตัวสินค้าบางยี่ห้อ ก็ต้องมีคำว่าสินค้าชนิดนี้มีส่วนในการลดภาวะโลกร้อนให้ดูจึงจะแสนเก๋
ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่บางแห่ง ลงทุนเนรมิตภายในห้างให้เป็นธรรมชาติ ยกเอาป่าและสัตว์ป่ามาไว้ในห้าง เพียงเพื่อต้องการสร้างภาพลักษณ์ว่าห้างแห่งนี้สนใจการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ไม่ยอมปรับลดอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศภายในห้างลง
ลำพังห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ ต้องมีการจัดอีเวนท์หรือเทศกาลเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาภายในห้าง พอประเด็นเรื่องโลกร้อนอยู่ในกระแสของสังคม นักการตลาดก็มิอาจละเลยที่จะเอาเรื่องโลกร้อนมาจัดเป็นเทศกาลภายในห้าง เพื่อหวังดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อสินค้า เพิ่มปริมาณยอดขายแข่งกับห้างอื่นๆ
อันที่จริงก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภาคธุรกิจและหน่วยราชการหลายแห่งตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม
แต่ลืมคิดไปว่าการผลิตไฟฟ้ามีส่วนสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ในปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ 344 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในจำนวนนี้เกือบ 200 ล้านตัน มาจากภาคพลังงาน คือการผลิตและใช้กระแสไฟฟ้า รองลงมาคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่ง
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดในปัจจุบันคือเครื่องปรับอากาศ กล่าวคือร้อยละ 40 ของการผลิตกระแสไฟฟ้านำมาใช้กับเครื่องปรับอากาศ ตั้งแต่ในบ้านพักอาศัย สำนักงานอาคาร โรงงานอุตสาหกรรม และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งหลาย
ยิ่งเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำมากๆ ก็ต้องใช้ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าก็ล้วนแต่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเท่านั้น
ยิ่งรณรงค์ให้คนมาซื้อสินค้ามากขึ้น ก็ต้องยอมรับว่ากระบวนการผลิตสินค้าทุกชนิด ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันรถยนต์ ล้วนแต่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตทั้งสิ้น
การขนส่งสินค้าโดยเฉพาะทางบกและทางอากาศ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเผาผลาญน้ำมันส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
หากจะพูดกันให้แคบกว่านี้ ก็ต้องยอมรับว่าโลกของทุนนิยม ที่แต่ละคนก็ต้องการผลิตสินค้าอย่างมหาศาล เพื่อทำกำไรสูงสุด โดยใช้การโฆษณาและการตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนให้สินค้าของตัวเองสามารถเพิ่มยอดขายได้มากที่สุดนั้น ดูจะไม่ค่อยไปด้วยกันกับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนเท่าไรนัก
ยิ่งผลิตมากก็ต้องใช้พลังงานมาก
ระบบทุนนิยมที่เราอยู่กับมันมานานแสนนาน จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แม้ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม
ทุกวันนี้หลักสูตรการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ยังให้ความสนใจกับการสอนให้ผู้เรียนสามารถทำธุรกิจเพื่อกำไรสูงสุดได้อย่างไร ส่วนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมเดินตามหลังมาอย่างช้ามั่กๆ
เราจึงเห็นนักธุรกิจที่เห็นตัวเลขยอดขายเป็นเป้าหมายสูงสุด
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นนักการตลาดหรือสินค้าหลายชนิดหันมาให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องโลกร้อน จัดเป็นอีเวนท์ จัดเป็นเทศกาลอยู่เกือบทุกวัน
แต่ไม่เคยมีประเด็นบอกให้ลูกค้าทราบว่า เราจะปรับตัวอย่างไรให้อยู่กับภาวะโลกร้อน จะลดการใช้ไฟฟ้า ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ลดการทิ้งขยะ ลดการซื้อสินค้าโดยไม่จำเป็น ลดการใช้ถุงพลาสติค ลดการใช้รถยนต์โดยไม่จำเป็น
เพราะภาวะโลกร้อนเป็นเพียงเครื่องมือทางการตลาด เพื่อเพิ่มยอดขายของสินค้ามากกว่าจะหาทางทำให้บริษัทหรือลูกค้าของตัวเองมีส่วนในการบรรเทาภาวะโลกร้อนจริงๆ
อีกไม่นาน เราคงอาจได้เห็นการประกวดนางงามโลกร้อน ครีมป้องกันโลกร้อน นางแบบใส่แฟชั่นล่าสุดชุด Global Warming เดินประชันโฉมในโรงแรมห้าดาว ฯลฯ
จนกว่าเรื่องโลกร้อนจะค่อยๆ ตกกระแสไป และมีกระแสอื่นมาทำการตลาดแทน
อาทิ กระแสนิวเคลียร์ (ฮา)
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2550