เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้เดินทางไปเมืองคุมะโมโตะ ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น สังเกตว่า คลองระบายน้ำริมถนน ใสสะอาดมาก มีปลาคาร์พอาศัยอยู่ด้วย
สอบถามได้ความว่า เป็นคลองระบายน้ำฝน หรือหิมะที่ละลายมาจากภูเขาก่อนไหลออกสู่ทะเลอย่างเดียว น้ำจึงใสสะอาด
ในประเทศญี่ปุ่น ระบบระบายน้ำมีสองแบบด้วยกัน
แบบแรกเป็นระบบท่อแยก ที่แยกท่อระบายน้ำฝนและน้ำเสียออกจากกัน ท่อระบายน้ำฝนจะรับเพียงน้ำฝนอย่างเดียวแล้วระบายออกสู่คลองและแม่น้ำโดยตรง
ส่วนน้ำเสียจะผ่านอีกท่อหนึ่งไปเข้าระบบบำบัดก่อนปล่อยลงสู่คลองและแม่น้ำ
แบบที่สอง เป็นระบบท่อรวม ท่อระบายน้ำจะรองรับทั้งน้ำฝนและน้ำเสียจากชุมชนและอุตสาหกรรม เข้าสู่โรงบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยเข้าคลองและแม่น้ำ
และในพื้นที่ที่ไม่มีโรงบำบัดน้ำเสีย แต่ละบ้านก็ต้องมีถังเกรอะบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่ท่อระบายน้ำด้วย
ขณะที่บ้านเราคลองและท่อระบายน้ำรองรับทั้งน้ำฝนและน้ำเสีย แม้จะมีโรงบำบัดแต่ก็ไม่พอต่อความต้องการ น้ำเสียจากครัวเรือนจึงไหลลงคลองเป็นส่วนใหญ่
……………………………………..
คลองในประเทศญี่ปุ่นน้ำใสยังไม่พบขยะ
ไม่เฉพาะในคูคลองเท่านั้น หากเดินไปตามถนนในประเทศญี่ปุ่น แม้แต่ตรอก ซอย สถานีรถไฟ สวนสาธารณะ ส่วนใหญ่แทบจะไม่เห็นขยะ
ปรากฎการณ์เมืองสะอาดไม่ได้เกิดมานานแล้ว แต่เริ่มต้นประมาณสามสิบกว่าปีก่อน ญี่ปุ่นเจอปัญหาขยะล้นเมืองเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
คนญี่ปุ่นแก้ปัญหาขยะด้วยการ
สร้างจิตสำนึก
สร้างวินัย
และบังคับใช้กฎหมาย
เด็กญี่ปุ่นถูกปลูกฝังมาว่า ขยะเป็นภาระของเรา ไม่ใช่ของคนอื่น การทิ้งขยะจะทำให้เกิดภาระกับคนอื่น ๆ ทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเอง โดยการลดการใช้ขยะ
และหากจำเป็นก็ทิ้งขยะให้น้อยที่สุด ทุกคนต้องรับผิดชอบขยะตัวเองก่อนส่งต่อให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะ
พวกเขาถูกสอนว่า เวลาออกนอกบ้าน หากไม่มีที่ทิ้งขยะ ก็ต้องนำขยะติดตัวมาทิ้งในบ้านตัวเอง
เมื่อมีสำนึกแล้วต้องมีวินัย
การแยกขยะเป็นเรื่องสำคัญมากในสังคมญี่ปุ่น พวกเขาจริงจังมาก อาทิ ขวดน้ำดื่มพลาสติก ก่อนจะทิ้งลงถัง จะต้องแกะเอาฉลากออกจากขวด ขวด โฟม
หรือกระป๋องใส่ของเหลวชนิดต่าง ๆ ก่อนทิ้งก็ต้องล้างน้ำทำความสะอาดก่อน
และนำไปใส่ถังขยะที่แยกเป็น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กระดาษ อะลูมิเนียม
และต้องเรียนรู้ว่า ขยะอะไรที่เผาได้ กับเผาไม่ได้ ขยะที่เผาได้และขยะที่เผาไม่ได้อย่างชัดเจน
ขยะเผาได้ คือ ขยะจากในครัว (ขยะเศษอาหาร) และขยะเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ในชีวิตประจำวัน
ขยะเผาไม่ได้ ก็คือ พวกขวดแก้ว กระป๋อง ขวดพลาสติก สารเคมี ยา กระป๋องสเปรย์ เครื่องหนัง แผ่นซีดี ฯลฯ ส่วนใหญ่นำมารีไซเคิล
พวกเขาแยกขยะกันละเอียดมาก
แต่ละปีทางเทศบาลจะมีเอกสารจากไปทุกบ้าน เป็นตารางระบุ วันเวลารถเก็บขยะจะมารับขยะแต่ละประเภทไปกำจัดชัดเจน
อาทิ ทุกวันพุธที่สองของเดือนทิ้งขยะประเภทแก้ว วันอังคารที่สี่ของเดือนทิ้งขยะประเภทพลาสติก วันจันทร์ที่สามของเดือน เป็นวันทิ้งขยะรีไซเคิล ประเภทหนังสือพิมพ์ กระดาษ ฯลฯ
คนญี่ปุ่นตามบ้านเรือนจะต้องเรียนรู้ว่า วันไหนจะมีรถขยะมารับขยะประเภทใด เขาจะทำตามอย่างเคร่งครัด บรรจุถุงขยะให้ถูก ไม่ทิ้งขยะมั่ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นการฝึกวินัย
แน่นอนว่า ขยะเหล่านี้ก่อนรวบรวมต้องทำความสะอาด หากเป็นขวด กระป๋องล้างให้สะอาด หากเป็นกล่องต้องพับให้แบน เพื่อประหยัดเนื้อที่
การแยกขยะเป็นหน้าที่สำคัญของคนญี่ปุ่น และต้องฝึกลูกหลานในบ้านเพื่อแยกขยะด้วย
และหากทิ้งขยะไม่ถูกที่ ถูกวิธี ถูกวันเวลา สิ่งที่ตามมาคือ การถูกปรับถูกลงโทษจากเจ้าหน้าที่
ส่วนในร้านค้า ซุปเปอร์มาเก็ต ขยะของลูกค้าเป็นหน้าที่ของพนักงานในร้าน แยกชนิด และนำไปกำจัด ถือว่าร้านค้าหรือบริษัทผู้ผลิตที่ทำให้เกิดขยะ จะต้องรับผิดชอบขยะที่มาจากแหล่งผลิตของตัวเอง
สามสิบปีผ่านไป ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการกำจัดขยะ จากการปลูกฝังจิตสำนึก การสร้างวินัยเหล็กเพชร และการจริงจังของเจ้าหน้าที่ในการรักษากฎระเบียบ
เพราะขยะไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่ต้องช่วยกัน ตั้งแต่คนผลิตขยะไปจนถึงเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกำจัดขยะ
ขณะที่ขยะบ้านเรา ขยะเป็นเรื่องของคนอื่น ไม่ใช่ตัวเรา
เราจึงทิ้งขยะได้ง่ายดาย เพราะไม่ใช่หน้าที่เราที่ต้องรับผิดชอบ
ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วม น้ำจึงพัดพาขยะมากองรวมประจานพวกเราด้วยกัน
กรุงเทพธุรกิจ 2 มิย.2560
Comments
สุดยอดมากครับ “ขยะเป็นภาระของเราไม่ใช่ของคนอื่น”