การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก ที่ไม่มีในแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ภาษาอังกฤษ มีศัพท์คำหนึ่งฟังแล้วชวนขนลุก ผู้สนใจธรรมชาติรู้จักดี คือ คำว่า Mass Extinction แปลเป็นไทยว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เมื่ออุบัติขึ้นแล้ว คือหายนะจริง ทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ พืช สัตว์ แทบทุกชนิดต้องสูญพันธุ์ไปพร้อม ๆ กัน หรือในเวลาอันไล่เลี่ยกัน

คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว แทบจะล้างโลกกันทีเดียว
ที่ผ่านมาประมาณ 4,500 ล้านปี ของอายุของโลกใบนี้ ผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วห้าครั้ง

ครั้งแรกเกิดเมื่อประมาณ 450 ล้านปีในปลายยุคออร์โดวิเชียน สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ สูญพันธุ์ไป 60-70 เปอร์เซนต์ สาเหตุจากเป็นยุคน้ำแข็งปกคลุมทั่วโลก น้ำทะเลกลายเป็นก้อนน้ำแข็งยักษ์ และลดระดับลงไปร่วมร้อยเมตร

ครั้งที่สองเกิดเมื่อ 360 ล้านปี ยุคปลายเดโวเนียน สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำหายไป 70 เปอร์เซนต์ ปะการังแทบเกลี้ยง สาเหตุคาดว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

เหตุครั้งที่สามถือว่าร้ายแรงที่สุด เกิดตอนสิ้นยุคเพอร์เมียนประมาณ 250 ล้านปี ได้ฉายาว่า เป็นมารดาแห่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหายไปถึง 97 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะแมลงยักษ์และหอยไทโรไบค์ สาเหตุมาจากการระเบิดของภูเขาไฟยักษ์ในไซบีเรีย หรืออุกาบาตชนโลก ทำให้เกิดวิกฤติโลกร้อน

ครั้งที่สี่เกิดในสมัยจูแรสสิกเมื่อ 200 ล้านปี ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดครั้งใหญ่ตอนกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก เกิดภาวะโลกร้อน สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครึ่งหนึ่งหายไป และทำให้ไดโนเสาร์แพร่พันธุ์ครองโลก

การสูญพันธุ์ครั้งที่ห้า น่าจะเป็นที่รู้จักของคนมากที่สุด เกิดในยุคครีเตเชียส เมื่อ 65 ล้านปีก่อน จากอุกาบาตชนโลกบริเวณอ่าวเม็กซิโก ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ทันที

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การสูญพันธุ์ตามธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของการวิวัฒนาการ เพราะเปิดโอกาสให้สิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้
อาทิ หากไดโนเสาร์ผู้เคยครองโลกมาหลายร้อยล้านปีไม่สูญพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมนุษย์ก็จะไม่มีโอกาสแจ้งเกิดมาเป็นเจ้าโลกนี้แทนได้

ปัจจุบันนี้ โลกกำลังก้าวสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก สาเหตุหลักไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่มาจากน้ำมือของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่
ที่น่าตกใจคือ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งนี้ มีอัตราการทำลายล้างสูงมากกว่าในอดีตถึงหนึ่งพันเท่า สาเหตุมาจากคือการไล่ล่าของมนุษย์ การทำลายป่า และปัญหามลพิษโลกของเรากำลังก้าวสู่ยุคการลำลายล้าง ที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืช อย่างน้อย 3 ใน 4 ที่มีอยู่ทั้งหมดต้องสูญพันธุ์และหายไปจากโลกใบนี้

นายเฮร์ราลโด เซบัลลอส นักนิเวศวิทยาแห่งสถาบันชีววิทยาศาสตร์แห่งชาติเม็กซิโก ศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลี้อยคลาน จำนวนทั้งสิ้น 27,600 สายพันธุ์ พบว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียง 40 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ทำลายสิ่งมีชีวิตจนสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ไปถึงร้อยละ 50 นั่นหมายความว่าก่อนจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 22 โลกของเราอาจไม่มีสิ่งมีชีวิตหลงเหลืออยู่ นอกจากมนุษย์

ต้นเหตุปัญหาสำคัญที่สุดคือการเพิ่มประชากรของมนุษย์และการผลิตที่มากเกินไป จนทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ปัจจุบันป่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 กลายเป็นพื้นที่ทางเกษตรไปหมดแล้ว พื้นที่อาศัยของสัตว์ก็น้อยลงตามไปด้วย

เรากำลังเดินเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 สิ่งมีชีวิตนับพันล้านตัวกำลังจะหายไป และมนุษย์อาจจะสูญพันธุ์ไปด้วยจากสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

ปัจจุบัน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสูญพันธุ์ไป 41 เปอร์เซ็นต์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญพันธุ์ไป 26 เปอร์เซ็นต์ และอีก 50 ปี ข้างหน้า สิ่งมีชีวิต 70 เปอร์เซนต์จะสูญพันธุ์ไป และอวสานของมนุษย์อาจมาเยือนเร็วกว่าที่คิด

ล่าสุดหลายแห่งทั่วโลกได้เกิดปัญหาผึ้งในธรรมชาติหายไป ซึ่งเป็นวิกฤติที่ไม่มีใครสนใจ เพราะผึ้งเป็นตัวหลักในการผสมพันธุ์เกสรดอกไม้ หากพืชผลทางการเกษตรที่ใช้ผึ้งเป็นตัวขยายพันธุ์หายไป อะไรจะเกิดขึ้นกับอาหารของโลก

เช่นเดียวกัน มีการพบว่าน้ำทะเลมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ทำให้หลายแห่งน้ำทะเลมีค่าเป็นกรดสูง สาหร่ายบางชนิด ที่เป็นอาหารปลาเริ่มหายไป หากอาหารปลาหายไป

อะไรจะเกิดขึ้นกับปลาทะเลที่เป็นอาหารหลักของมนุษย์ หายนะมารอเราอีกไม่นาน

นักวิทยาศาสตร์ไม่เห็นสัญญาณบวกชัด ๆ อันใดจากรัฐบาลหรือบริษัททั่วโลกที่จะช่วยชะลอการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่นี้

การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หกมาเยือนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง แต่ไม่มีในแผนยุทธศาสตร์ชาติแน่นอน

กรุงเทพธุรกิจ 20 กค. 60

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.