วันก่อนขณะกำลังขับรถไปทำงาน ผู้เขียนเหยียบเบรคชะลอรถ หยุดให้คนข้ามถนนตรงทางม้าลาย ปรากฎว่ารถคันหลังบีบแตรไล่หลัง ให้รีบไป
ผมข่มใจไม่แสดงอาการอะไรออกมา และแผ่เมตตา ปล่อยให้มันผ่านไป ไม่เก็บไว้เป็นอารมณ์ให้ขุ่นมัว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น และสังเกตได้ว่า การหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายในประเทศนี้ แทบจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์บนท้องถนน
เพราะรถส่วนใหญ่จะแล่นผ่านไปเลย เมื่อเห็นมีคนรอข้ามถนนตรงทางม้าลาย บางคันเร่งเครื่องเหยียบคันเร่ง
และใครหยุดรถให้คนข้ามถนน ก็เสี่ยงกับการโดนรถคันหลังชน หรือไม่ก็โดนบีบแตรไล่
ผมพยายามคิดว่า ทำไมคนขับรถส่วนใหญ่จึงไม่หยุดให้คนข้ามถนนทางม้าลาย หลายครั้งหน่วยงานรัฐพยายามรณรงค์ให้จอดรถให้คนข้ามถนน
แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะคนขับรถส่วนใหญ่จะคิดว่า ถนนเป็นพื้นที่ของรถไม่ใช่ของคน และทุกคนอยากรีบขับรถไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง
การหยุดรถให้คนข้ามถนนเป็นเรื่องเสียเวลา
ตรงข้ามกับหลายประเทศ เพียงแค่คนมายืนตรงขอบถนนตรงทางม้าลาย รถก็หยุดให้คนข้ามถนนแล้ว
แน่นอนว่า การบังคับใช้กฎหมายของหลายประเทศรุนแรงมาก การไม่หยุดให้คนจอดรถข้ามทางม้าลาย อาจถูกปรับเงินมหาศาลและอาจถูกยึดใบขับขี่ตลอด
แต่เท่านั้นยังไม่พอ สำนึกต่อส่วนรวมเป็นเรื่องที่มีอยู่ในประชาชนหลายประเทศเช่นกัน
การหยุดรถให้คนข้ามถนนเป็นสำนึกต่อส่วนรวม สำนึกว่าคนเดินถนนก็มีสิทธิ์ใช้พื้นถนนเหมือนกัน และการข้ามถนนเป็นเรื่องที่คนขับรถต้องยอมรับสิทธิของคนเดินถนน
และการหยุดรถก็เป็นหลักประกันความปลอดภัยของคนข้ามถนน
สำนึกต่อส่วนรวม ตรงกันข้ามกับคำว่า ความเห็นแก่ตัว
ไม่นานมานี้ ผมได้อ่านข้อความที่แชร์กันในไลน์ จากความรู้สึกของคนญี่ปุ่นที่ทำงานเมืองไทยร่วมสิบปีก่อนจะลากลับบ้าน
ด้วยเหตุผลว่าเคยเกือบโดนรถชนตายบนถนน บนทางม้าลายและยังถูกเปิดกระจกตะโกนด่าซ้ำ แค่มุมมองต่อการใช้ถนนของเขาก็สะท้อนนิสัยคนไทยได้ดี
เขาบอกว่า “พื้นฐานของชาติผมคือวินัย แต่พื้นฐานของคนไทยคือเห็นแก่ตัว”
หลายคนที่เคยไปญี่ปุ่น ไม่แปลกใจ เมื่อเห็นรถทุกคันหยุดให้กับคนข้ามถนนทางม้าลายอย่างพร้อมเพรียงกัน จนเป็นเรื่องชินตา
เช่นเดียวกัน จะเห็นคนญี่ปุ่นยืนรอสัญญาณไฟตรงสี่แยกอย่างอดทนหลายนาที ไม่ว่าหิมะตกหรือฝนตก จนกว่าจะเปลี่ยนเป็นไฟเขียวให้ข้ามถนนได้
สิ่งเหล่านี้คือวินัยและสำนึกต่อส่วนรวม ที่คนญี่ปุ่นสร้างกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่หลายปีในเมืองไทยเขาสังเกตเห็นการจราจรบนท้องถนนพบว่า
“ต้องคอยขยับรถทีละนิดเพราะกลัวว่าตนจะถูกคนเอาเปรียบ“
“ถ้าไม่รีบขยับรถไปข้างหน้า จะมีคนเห็นแก่ตัวหาทางโกงคุณเสมอ หมายถึงรถซ้ายขวาที่จ้องจะแย่งเข้าเลน แม้ว่ามันจะขยับไปทับเส้นขาวแล้วขวางทางรถพยาบาล หรือไปหยุดกลางสี่แยกกั้นไม่ให้ทุกคนได้ไป คนไทยก็จะทำโดยไม่ลังเล”
“คนไทยจอดรถซื้อของในที่ห้ามจอดบนทางเท้าหรือจอดทั้งที่รถติดๆ โดยไม่คิดว่ารถคันหลังจะมีธุระด่วนแค่ไหน ในประเทศญี่ปุ่นไม่มีแบบนี้ เรารีบเร่งตลอดเวลา แต่ว่าเราไม่เห็นแก่ตัวเหมือนคนไทย”
แต่ที่แสบสันต์ก็คือทัศนะของเขาต่อสะพานลอยข้ามถนน ว่าเป็นสิ่งอัปลักษณ์เหลือเกินและสะท้อนการเอารัดเอาเปรียบคนใช้ถนนยิ่งนัก
“คนไทยโดนหลอกให้ใช้สะพานลอย ไม่มีเหตุผลที่จะไล่คนท้อง คนพิการและคนชราให้ปีนสะพานสูงชัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถยนต์ราคาแพงๆ”
แทนที่หน่วยงานรัฐจะบังคับใช้กฎหมายกับคนขับรถที่ไม่หยุดให้คนข้ามถนนทางม้าลาย เมื่อทำไม่สำเร็จคนไม่กลัวกฎหมาย
ก็สร้างสะพายลอยบังคับให้คนต้องเดินขึ้นสะพานสูง บางแห่งก็เปลี่ยว เสี่ยงต่อการถูกคนร้ายปล้นทรัพย์ หรือทำร้ายร่างกาย
ชาวญี่ปุ่นคนนี้ยังแสดงความเห็นต่อว่า คนไทยจำนวนมากขี้กลัว ไม่กล้ารักษาสิทธิ์ของตัวเอง ไม่กล้าโวยใส่รถราคาแพงที่ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย
“ คนไทยขี้กลัว ไม่กล้าโวยวายใส่คนรวยแม้จะทำผิดกฎหมาย แต่ยอมปีนบันไดชันๆดีกว่า เพื่อให้คนรวยเขาอยู่สบายๆ เหนือกฎหมายต่อไป”
บทสรุปของเขาก่อนอำลากลับประเทศคือ
“คนไทยกลัวคนรวย แต่ไม่กลัวกฎหมาย…..ดังนั้นกฎหมายจึงอยู่ใต้คนรวยเสมอในประเทศนี้และเพราะกฎหมายไม่ช่วยอะไร ทำให้ทุกคนยิ่งต้องเห็นแก่ตัว เพื่อไม่ให้ถูกคนเอาเปรียบกัน”
ไม่แปลกใจที่คนบ้านอื่นจะมองว่า พื้นฐานคนไทยคือความเห็นแก่ตัว
Credit: Line forwarded
กรุงเทพธุรกิจ 18 สิงหาคม 2560