คำแห่งปี 2017 Youthquake กับการเลือกตั้ง

25011980_304878926674196_4831335610927022080_n

แต่ละปี Oxford Dictionary จะประกาศให้คำที่มีพลังหรือสร้างปรากฎการณ์ ส่งผลสะเทือนต่อสังคมอย่างมาก เป็นคำศัพท์แห่งปี
อาทิเช่น หลายปีก่อนพจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ประกาศให้คำว่า selfie เป็นคำแห่งปี ในช่วงที่ปรากฎการณ์การเซลฟี หรือถ่ายภาพตัวเองผ่านโทรศัพท์มือถือระบาดอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้คนหลายพันล้านคน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ พจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ประกาศให้คำว่า Youthquake เป็นคำแห่งปี 2017

Youthquake มีความหมายถึงพลังของคนหนุ่มสาวได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมอย่างมีนัยสำคัญแทบจะเรียกว่า แผ่นดินไหวกันเลยทีเดียว
แต่อันที่จริง Youthquake ไม่ใช่คำศัพท์ใหม่ เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน คำนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดย Diana Vreeland บรรณาธิการนิตยสาร Vogue เพื่ออธิบายถึงการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของคนหนุ่มสาว ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ที่มีการเปลี่ยนค่านิยมอย่างฉับพลัน ทั้งเรื่องแฟชั่น เพลง และแนวความคิดในช่วงเวลานั้น ในโลกตะวันตก การเกิดของวง The Beatles ได้ปฏิวัติวงการเพลงโดยสิ้นเชิง ตามมาด้วยวงดนตรีร็อคของคนหนุ่มสาว ด้านการเมืองมีพลังของคนหนุ่มสาวในการต่อต้านสงครามเวียดนาม ต่อต้านการเหยียดผิวในสหรัฐ และการเปลี่ยนแปลงการออกแบบแฟชั่นในโลกตะวันตกมากมาย ฯลฯ

มาถึงปี 2017 คำว่า Youthquake หมายถึง การตื่นตัวทางการเมืองของกลุ่มมิลเลนเนียล millennials หรือบางทีเรียกว่ากลุ่มคน genartation Y ที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ จากพลังของคนกลุ่มนี้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การเลือกตั้งในประเทศอังกฤษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่าง พรรคใหญ่สองพรรค คือพรรคเลเบอร์หรือพรรคแรงงานกับพรรคคอนเซอร์เวตีฟหรือพรรคอนุรักษ์นิยม ที่ผ่านมาคนระดับล่างหรือผู้ใช้แรงงานจะเลือกพรรคแรก และคนระดับสูงจะเลือกพรรคอนุรักษ์นิยม

แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวได้เทคะแนนเสียงให้กับสส.ของนาย Jeremy Corbyn วัย 68 ปี หัวหน้าพรรคแรงงาน จนสส.พรรคนี้ชนะการเลือกตั้งหลายแห่งแบบหักปากกาเซียน

หรือกรณีคนรุ่นใหม่จำนวนมากในสหรัฐอเมริกาพากันสนับสนุน เลือกนาย Bernie Sanders วัย 76 ปีที่มีความคิดก้าวหน้า เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครทแข่งกับนาง Hillary Clinton แม้สุดท้ายจะไม่ได้รับเลือก

น่าสังเกตว่า คนรุ่นใหม่หลายประเทศเลือกผู้นำจากแนวคิด อุดมการณ์ว่าสอดคล้องกับตัวเอง มากกว่าเลือกเพราะเป็นคนรุ่นเดียวกัน เราจึงเห็นคนหนุ่มสาวเลือกคนสูงวัย หลายแห่งในโลกนี้

ขณะที่การเลือกตั้งในฝรั่งเศส คนรุ่น Generation Y พากันเทเสียงเลือก National Front พรรคขวาจัด และเยาวชนในออสเตรเลียเป็นกำลังหนุนหลักผลักดันจนสภาผ่านกฎหมายรับรองการแต่งงานที่เท่าเทียมระหว่างเพศ

ล่าสุดการเลือกตั้งซ่อมวุฒิสมาชิกในรัฐอลาบามา สหรัฐอเมริกา คนรุ่นใหม่ก็เลือก ดั๊ก โจนส์ อดีตอัยการจากพรรคเดโมแครต เอาชนะอดีตผู้พิพากษาจากพรรครีพับลิกันที่มีข่าวอื้อฉาวว่าลวนลามเด็ก และเป็นครั้งแรกที่พรรคเดโมแครทได้ปักหลักในมลรัฐแห่งนี้

พจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ด เผยว่า มีคำศัพท์อีกมากมายที่โด่ดเด่นในปีนี้ แต่เหตุผลที่เลือก Youthquake เพราะคือคำที่ถูกใช้เพิ่มมากขึ้นถึง 5 เท่าตลอดทั้งปีโดยคู่แข่งมาแรงคือ Antifa คำย่อของคำว่า anti-fascist หรือ ต่อต้านเผด็จการ

ส่วนบ้านเรา คำว่า Youthquake หรือพลังคนรุ่นใหม่ จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่

หลังจากสามปีที่ผ่านมา ดูเหมือนประเทศนี้จะถูกปกครองและกำหนดทิศทางจากคนสูงวัยมาโดยตลอด

Youthquake ในการเมืองไทยจะเกิดขึ้นหรือไม่ การเลือกตั้งใหญ่ปี 2018 คือบทพิสูจน์

กรุงเทพธุรกิจ 21ธค.2017

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.