เผชิญหน้าแมมมอททั้งตัวทั้งขน

เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองหลวงเก่าแก่ของประเทศรัสเซีย เป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์มาหลายร้อยปี เป็นศูนย์กลางอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิรัสเซียในอดีต

ใครมาเยือนมหานครแห่งนี้จะพบเห็นร่องรอยความยิ่งใหญ่ด้านศิลปะ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมอันเลื่องชื่อ

แต่ไม่ค่อยมีคนทราบว่าเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นแหล่งความรู้ด้านธรรมชาติวิทยามาหลายร้อยปีแล้ว

เดือนธันวาคม ปลาย ค.ศ. ๒๐๑๗ ผู้เขียนเดินฝ่าหิมะหนาวยะเยือกไปเยือนพิพิธภัณฑ์สวนสัตว์ที่มีชื่อทางการว่า The Zoological Museum of the Zoological Institute of the Russian Academy of Sciences เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาขนาดใหญ่ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลก มีชิ้นตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทั่วโลกสะสมถึง ๑.๗ ล้านชนิด และจัดแสดงให้ชมถึง ๑ ล้านชิ้น ของเหล่านี้เก็บมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๒๔ สมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช ผู้สร้างเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นเมืองหลวง

ในอดีตเจ้าแห่งประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ มักส่งนักวิทยาศาสตร์ออกไปทั่วโลก ตั้งแต่ดินแดนอาณานิคมของตัวเอง จนถึงดินแดนใหม่ที่คนตะวันตกไม่เคยค้นพบ เพื่อสำรวจหาสิ่งมีชีวิต และนำตัวอย่างมาสตัฟฟ์ไว้ในท้องพระโรงเพื่อศึกษา วิจัย

ช่วงเวลานั้นการสตัฟฟ์สัตว์ยังเป็นค่านิยมของผู้มีอำนาจที่ต้องแข่งกันสะสมของแปลก ๆ เพื่อประกาศความเป็นผู้มีอารยะ

แน่นอนว่าเบื้องหลังสัตว์สตัฟฟ์นับล้านตัวคือการล่าสัตว์และสังหารโหด

เมื่อก้าวผ่านอาคารใหญ่อายุนับร้อยปีเข้าไป สิ่งแรกที่เห็นคือ โครงกระดูกวาฬสีน้ำเงินขนาดใหญ่กลางห้องโถง ไม่ไกลจากนั้นมีสัตว์เลี้ยงสามตัวของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช คือสุนัขและม้าจัดแสดงอยู่

ห้องถัดไปเป็นตู้กระจกหลายร้อยตู้ แต่ละตู้จัดแสดงสัตว์สตัฟฟ์นานาชนิดจากทุกทวีปทั่วโลก ตั้งแต่หมีขาว เสือโคร่งไซบีเรีย เสือโคร่ง สิงโต กวาง หมี นกหลายพันชนิด สัตว์พวกกบ คางคก กุ้ง หอย ปู ปลา หลากพันธุ์ จนถึงฟอสซิลสิ่งมีชีวิตในอดีต

แต่ไฮไลต์ของที่นี่คือตัวอย่างฟอสซิลช้างโบราณที่เรียกว่าแมมมอท ซึ่งมีลำตัวและงาใหญ่กว่าช้างปัจจุบัน เคยอาศัยอยู่ช่วงยุคน้ำแข็งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และไซบีเรีย

“แมมมอท” - mammoth มาจากภาษารัสเซีย MaMOHT แปลว่าเขาสัตว์ของโลก

กำเนิดขึ้นมาเมื่อราว ๕ ล้านปีก่อน และจำนวนเริ่มลดลงด้วยน้ำมือมนุษย์ในยุคหินเก่าที่ล่าเอาเนื้อมาเป็นอาหาร และหนัง ไขมันมาเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย จนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้แมมมอทสูญพันธุ์ไปเมื่อหมื่นกว่าปีก่อน

แต่บางทฤษฎีเชื่อว่าแมมมอทสูญพันธุ์จากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เมื่อโลกร้อนขึ้น แมมมอทซึ่งมีรูปร่างใหญ่และขนหนาปรับตัวไม่ได้ก็สูญพันธุ์

ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อทั้งสองทฤษฎี มนุษย์ล่ามากเกินไป จำนวนแมมมอทลดลงจนน่าตกใจ และพออากาศร้อนขึ้น ปรับตัวไม่ได้ จึงสูญพันธุ์ ไม่ต่างจากสัตว์นับล้านชนิดที่สูญพันธุ์ไปก่อนหน้า

ผู้เขียนเดินดูฟอสซิลงาช้างโค้งงอของแมมมอทหลายชิ้นซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว่าช้างปัจจุบันมาก  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้พิเศษตรงที่ว่า ไม่ได้มีแค่งาช้าง กะโหลก หรือกระดูกท่อนต่าง ๆ เหมือนพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ แต่มีตัวอย่างแมมมอทที่พบทั้งตัวในสภาพที่ยังมีเนื้อ หนัง ขนผิวสมบูรณ์

และผู้เขียนมายืนหน้าตู้กระจกขนาดใหญ่ Berezovsky mammoth

เป็นแมมมอทผู้ใหญ่ตัวเดียวที่สมบูรณ์ที่สุดของโลก ค้นพบโดยนายพรานไซบีเรียใน ค.ศ. ๑๙๐๑ ใกล้แม่น้ำ Berezovska ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออันไกลโพ้นของรัสเซียที่อากาศหนาวเย็นตลอดปี และนักวิทยาศาสตร์ได้ยกทีมออกไปขุดซากใต้น้ำแข็ง นำมาที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในอีก ๒ ปีต่อมา

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า แมมมอทวัย ๔๕ ปีตัวนี้คงเดินหากินและพลัดตกหน้าผาลงมาตายทันที ตอนค้นพบยังมีหญ้าและเมล็ดพืชติดปาก

ผู้เขียนยืนดูแมมมอทวัยหนุ่มใหญ่ ขนาดรูปร่างไม่ต่างจากช้างเอเชีย แต่นี่คือแมมมอทที่สูญพันธุ์ไปแล้วนับหมื่นปี ซึ่งสมบูรณ์ทั้งตัว มีเนื้อ หนัง ขนยาวออกสีน้ำตาล ท่าทางอยู่ในสภาพเหมือนถูกขุดพบตรงที่มันตกลงมาตายเมื่อ ๔ หมื่นกว่าปีก่อน

แน่นอนว่าสาเหตุที่ธรรมชาติยังเก็บรักษาส่วนเนื้อ หนัง ขนได้ครบถ้วน เพราะพบซากในชั้นน้ำแข็งที่ความหนาวเย็นช่วยรักษาไว้ แม้เวลาผ่านไปหลายหมื่นปี

มีเรื่องเล่าว่าใน ค.ศ. ๑๙๕๑ งานเลี้ยงแห่งหนึ่งในกรุงนิวยอร์กเสิร์ฟเนื้อแมมมอทให้แขกได้ชิมกันด้วย

ตู้กระจกข้าง ๆ ยังมีซากลูกแมมมอททั้งตัวอายุ ๓-๔ เดือน สีดำสนิท วางอย่างสงบ

พิพิธภัณฑ์สวนสัตว์แห่งนี้เป็นคลังความรู้มหาศาลของโลก โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับแมมมอทหลายชนิดพันธุ์ที่ค้นพบในรัสเซีย น่าเสียดายแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวมาชมเลย วันนั้นทั้งวันผู้เขียนเห็นแต่ครูพาเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษา

ไม่ต่างจากเมืองไทย ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยา ผู้คนสนใจน้อยจริง ๆ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.