ข่าวการตายของวาฬนำร่องครีบสั้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จากการผ่าท้องพบขยะพลาสติกน้ำหนักรวมกัน 8 กิโลกรัม จำนวนกว่า 80 ชิ้น อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต อาจจะเป็น จุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องการแก้ปัญหาขยะพลาสติก
ที่ผ่านมา เรามักได้ข่าวเนือง ๆ ว่า มีสัตว์ทะเล ติดอวนตาย หรือเกยตืนตาย ผ่าท้องพบขยะพลาสติก
แต่การตายของวาฬนำร่องครีบสั้นครั้งนี้ ดูเหมือนจะสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนมากเพราะเป็นสัตว์ตัวใหญ่ และภาพขยะพลาสติกที่อัดแน่นเต็มท้อง ทำให้ผู้คนจำนวนมากสนใจปัญหาขยะพลาสติกจริงจัง
ไม่น่าเชื่อว่า คนไทยทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลเป็นอันดับ 6 โลก มากกว่าประชากรอินเดียที่มีประชากรนับพันล้านมากกว่าไทยเสียอีก
คนไทยใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน ขณะที่คนยุโรปใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 3 ใบต่อวันนั้นหมายความว่า วันหนึ่งเราผลิตขยะถุงพลาสติกร่วม 500 ล้านชิ้น
นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก หากรวมกับพลาสติกชนิดอื่น คนไทยทิ้งขยะลงทะเลปีละกว่า 750ล้านชิ้น
เคยมีคนสำรวจว่า ทำไมผู้คนจึงนิยมใช้ถุงพลาสติกเยอะขนาดนี้
คำตอบคือ ความสะดวกสบาย
………
พลาสติกกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกบนโลกเมื่อ 130 ปีก่อน ในปีค.ศ. 1868 โดยจอห์น เวสลีย์ ไฮแอท นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ต้องการคิดหาวัสดุสังเคราะห์มาใช้ทำลูกบิลเลียดแทนงาช้าง ที่มีราคาแพง
จากนั้นในเวลาต่อมา น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติได้กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตพลาสติก และถุงพลาสติกได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในเวลาไม่เกิน 30-40 ปี
ก่อนหน้าที่ถุงหิ้วพลาสติกหรือถุงก๊อบแก๊บจะได้รับความนิยม ทุกครั้งที่ไปจ่ายกับข้าวในตลาดแม่บ้านทั่วโลกจะต้องถือตะกร้าออกจากบ้านเสมอ
สมัยนั้นสังคมโลกจึงไม่มีปัญหาเรื่องขยะพลาสติกล้นโลก เพราะไม่มีถุงก๊อบแก๊บให้ใช้แทนจนกระทั่งมีการผลิตถุงพลาสติกขึ้นมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก
ที่เมืองไทยเอง เมื่อมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้กลายเป็นอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ ปริมาณการผลิตถุงพลาสติกขนาดมหาศาลจึงเกิดขึ้นจากความนิยมของผู้บริโภคที่นิยมความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย แถมเป็นของฟรี
หลายคนไปซื้อของ เห็นพนักงานใส่ถุงพลาสติกแล้ว ยังเอ่ยปากขอเพิ่มอีก เผื่อไปใส่ขยะที่บ้าน
ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความสะดวกสบายของประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย หลายประเทศพยายามรณรงค์หรือขอความร่วมมือไม่ใช้ถุงพลาสติก อาทิ ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งไม่ให้ถุงพลาสติกแก่ผู้ซื้อสินค้า หากจะใช้ต้องจ่ายเงินซื้อ หรือ บางแห่งไม่มีเลย
ประเทศไทยเอง รัฐบาลขอความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ไม่ให้ถุงพลาสติกแก่ผู้ซื้อทุกวันที่ 15 และ 30 ของทุกเดือน รวมถึงมีการรณรงค์ต่าง ๆนานา
แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถบรรเทาปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
ล่าสุดภาพถ่ายดาวเทียมสามารถจับภาพขยะพลาสติกในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ลอยติดกันเป็นแพขนาดยักษ์ มีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศส สเปน เยอรมนีรวมกันเสียอีก
สุดท้ายการลดขยะพลาสติกที่ได้ผลที่สุด คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังมากกว่า
หลายประเทศได้ออกกฎหมายยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง
บังกลาเทศเป็นประเทศแรกของโลกที่ “แบน” ถุงพลาสติก เพราะปัญหาน้ำท่วมใหญ่หลายครั้งมีคนตายมากมาย เพราะถุงพลาสติกไปอุดตันในท่อระบายน้ำ คูคลอง น้ำระบายไม่ทัน เช่นเดียวกับหลายรัฐในอินเดียที่ห้ามการใช้ถุงพลาสติก เพราะปัญหาน้ำท่วม
ทางการเคนยาเริ่มบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามการใช้ถุงพลาสติกแล้ว หากผู้ใดจำหน่าย ผลิตหรือใช้ถุงพลาสติก จะต้องเผชิญโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับเงินสูงสุด 38,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.25 ล้านบาท)
แคนาดา เม็กซิโก ยกเลิกการผลิตถุงพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้
ซานฟรานซิสโก โอ๊คแลนด์และอีกหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้
ไต้หวันก็ห้ามใช้ถุงพลาสติก
ขณะที่อีกหลายประเทศ ใช้การเก็บภาษีถุงพลาสติกแทน ทำให้ถุงมีราคาแพง อาทิ ประเทศ ไอร์แลนด์ ผลคือ ลดการใช้ถุงพลาสติกลงถึง 90 % จาก 1,200 ล้านใบ เหลือเพียง 200 ล้านใบ
ล่าสุดฝรั่งเศสจะเป็นชาติแรกในโลกที่ออกกฏหมายห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกใส่อาหาร ไม่ว่าจะเป็นจาน ถ้วย หรือเครื่องครัวทุกชนิด โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในในปี 2020
แน่นอนว่า นโยบายการบังคับใช้กฎหมายของประเทศเหล่านี้ อาจสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน บริษัทผลิตพลาสติกและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศเป็นอย่างมาก
แต่สุดท้ายความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและอนาคตของคนรุ่นลูกหลานคือคำตอบที่ผู้นำประเทศเหล่านี้เลือกแทน
ส่วนในประเทศเรา ดูเหมือนผู้นำทุกยุคทุกสมัย ทำได้ก็แค่ขอความร่วมมือ การรณรงค์เพื่อปลุกจิตสำนึกได้บ้าง ไม่ได้บ้าง วนไปเรื่อย ๆ
วาฬตายเพราะขยะพลาสติกตัวนี้จึงไม่ใช่ตัวสุดท้ายแน่นอน
กรุงเทพธุรกิจ 21/6/61