มาบตาพุด ทางออกที่เปิดแล้ว

         

 

เมื่อสามสิบปีก่อน รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  ได้กำหนดให้พื้นที่สามจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกคือจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทราและระยอง เป็นศูนย์กลางความเจริญและแหล่งที่ตั้งอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ผลก็คือได้เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ อิสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ

สาเหตุที่เลือกชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก เพราะใกล้กรุงเทพมหานคร พื้นที่เหมาะสมในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีการต่อท่อนำมาขึ้นฝั่งบริเวณตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง

 

มาบตาพุดเริ่มเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ตอนนั้นเคยมีนักวิชาการออกมาเตือนรัฐบาลว่า โครงการนี้แม้จะสร้างงานและความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับประเทศแต่จะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างรุนแรง หากไม่มีมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง

 

เมื่อสามสิบปีก่อน เสียงคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เบาหวิวกว่าปุยนุ่นเสียอีก

 

รัฐบาลได้วางแผนให้พื้นที่บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นเมืองอุตสาหกรรมทันสมัย เป็นแหล่งที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี

 

แต่ตอนนั้นการตัดสินใจของรัฐบาล ไม่ได้ลงไปพูดคุยหรือทำความเข้าใจกับชาวบ้านหรือชุมชนในท้องถิ่น แม้ว่าในอดีตชาวบ้านจะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัวของประชากรในปัจจุบัน

 

รัฐบาลพูดแต่ด้านดีของการพัฒนาว่า จะมีท่าเรือน้ำลึก มีโรงงาน ทุกคนจะมีรายได้ เศรษฐกิจจะดีขึ้น ดึงดูดให้มาบตาพุดที่เคยเป็นชุมชนเล็ก ๆ กลายเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่น มีผู้คนอพยพเข้ามาทำงานมากขึ้น

 

การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ที่บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำรายงาน  ก็เป็นเพียงเครื่องมือฟอกโรงงานให้ดูขาวสะอาด อ้างว่าการปล่อยมลพิษได้ทำตามมาตรฐานสากล

 

สิบกว่าปีผ่านไป พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 20,000 ไร่ เต็มไปด้วยโรงงานหลายร้อยแห่ง  ได้สร้างให้คนมีงานทำหลายแสนคน สร้างรายได้ให้กับประเทศ และสร้างผลกำไรให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทปตท. และบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย

หลายปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในตลาดหลักทรัพย์มีกำไรก้าวกระโดดกันถ้วนหน้า กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในประเทศ

 

เช่นเดียวกับชาวเมืองมาบตาพุดมีรายได้ดีกว่าผู้คนในละแวกนั้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ในขณะเดียวกัน ชาวมาบตาพุดก็มีรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น โรงพยาบาลมาบตาพุดที่เคยเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ได้เพิ่มขึ้นเป็น 150 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ และผู้ป่วยมะเร็ง

 

ภาพเด็กนักเรียนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะสูดดมควันพิษ จนสุดท้ายต้องย้ายโรงเรียนหนีออกไป ยังอยู่ในความทรงจำของหลายคน

 

ใครที่เคยย่างกรายเข้าไปแถบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เห็นปล่องควันโผล่ขึ้นมากมาย ก็คงทราบดีว่า สภาพอากาศที่นั่นเหมาะกับการสูดดมเข้าไปหรือไม่  และไม่ต่างจากน้ำทะเลบริเวณนั้นที่เป็นสีน้ำตาลอ่อนตลอดทั้งปี เป็นสิ่งแปลกปลอมในธรรมชาติ  แม้ว่าบรรดาผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำจำนวนมหาศาล จะประสานเสียงกันว่า ได้ทำตามมาตรฐานสากล ติดอุปกรณ์อันทันสมัยเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม

 

แต่ความจริงก็คือ มีคนป่วยและล้มตายลงเรื่อย ๆ อย่างเงียบ ๆ

 

ความจริงก็คือว่า อากาศ น้ำ ที่คุยนักคุยหนาว่าได้รับการบำบัดอย่างดีแล้ว  มีคุณภาพพอที่จะไม่มีสารก่อมะเร็งในระดับที่อันตรายต่อผู้คนได้จริงหรือ

 

จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไปยื่นขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง และสุดท้ายศาลปกครองได้ออกคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด รวมถึงอำเภอบ้านฉางและอำเภอเมือง ที่มีนิคมอุตสาหกรรมด้วย

 

สาระสำคัญของการประกาศให้พื้นที่ใดเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น ก็คือ พื้นที่นั้นจะได้รับความกวดขันมากขึ้น และจะมีภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมเข้ามามีอำนาจในการกำกับดูแลมากขึ้น นอกเหนือจากทางฝ่ายราชการฝ่ายเดียว

 

แต่ทันทีที่มีข่าวออกมา

 

ผู้บริหารกลุ่มอุตสาหกรรม หรือสภาอุตสาหกรรมต่างประสานเสียงพูดเหมือนกันหมดว่า  จะขออุทธรณ์ เพราะการประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะทำให้กระทบกระเทือนการลงทุนหลายแสนล้านบาท ทำให้ต่างชาติไม่กล้ามาลงทุนในเมืองไทยอีกต่อไป

 

และอ้างว่า ข้อมูลของศาลปกครองที่ได้รับนั้น เป็นข้อมูลของอดีตหลายปีแล้ว แต่ตอนนี้มีการปรับปรุงคุณภาพการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

 

ผมฟังแล้วได้แต่ถอนหายใจ

 

หากคำตัดสินของศาลเป็นวิกฤติของบรรดานักอุตสาหกรรม แต่ผมกลับคิดว่านี่คือโอกาสอันดี

 

ผมอยากเห็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้แสดงความจริงใจ ออกมาแสดงความเสียใจ ยอมรับผิดกับเหตุการณ์ในอดีตที่อุตสาหกรรมเหล่านี้มีส่วนทำให้มีผู้ล้มป่วย และเสียชีวิต ยืนยันต่อสังคมว่าปัจจุบันได้มีการติดตั้งเครื่องมือทันสมัยเพื่อป้องกันปัญหามลภาวะ เหตุการณ์แบบในอดีตจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

 

ผมอยากเห็นผู้นำเหล่านี้ก้าวออกมาแสดงสปิริตอย่างแรงกล้า ในฐานะผู้มีเสียงดังในสังคมว่า จะไม่ขออุทธรณ์ใด ๆทั้งสิ้น แต่จะทำทุกอย่างให้ได้สภาพแวดล้อมดีขึ้น เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย แม้ว่าอาจจะต้องยอมจ่ายเงินลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (อย่าลืมนะครับวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาหลายครั้ง บริษัทเหล่านี้ขาดทุนไปหลายหมื่นล้านบาท แต่ก็ยังสามารถเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสได้ เปลี่ยนนโยบายการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อสร้างกำไรในอนาคต)

 

วิกฤติการณ์ครั้งนี้ ก็คือโอกาสอันดีที่จะทำให้ระยะยาวทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติ ภายใต้ความไว้วางใจ

 

ฝ่ายประชาชนเองก็ทราบดีว่า ไม่ปรารถนาจะขับไล่โรงงานอุตสาหกรรมให้ออกจากพื้นที่ หรือต่อต้านการขยายตัว เพราะไม่เกิดประโยชน์อันใด เพียงแต่ขอความเชื่อมั่นว่า ลูกหลานของเขาจะมีอากาศหายใจที่ดีขึ้น ไม่ป่วยเป็นโรคร้าย

 

การประกาศเขตควบคุมมลพิษจึงเป็นหนทางแห่งที่พยายามจัดสมดุลระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

 

ถึงเวลาที่ นักอุตสาหกรรมต้องยอมเสียสละบ้างแล้วครับ เพราะที่ผ่านมาประชาชนเป็นฝ่ายเสียสละมาโดยตลอด

Comments

  1. คนคู่

    ขอชื่นชมกับพลังในการเรียกร้องสิทธิของชาวมาบตาพุดและขอขอบคุณในความเสียสละที่ผ่านมา

    และหวังว่าคงจะไม่มีใครดูถูกนักอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาหลักแห่งนี้ ด้วยอมตะวลี ,จะทำให้เสียบรรยากาศการลงทุน เพราะเท่าที่เห็นเหล่า ceo ใหญ่หย่าญต่างออกมาขานรับกับ csr กันอย่างครึกโครม …..

  2. ปกรณ์

    เคยมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอะไร ไปใช้ในมาบตาพุดบ้างครับ ขอเป็นนโยบายรัฐบาลทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ รบกวนส่งทาง jonnonlen@yahoo.com ด้วยครับ ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

  3. tum

    ให้คนมาบตาพุดทำงานตามวุฒิจะได้มีความมั่นคงทางด้านอาชีพและมีความกลมเกียวกันระหว่างชุมชนกับโรงงาน จากคนมาบตาพุด

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.