จาก EIA ถึง HIA เครื่องมือใหม่สำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

http://student.mahidol.ac.th/%7Eu4809127/image/id.gif

HIA  เป็นศัพท์ใหม่ในแวดวงคนทำงานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  เวลาออกเสียง ต้องออกเสียงแยกทีละตัวอักษรว่า เอชไอเอ อย่าออกเสียงเป็นคำเดียว จะไปพ้องกับสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งที่มักปรากฏตัวในทำเนียบรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ หลายคนคงจะคุ้นกับคำว่า อีไอเอ  (Environment Impact Assessment- EIA) มีความหมายถึงการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  ซึ่งตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมพ.ศ. ๒๕๓๕ ระบุว่า โครงการขนาดใหญ่ใด ๆทั้งภาครัฐ และเอกชนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางเจ้าของโครงการจะต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนตรวจสอบว่า จะมีมาตรการในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างไร หากอีไอเอไม่ผ่านหรือสอบตก การทำโครงการนั้นก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ที่ผ่านมาการทำอีไอเอมักจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ให้กับเจ้าของโครงการมากกว่าเป็นเครื่องมือในการปกป้องคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ชาวบ้าน หรือทรัพยากรธรรมชาติ

บริษัทที่ ปรึกษารับจ้างทำอีไอเอมักจะทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโอนเอียงไปทางให้ประโยชน์แก่ฝ่ายเจ้าของ โครงการมากกว่า ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าของโครงการคือผู้ว่าจ้างจ่ายเงินทำอีไอเอจึงต้องทำตามออเดอร์ของผู้ว่าจ้าง

โครงการ สร้างเขื่อนในผืนป่าขนาดใหญ่ เราจึงมักจะได้ยินว่า รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบุว่าพื้นที่อ่างเก็บน้ำจากการสร้างเขื่อน มักเป็นป่าเสื่อมโทรมแทนที่จะเป็นป่าอุดมสมบูรณ์

โครงการ สร้างโรงงานอุตสาหกรรม เรามักจะได้ยินเสมอว่า ปริมาณของสารพิษที่ปล่อยออกจากปล่องควันอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

แต่หากผู้คน บริเวณรอบ ๆโรงงานเหล่านี้ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ หรือโรคมะเร็งมากผิดปรกติ ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นเพราะควันบุหรี่หรือควันจากท่อไอเสียมากกว่าควันพิษจากโรงงาน

ทุกวันนี้ บริษัทรับจ้างทำอีไอเอ เกิดขึ้นมากมาย สร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของมากมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ นักวิชาการในมหาวิทยาลัย  เพราะลงทุนไม่มากแต่รายได้มหาศาล รับงานราคาแพงมาแล้วก็ให้นักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโททำรายงานวิจัย ส่งเป็นการบ้านมาให้ตรวจ ตัวเองก็เขียนบทสรุป วิเคราะห์ตัวเลขปิดหัวปิดท้าย

อีไอเอหลาย ฉบับจึงมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ได้รักษาคุณภาพของรายงานทางวิชาการจริง ๆ

นักวิชาการ กลุ่มหนึ่งจึงได้พยายามผลักดันเครื่องมือชนิดใหม่ที่เรียกว่า HIA  ย่อมากจากคำว่า Health Impact Assessment หรือ “การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ” หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกัน พิจารณาถึงผลกระทบทางสุขภาพ โดยมีการประยุกต์ใช้แนวทางและเครื่องมือที่หลากหลายในการระบุ คาดการณ์ และพิจารณาถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วกับประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่หลายมาตราโดยเฉพาะการกระจายอำนาจอาจจะล้าหลัง แต่การคุ้มครองสุขภาพประชาชนถือว่าก้าวหน้ามาก มาตรา 67 กำหนดให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ ประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน

นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 10 วรรคแรกระบุว่า เมื่อมีกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นและ วิธีป้องกันผลกระทบต่อ สุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว

นายแพทย์ วิพุธ พูลเจริญ แห่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ได้อธิบายถึงหลักสำคัญของแนวคิด HIA ว่า “ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ได้รับความเสียหายมาพูดคุยและหาทางออกของปัญหาร่วมกัน โดยใช้หลักฐานทางด้านสุขภาพ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ มาแสดงและนำมาวิเคราะห์กันว่าเป็นอย่างไร”

ลองนึกภาพดู หากคนมาบตาพุด จับมือกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทยและบริษัทปตท.ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในนิคม อุตสาหกรรมมาบตาพุด และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันจัดทำ HIA เพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างจริงจัง ละทิ้งความขัดแย้ง ความบาดหมางในอดีต

หากสำเร็จ อาจจะเป็นรูปธรรมสำคัญในการใช้ HIA ลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานานในสังคมไทยโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

ส่วนความขัด แย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นหน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น  อาจจะต้องหาเครื่องมือชนิดใหม่ของโลกอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า CIA หรือ Color Impact Assessment การประเมินผลกระทบความขัดแย้งด้านสีเสื้อ

ใครเอามาทำให้สำเร็จ รางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพ คงหนีไม่พ้นแน่

Comments

  1. คนคู่

    ข่าวใหญ่วันนี้ เขาก็ว่าเป็นฝีมือของคนมีสี!
    ที่น่าตกใจก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนวันนี้ดูเหมือนไปไกลเกินกว่าจะวิเคราะห์ผลกระทบได้ทันเสียแล้ว

  2. จร

    รัฐธรรมนูญ 50 ดีแบบนี้ ยังจะมาแก้มาเปลี่ยนกันอยู่อีก รัฐต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเอกชนนักลงทุน ประเทศเจริญแล้ว เค้าเข้มงวดเรื่องแบบนี้มากกว่าประเทศไทยอีก ดังนั้น นักลงทุน อย่ามาร้อง ทุกประเทศคนเหมือนกัน นักลงทุน ควรมอง เรื่องสุขภาพชุมชน ด้วย

  3. เwanna

    กำลังเขียนเรื่องความเห็นแก่ตัว ไม่ว่าขิง ว่าข่าทำไปเห็นใส้หมดแหละผลประโยชน์ทั้งนั้นตายแล้วเอาไปด้วยแล้วกัน ร้อยล้านพันล้านแสนล้านลาภ ยศ สรรเสริญเอาไปด้วย เกิดมาเป็นฉันก็ดีแล้ว นึกอยากช่วยอยากบริจาค อยากสอนหนังสือ อยากร้องเพลง อยากทำขวัญ ฉันก็ทำทั้งนั้น ทำแล้วมีคนพอใจอยากให้เพือนไทย แตฉันไม่คิดอยากโกงแผ่นดินไท…

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.