รถไฟไทย เมื่อประชาชนเป็นตัวประกัน

news_steam_02

มีคนเคยบอกผู้เขียนว่า ข้อดีของรถไฟไทยที่สอบผ่านมีอยู่ประการเดียวคือ เกิดอุบัติเหตุน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับ การเดินทางโดยรถยนต์

ส่วนข้ออื่นสอบตกหมด

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสขึ้นรถไฟไปหนองคาย มีนัดหมายสำคัญ  ออกจากกรุงเทพ ฯประมาณ หกโมงเย็นเศษ ๆ ตามหมายกำหนดการจะถึงหนองคายประมาณ เจ็ดโมงกว่าของวันรุ่งขึ้น  แต่เอาเข้าจริงรถไฟมาถึงหนองคายร่วมสิบโมง

สายไปเกือบสามชั่วโมง ทำให้ผู้เขียนพลาดธุระครั้งสำคัญ แต่ไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องจากใคร เพราะการรถไฟไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ไม่มีคู่แข่งที่จะคอยกดดันให้ต้องปรับปรุงบริการ

แน่นอนว่าผู้โดยสารทุกคนต่างมีประสบการณ์ร่วมกัน ก้มหน้าก้มตายอมรับความจริง ไม่ปริปากบ่น หากเลือกได้คงจะหนีไปใช้รถโดยสาร รถยนต์ส่วนตัวกันหมดแล้ว

การไม่ตรงเวลา ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง  ห้องน้ำเหม็น การบริการห่วยแตก มีหนู แมลงสาบวิ่งพล่านในตู้รถไฟ จึงกลายเป็นสัญญลักษณ์ประจานการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)มาหลายสิบปีแล้ว

ขณะที่ เมื่อพ.ศ. 2471  ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เปลี่ยนหัวรถจักรไอน้ำมาเป็นหัวรถจักรดีเซล ด้วยฝีมือบริหารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยากำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงคนแรก ทำให้รถไฟไทยทันสมัยที่สุดในเอเชีย

แทบไม่น่าเชื่อว่า จากการรถไฟอันทันสมัยที่สุดในเอเชีย  มีโรงเรียนช่างเป็นของตนเอง มีที่ดินมหาศาล แต่ทุกวันนี้กลับล้าหลังกว่าหลายประเทศในแถบอินโดจีน

ในอดีตรฟท.เคยเป็นที่รวมวิศวกรชั้นนำหัวกระทิของประเทศ ไม่ต่างจากกฟผ. หรือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย  แต่เวลาผ่านไปคนเก่ง ๆ ค่อย ๆทยอยลาออก เหลือแต่ผู้บริหารที่ด้อยคุณภาพ

เมื่อไม่นานมานี้ บรรดาผู้บริหารของรฟท. พากันแห่ไปดูงานการรถไฟของประเทศอินเดีย เพราะตอนนี้รถไฟอินเดียกลายเป็นกรณีศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่สามารถพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรมหาศาลได้สำเร็จ

รถไฟอินเดีย มีอายุเก่ากว่าร้อยห้าสิบกว่าปีมากกกว่ารถไฟไทยที่มีอายุ 113 ปี และผูกพันกับคนอินเดียมาก เพราะถือเป็นการคมนาคมที่มีเครือข่ายกว้างขวาง เข้าถึงผู้คนทั่วประเทศได้มากที่สุด

รางรถไฟอินเดียมีความยาวทั้งหมดถึง 64,000 กิโลเมตร ขณะที่รางรถไฟไทยมีไม่ถึง 4,000 กิโลเมตร และส่วนใหญ่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

แต่ละวัน อินเดียมีรถไฟวิ่งมากกว่า 11,000 ขบวน เพื่อขนผู้โดยสาร 18 ล้านคน และสินค้า 2 ล้านตัน มีตั๋วรถไฟหลายระดับราคาให้เลือกนั่ง เป็นรถไฟสำหรับคนจนไปถึงคนรวยโดยแท้ ราคาค่าโดยสารชั้นสามของคนจนระยะทางข้ามคืนราคาเพียง  80 กว่าบาท ขณะที่ค่าโดยสารรถไฟชั้นหนึ่งอาจจะพอ ๆกับค่าโดยสารเครื่องบิน

การรถไฟอินเดียเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดยักษ์ ใหญ่โต อุ้ยอ้าย ถือว่าเป็นองค์กรที่มีลูกจ้างมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง คือมีพนักงานทำงานถึง 1.6 ล้านคน และหากรวมถึงผู้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกิจการการรถไฟอินเดียทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจจะมีมากถึง 80 ล้านคน

ในอดีตรถไฟของอินเดียได้ชื่อว่าสกปรก ห้องน้ำเหม็น ไม่ตรงเวลา ไม่ทันสมัย  และขาดทุนมหาศาล แต่ทุกวันนี้รถไฟอินเดียที่อุ้ยอ้าย ได้มีการปรับปรุงคุณภาพขึ้นมากจนพลิกจากขาดทุนสะสมมานับสิบปี เป็นกำไรขึ้นมา

รถไฟอินเดีย ได้ผ่านการปฏิรูปการบริหารอย่างจริงจัง เอามืออาชีพเข้ามาทำงานในทุกภาคส่วน ผู้บริหารการรถไฟอินเดียได้ปรับปรุงการขนส่งและการบริหารอย่างจริงจัง ทั้งการใช้หัวรถจักรและรางรถไฟอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเพิ่มรอบการบรรทุกขนส่งสินค้าและผู้โดยสารให้มากขึ้น จนทำให้การรถไฟอินเดียทำรายได้ถึง ปีละประมาณ 600,000 ล้านบาท

อีกไม่กี่ปีการรถไฟของอินเดียจะพัฒนาให้มีรถไฟหัวจรวดขับเคลื่อนด้วยความเร็วชั่วโมงละ 350 กิโลเมตร

เช่นเดียวกับการรถไฟเวียดนามที่เกิดทีหลังบ้านเรา แต่ตอนนี้กำลังสร้างรถไฟหัวกระสุนความเร็วสูงจากจากกรุงฮานอยเมืองหลวงของเวียดนามสู่เมือง โฮจิมินน์ซิตี้ทางใต้

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย มีหัวจักร 212 หัวจักร แต่วิ่งได้เพียง 135 หัวจักร และมีผลประกอบการขาดทุนปีละเกือบ 8,000 ล้านบาทต่อเนื่องกันมาตลอด  และมีหนี้สินสะสม 70,000 กว่าล้านบาท หากเป็นบริษัทเอกชนก็ล้มละลายมานานแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในรฟท. มักจะถูกต่อต้านจากคนของการรถไฟภายใต้ชื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ด้วยเหตุผลเดิม ๆคือ ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือป้องกันนักการเมืองเข้าไปล้วงลูก แต่ที่ผ่านมาคนภายนอกไม่มีโอกาสเข้าไปดูว่า ภายในการรถไฟมีการบริหารจัดการกันอย่างไร จึงได้ขาดทุนบักโกรกขนาดนี้

หลายคนคงไม่ทราบว่า

การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานเดียวที่มีการสืบทอดทายาท หากพ่อทำงานที่การรถไฟแล้ว ลูก ๆจะได้สิทธิ์ทำงานต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด แม้แผนการปรับโครงสร้างรถไฟมีการระบุว่าสามารถรับคนภายนอกมาทำงานแค่ 5 % ยังถูกต่อต้านจากสหภาพฯ

รฟท. เป็นรัฐวิสาหกิจหนึ่งในสองแห่ง ที่คนเกษียณอายุได้บำเหน็จก้อนหนึ่งแล้ว ยังสามารถได้บำนาญกินไปตลอดชีวิต จนทำให้ทุกวันนี้มีพนักงานเกษียณอายุไปแล้ว 13,000 คนที่รฟท. มีภาระต้องจ่ายเงินค่าบำนาญให้อีก 5 หมื่นกว่าล้านบาท

ทุกวันนี้รฟท.มีพนักงาน 13,000 คน เรียกว่าคนล้นงานเกินครึ่ง แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่มีการพัฒนา ไม่มีโครงการใหม่ ๆเกิดขึ้น ที่ดินหลายหมื่นไร่ที่ทั่วประเทศก็ถูกคนในการรถไฟและนักการเมืองช่วยกันเถือช่วยกันแล่ไปทีละชิ้น

เป็นองค์กรแดนสนธยาที่คนนอกอย่างนักการเมืองเข้ามาหาประโยชน์ ขณะที่คนในก็อยู่ไปวัน ๆ แบบซังกะตาย แต่เงินเดือนไม่เคยลดลง มีเงินเกษียณใช้จนวันตาย

การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างของรัฐวิสาหกิจที่ล้มเหลวการบริหารจัดการมากที่สุด ทั้ง ๆที่ตัวเองมีทรัพย์สินมหาศาลอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน รางรถไฟ หรือหัวรถจักร แต่ไม่สามารถจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

แต่หากใครคิดจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปแดนสนธยาแห่งนี้ สหภาพแรงงานฯ ก็จะเอาประชาชนเป็นตัวประกัน โดยการนัดหยุดงานประท้วง ภายใต้ผ้ายันต์ผืนเดิมว่า “ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านหลายแสนคน ภายใต้คำพูดสวยหรูว่า

“รู้สึกเจ็บปวดที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนแต่ก็ต้องทำ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน”

ถามจริง ๆ เถอะ ผลประโยชน์ของประชาชน 60 ล้านคน หรือผลประโยชน์ของคนเพียง 13,000 คนกันแน่

รถไฟอินเดีย หรือรถไฟเวียดนาม ที่เป็นของรัฐบาลกำลังวิ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง จากฝีมือการบริหารอย่างมืออาชีพ พลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไรได้สำเร็จ

ขณะที่รถไฟไทยเป็นรัฐวิสาหกิจและถือเป็นของคนทั้งประเทศ   แต่คนในองค์กรทำตัวเหมือนเป็นเจ้าของเสียเอง คนนอกห้ามแตะ เป็นเสือนอนกิน กัดแทะผลประโยชน์ของประเทศชาติ บริหารจนขาดทุนหลายหมื่นล้าน แถมยังจะมาเบียดบังภาษีของชาวบ้านเอาไปโปะอีกต่างหาก

Comments

  1. กระซวก

    ตกลงว่าทำไมรถไฟไทยถึงมีปีก ? ขี้เกียจ เมนต์ด่ารถไฟ คนรถไฟไม่มีหู (หรือไม่มีสมอง)?

  2. กระซวก

    อีกเรื่องยังไม่กระจ่าง ทำไม Airport RailLink ต้องให้อยู่ในอำนาจบริหารของรฟท. ขอเหตุผลที่คนฟังเถียงไม่ออกด้วยนะสุดท้ายก็ต้องตั้งบริษัทลูกเพื่อมาคุม ถ้าทำแบบนี้ รฟม.ก็ทำได้ ถ้าแค่เหตุผลว่าเพราะใช้เส้นทางของรถไฟสร้าง ฟังไม่เข้าท่า เส้นcity line ที่วิ่งคู่กันก็ดัน จบที่ airport มันไม่ด้วนไปหน่อยหรือ ? มีวิธีบริหารจัดการของรัฐเยอะแยะที่จะขอที่ รถไฟมาสร้าง ตลาดจตุจักร กทม.ก็เช่าที่รถไฟมาทำ แล้วคิดดูว่าผู้โดยสารต้องนั่งtaxi ขนกระเป๋ามาจากบ้านก่อนใช่ไม๊ ( 70%บ้านอยู่ปริมณฑล)แล้วค่อยมาขึ้น BTS ต้นทางเพื่อไป สถานีพญาไท ถึงค่อยไปต่อ Airport Link? คนสติดีรอบคอบมีปัญญานั่งเครื่องใครเค้าจะทำกัน รูปประกอบcolumn เป็นตัวอย่างที่ดีที่บอกว่า รถไฟไทยคร่ำครึ ตกยุคและเป็นส่วนเกินของสังคมไทย

  3. hongtidnub

    อ่านเรื่องสวัสดิการพนักงานการรถไฟแล้วทำให้นึกถึงเรื่อง GM ที่อเมริกา เขาว่าสาเหตุที่ต้องล้มละลายส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องสวัสดิการและค่าจ้างพนักงาน เป็นเอกชนแต่หากพนักงานเกษียณไปแล้วก็ยังมีภาระผูกพันธ์ ทั้งการดูแลเรื่องสุขภาพ ฯลฯ เป็นภาระต้นทุนที่สูง

    Big Three (GM , Ford , Chrysler) ต้องทำการจ้างพนักงานของบริษัทฯทั้งหมดต้องผ่าน UAW (United Auto Work.. ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงตลอดจนสวัสดิการต่างๆให้กับสมาชิกของ UAW

    ได้ยินมาว่าค่าจ้างต่อชั่วโมงของพนักงาน big three สูงกว่าค่าจ้างของค่ายรถยนตร์อื่นที่ไปตั้งโรงงานในอเมริกา ทำให้ต้นทุนไม่สามารถทำการแข่งขันได้ เราถึงได้เห็นว่าทั้งสามค่ายเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไปให้กัยรถญี่ปุ่นเยอะมาก

    ปีนี้เราได้เห็นสองในสามค่ายต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการผ่านกระบวนการศาลล้มละลาย บริษัทฯใหม่ที่จะถูกจตั้งขึ้นภายใต้กฏหมายฟื้นฟุฯ ก็จะมีการต่อรองเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการใหม่หมดกับ UAW ส่วนหนึ่งที่ทำให้ GM ขอยื่นฟื้นฟูก็เพราะต้องการปลดภาระเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการเจรจาต่อรองกับทาง UAW มาตลอดแต่ไม่มากพอที่จะทำให้บริษัทฯปลดภาระออกไปได้รวดเร็วเท่าที่ควรจะเป็น

    ฉากสุดท้ายคือภายใต้แผนฟื้นฟูที่มีการประกาศออกมา ผู้ถือหุ้นเดิมจะมีหุ้นอยู่ในบริษัทฯใหม่ ( New GM ) แค่ 1% แล้วเรา-ประชาชน ในฐานะผู้ถือห้นของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะมีอะไรเหลือ

  4. คนคู่

    บรรยกาศเวลาเดินทางโดยรถไฟ เราจะพบเรื่องราวน่าเรียนรู้มากมาย

    หรือว่าหนึ่งในนั้นคือเรื่องแดนสนธยา

    สรส.ว่ายังไง

  5. mookie

    ถึงจะไม่ค่อยมีโอกาสโดยสารรถไฟ แต่ก็รู้สึกว่า รถไฟก็เป็นอีกหนึ่งพาหนะที่ทำให้การเดินทางมีเสน่ห์ขึ้นมาได้ (กรณีรถไฟน่านั่งแถวๆ บ้านอืนเมืองอื่นน่ะฮะ) 🙄

    อ่านแล้วก็ได้แต่สลดใจ แต่ที่สะกิดใจก็ตรงที่ “มีที่ดินมหาศาล” ทำไมการรถไฟถึงมีที่ดินมหาศาลล่ะฮะ เพิ่งจะนึกออกได้ยินบ่อยๆ ที่อรัญฯ ที่มุกทำงานอยู่ก็มีที่รถไฟเย๊อะเลย บริหารองค์กรกันอย่างนี้ ร้องไห้ดีกั่ว 😥 😥

  6. 001boy

    น่าหดหู่ที่สุด เชื่อว่าคนไทยจำนวนมากล้วนผูกพันกับการเดินทางด้วยรถไฟไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ไม่พัฒนาไม่ว่า สุดท้ายยังถอยหลังอีก ไม่ต้องมีความรู้มากก็มองเห็นว่า
    ท่ามกลางวิฤกตน้ำมัน เศรษฐกิจถดถอย หากพัฒนาระบบขนส่งด้วยรถไฟให้ดีจะช่วยทั้งประชาชนและประเทศชาติ เราจะหวังอะไรได้กับระบบราชการ และบรรดานักการเมืองประเทศไทย ล้วนชอบคิดสั้น แต่พูดยาวน้ำไหลไฟดับ

  7. somporn

    😯 ผมว่ายังไงรถไฟก็ยังเป็นกิจการคู่บ้านคู่เมือง เรื่องสวัสดิการพนักงานรถไฟ ก็พอกันกับหน่วบงานอื่นๆ ของรัฐ แต่ความคิด ความสำนึกในบุญคุณของพนักงานการรถไฟฯ และนักการเมื่อง ที่เข้าเสวยอำนาจต่างหากที่ทำให้การรถไฟฯต้องแย่ลงๆๆๆๆ
    นักการเมืองไปพัฒนาถนนมากมาย เพราะตนเองมีบริษัทรถทัวร์ มีบริษัทขนส่ง ถ้าพัฒนารถไฟมากๆ บริษัทตัวเองจะเจ้ง
    รัฐบาลไม่มีความจริงใจ ขาดความรู้เรื่องรถไฟ ขาดความเข้าใจพนักงานรถไฟ ยกตัวอย่างที่ดินรถไฟ มีหิน มีดิน นักการเมืองกลับทำหินบนที่ดินรถไฟโดยไม่เสียค่าใช้ประโยชน์ให้กับการรถไฟฯ แม้แต่บาทเดียว ระเบิดหินขายให้การรถไฟฯ ดีไหม๊ๆๆๆๆๆๆๆๆ
    ยังมีอีกเยอะ วันหลังจะแกะตัวปลิงมาฝากใหม่

  8. ขอแจมด้วยคน

    รัฐวิสาหกิจเหรอ ใครบอกเสือนอนกิน ผมว่าเป็นพวกตัวตะกวดมากกว่า (สัตว์อนุรักษ์พันธุ์ทำไมก็ไม่รู้) ประเภทที่ชอบเบียดเบียนกินของชาวบ้าน
    ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเท่าไหร่ เพราะทำก็เจ๊งไม่เป็นท่า อาศัยอยู่ได้เพราะภาษีของประชาชน แต่ทำเสียว่ายิ่งใหญ่เต็มประดา เอาเงินเราไปแต่ไม่ได้บริการอะไรดีเด่นัก คนก็มีเยอะจนล้น เจ๊งแล้วไม่เจียม จะขอขึ้นสวัสดิการโน่น สวัสดิการนี่ โบนัสก็ต้องหกเดือน ไม่พอใจพวกท่านก็หยุดงานซะดื้อๆ พอเขาจะแปรรูป ก็ทำมาอ้างว่าประชาชนจะเดือดร้อน สมบัติชาติจะโดนต่างชาติเขมือบ ถามจิง ทุกวันนี้ไม่เดือดร้อนหรือไง ทุกอย่างที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ย่ำอยู่กับที่ บางทีก็ถอยหลังลงคลอง เพราะพวกท่านๆ ทำแบบเช้าชามเย็นชาม เฉื่อยแฉะไปวันๆ
    ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา เห็นแล้วก็ยังไม่สำนึกถึงบุญคุณประชาชนคนธรรมดา ที่พวกคุณเบียดเบียนเงินภาษีของเขาไป ไม่ไช่น้อย เพราะสวัสดิการอย่างกับเทวดามาเกิด แต่ผลงานกลับตรงกันข้ามเหมือนนรกส่งมาเกิดมากกว่า อ้อแล้วอีกอย่างการแปรรูปเขาทำกันทั่วโลกหลายประเทศทำไมไม่ดูตัวอย่างที่ดีๆเขาหรือรู้จักแต่ประเทศอาเจนตินา
    ประเทศนี้ นักการเมืองหรือข้าราชการคงคล้ายๆ บ้านเรามั้ง เลยไปไม่รอด

  9. 15411

    #ตอบคุณ mookie

    เคยได้ยินว่า ที่ดินการรถไฟคือวัดจากรางออกไปข้างละ 40 เมตรเป็นของการรถไฟทั้งหมดครับ

  10. คนที่ไม่เคยขึ้นรถไฟ

    อยากจะกด like สักล้านครั้ง ให้กับบทความนี้

  11. br

    สลดหดหู่ที่สุด ไม่น่าเชื่อว่ายังมีหน่วยงานถ่วงโลกแบบนี้อยู่ ว่า ขสมก แย่แล้ว รฟท ท่าจะแย่กว่า อาจเนื่องด้วยไม่มีผู้มีอำนาจท่านใดจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา อาจเนื่องด้วยประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ด้อยศึกษา จนไม่รู้จักปกป้องสิทธิของตน

  12. ทำได้แค่บ่น

    และประชาชนผู้ไร้อำนาจก็ก้มหน้าจ่ายภาษีต่อไป จะทำอะไรได้

  13. มานพ

    นักการเมืองแดกมากไปยิ่งช่วงน้ครับเอาเงินทอนคืนตั้งครึ่งจะเจริญได้ไงครับ

  14. พัชรี พันธุ์พงศ์พิพัฒน์

    คุณวันชัย
    ดิฉันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรฐศาสตร์ ตอนนี้กำลังทำรายงานเกี่ยวกับปัญหาการไม่พัฒนาของการรถไฟไทย ได้อ่านบทความนี้ จึงอยากสอบถามว่าคุณวิชัยมีข้อมูล รายละเอียดหรือเนื้อหาที่จะเป็นประโยชน์ต่อรายงานพอจะแนะนำได้ไหมคะ

    ขอบคุณค่ะ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.