ข่าวคราวเรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 ดูเหมือนจะค่อย ๆเงียบหายลงไป เมื่อเปรียบเทียบกับสองเดือนก่อนที่เป็นข่าวกันอย่างอึกทึกครึกโครม
ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะถูกกระแสข่าวถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือกระแสข่าวย้ายไม่ย้ายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แย่งกันชิงพื้นที่ข่าว อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ ประชาชนทั่วไปเริ่มชินกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อันนี้แล้ว จึงไม่ค่อยสนใจหรือตื่นเต้นมากกว่าที่ผ่านมา
ต้องยอมรับว่า สื่อมวลชนที่ถูกเรียกว่า ฐานันดรที่ 4 คือกลุ่มคนผู้มีอิทธิพลตัวจริง เสียงจริงที่ยั่งยืนมาโดยตลอด สามารถชี้นำคนในสังคมว่าจะให้สนใจข่าวเรื่องใด เวลาไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวลูกหมีแพนด้า หวัดใหญ่ 2009 การถวายฏีกา ย้ายนายตำรวจใหญ่ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนชื่อจากเหี้ยมาเป็นวรนุส
นักการเมืองทุกยุคจึงปรารถนายึดกุมสื่อไว้ในมือ ยึดสื่อได้ย่อมหมายถึงการยึดกุมมวลชนได้สำเร็จ บางคนถึงกับจะทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 100 ช่องเพื่อเสนอข่าวที่ต้องการให้คนเชื่อ มากกว่าเสนอข่าวที่ให้คนได้อ่าน ได้เห็น ได้ฟัง และไปคิดต่อเอง
ข่าวที่ทำให้คนเชื่อ กับข่าวที่น่าเชื่อถือ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคในยุคนี้จำเป็นต้องแยกแยะกันเอง
กลับมาเรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 กันอีกครั้ง มีรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2552 ความตอนหนึ่งว่า
“ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 โดยพิจารณามาถึงงบประมาณของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้ใส่หน้ากากอนามัยเข้าร่วมชี้แจงเนื่องจากท่านป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดาและมีน้ำมูกเท่านั้น ทำให้บรรดาส.ส.ผู้เป็นกรรมาธิการฯ หลายคนตกใจ บอกให้เข้าร่วมประชุมไม่ได้ จึงขอให้รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้เข้ามาชี้แจงแทน ส่งผลให้นายบวรศักดิ์ต้องยอมลุกออกจากห้อง ”
อ่านแล้วสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของบรรดานักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ต่อความเข้าใจเรื่องของไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้เป็นอย่างดี
อันที่จริงการใส่หน้ากากอนามัย ควรถือเป็นแบบอย่างของการป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ดีที่สุด พอ ๆกับการหมั่นล้างมือทำความสะอาด
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพยายามรณรงค์ให้คนไทย สวมใส่หน้ากากอนามัย เริ่มจากคนที่เป็นไข้หวัดธรรมดา มีน้ำมูก ไอ จาม ก็ควรจะมีหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่น ขณะที่คนธรรมดาที่ไม่ได้เจ็บป่วย หากเข้าไปในสถานที่ชุมชนหรือแออัด ไม่ว่าจะเป็นบนรถเมล์ รถไฟฟ้า บนเครื่องบินโรงหนัง สถานที่ชมคอนเสิร์ต ฯลฯ ก็ควรจะสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตนเองจากการแพร่กระจายของเชื้อในอากาศ
การสวมหน้ากากอนามัย จึงควรเป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนควรร่วมมือกันเผยแพร่ให้เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เช่นเดียวกับคนญี่ปุ่นตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่ ไม่ว่ายากทีมีจนจะมีสำนึกตลอดเวลาว่า หากป่วยเป็นหวัด และต้องออกไปข้างนอกพบปะผู้คน การสวมหน้ากากอนามัยเป็นเรื่องธรรมดา
ไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ เหมือนกับนักการเมืองบ้านเราที่ทำท่ารังเกียจผู้ที่สวมหน้ากากอนามัย
นับเป็นการส่งสัญญาณผิดอย่างรุนแรงต่อผู้คนในสังคม
ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้การสวมหน้ากากอนามัยเป็นเพียงแฟชั่น หรือตามกระแสสังคมเท่านั้น คงจำได้ว่าเมื่อเกือบเดือนที่ผ่านมา เมื่อข่าวผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และกองทัพสื่อมวลชนเกาะติดสถานการณ์อย่างหิวกระหาย ส่งผลให้ผู้คนในสังคมต่างสวมหน้ากากอนามัยกันถ้วนหน้า แม้แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ยังสวมหน้ากากอนามัยตอนไปตรวจเยี่ยมรถไฟฟ้าใต้ดิน
ผ่านไปไม่ถึงเดือน สื่อให้ความสนใจลดลง ข่าวไม่น่าสนใจเหมือนก่อนเพราะไม่มีประเด็นใหม่ ๆ ให้ติดตาม และเจอข่าวอื่นมาชิงพื้นที่ คนไทยก็เลิกเห่อ ไม่สนใจจะดูแลป้องกัน นักการเมืองก็เลิกสวม ตอนนี้หากลองไปดูตามงานคอนเสิร์ต บนรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือบนเครื่องบิน น้อยคนที่ยังสวมหน้ากากอนามัย และใครสวมหน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะมีอาการหวัดหรือเป็นปรกติ อาจจะถูกตั้งข้อรังเกียจจากคนทั่วไป เหมือนกับที่นักการเมืองบ้านเรา ชี้นำอยู่ในเวลานี้
เพื่อนพาลูกไปเรียนในโรงเรียนกวดวิชา ที่เคยถูกสั่งปิดไปสองอาทิตย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส บอกว่าเด็กในห้องเรียนก็ไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัย
คอนเสิร์ตใหญ่ที่ผ่านมาในเมืองทองธานี ผู้ชมหลายหมื่นคน ก็นับหัวผู้ชมที่สวมหน้ากากอนามัย ทั้งที่เมื่อเดือนก่อน กระทรวงสาธารณสุขออกมายอมรับว่า การชุมนุมของเด็กนักเรียนนับแสนคนจากทั่วประเทศเพื่อปฏิบัติธรรมในวัดธรรมกาย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปตามต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว
ความจริงที่หลายคนมองข้ามไป ไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่ใช่เรื่องของกระแส หรือแฟชั่น แต่เป็นชีวิตจริงที่มนุษย์ต้องเจอมันไปอีกนาน วันหนึ่งไวรัส H1N1 สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 อาจจะหายไป เพราะมนุษยชาติมีภูมิคุ้มกัน แต่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น ๆ ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
นักไวรัสวิทยาทราบดีว่า ทุกวันนี้สิ่งมีชีวิตในโลกที่สลับซับซ้อนที่สุดคือ มนุษย์ต้องวิ่งตามสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างอันเรียบง่ายที่สุด คือ เชื้อไวรัส คือมนุษย์ต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับตลอดเวลา รอให้ไวรัสระบาด มนุษย์จึงคิดวัคซีนไปกำจัดมันได้ สุดท้ายมันก็มีวิวัฒนาการกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ออกอาละวาด ให้มนุษย์ตามไปแก้ ต้งอคิดค้นวัคซีนชนิดใหม่ เป็นอย่างนี้ตลอดไป
ไข้หวัดนก คือตัวอย่างของระเบิดเวลาที่นักไวรัสวิทยากลัวมากที่สุด เพราะมันมีอัตราการตายสูงถึง 70 % (เปรียบเทียบกับไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่มีอัตราการตาย 4%) และจะกลับมาระบาดใหม่ทุก 7 ปี โชคดีที่ผ่านมา การระบาดเกิดจากนกไปสู่คน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันการระบาดจากคนสู่คนได้ เพราะหากเกิดขึ้น การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 จะกลายเป็นเรื่องเล็ก ๆทันที
แต่ขึ้นชื่อว่า ไวรัส สุดยอดของการกลายพันธุ์แล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ นักไวรัสวิทยาจึงไม่เคยประมาทวิวัฒนาการของไวรัส จับตาดูตลอดเวลาว่า เชื้อไข้หวัดนกจะกลายพันธุ์ ติดต่อจากคนสู่คนได้เมื่อใด
มนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จึงต้องทำใจอยู่ร่วมกับไวรัสไปตลอดชีวิต ไม่ต้องรักกันมาก อยู่กันห่าง ๆ ไม่ต้องเข้าใกล้กัน ดังนั้น การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันรักษาสุขภาพของตัวเอง โดยการใช้หน้ากากอนามัย จึงเป็นเรื่องที่ควรจะส่งเสริมให้คนในสังคมปฏิบัติจนเป็นเรื่องปรกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ทำเป็นเพียงแฟชั่น หรือไปตั้งข้อรังเกียจกับคนที่ประพฤติปฏิบัติ
สงสัย กระทรวงสาธารณสุขคงต้องไปขอร้องให้น้องหมีแพนด้า เป็นพรีเซนเตอร์สวมหน้ากากอนามัย ส่งสัญญาณที่ถูกต้องให้กับประชาชน แทนนักการเมืองกันเสียแล้ว
หนังสือพิมพ์มติชน 9 สิงหาคม 2552
Comments
บทความที่ลืมตีพิมพ์
เมื่อหมีแพนด้าตายด้วยไข้หวัดใหญ่ 2009
โดย ชัยวัฒน์ จันธิมา(เขียนเมื่อ 11/7/2552)
รายงานข่าวล่าสุด(11 กรกฎาคม 2552) ประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือ ไข้หวัดใหญ่ 2009 (นับตั้งแต่ 28 เมษายน -11 กรกฎาคม 2552) ทั้งสิ้น 3,228 คน เสียชีวิตแล้ว 15 คน (ตอนนี้ตายไปแล้วกว่า 40 คน)
สถานการณ์นี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนิ่ง และจะต่อเนื่องไปอีก 3 ปี ตามที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุ
ในขณะที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข พยายามรีบเร่งทำให้ประชาชนทั่วประเทศเป็น เดอะ มาสค์ ออฟ ฮีโร่ (The Mask of Hero) สวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อ
แต่อีเวนส์ (กิจกรรมรณรงค์)นี้ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับจากสาธารณชนสักเท่าไหร่ ดูจากสถานที่จัดคอนเสิร์ต ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงเรียน หรือแม้แต่โรงพยาบาลที่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้และสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงยังไม่รู้สึก “อยาก” หรือให้ความร่วมมือต่อ “งานสำคัญ” นัยว่าเป็นมาตรการขั้นพิเศษที่คิดได้ในขณะนี้
ด้านหนึ่งรายงานข่าวแจ้งว่า หน้ากากอนามัยที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วประเทศเกิดความขาดแคลนในท้องตลาด
นี่เป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายสำหรับรัฐมนตรีหรือเปล่าไม่ทราา
เพราะมีข้อมูลล่าสุดที่รัฐมนตรีอาจจะยังไม่รู้ หรือรู้แต่ปิดไว้ คือ พบแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของจังหวัดพะเยาก็ติดเชื้อไข้หวัดนก 2009 ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมรณรงค์ที่จะให้แพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาล เป็น เดอะ มาสค์ ออฟ ฮีโร่ นั้น น่าจะสายหรือช้าเกินการณ์หรือไม่ อย่างไร ไม่รู้ได้
บวกกับสื่อมวลชนไทย (ทั้งที่เป็นของรัฐและนายทุน) เองก็ให้พื้นที่ข่าวไข้หวัดใหญ่ 200 9 น้อยกว่าหมีแพนด้า
จึงไม่น่าแปลกใจหากประชาชนคนไทยทั่วไป จะไม่ได้หวาดกลัวหรือตระหนักต่อปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในขณะนี้
ทั้งที่ประเด็นปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 น่าจะถูกจัดให้เป็น “ภัยภิบัติของชาติ” รูปแบบหนึ่ง อันมีผลกระทบต่อ “ความมั่นคง” ของประเทศ
และเมื่อเทียบกับการชุมนุมของคนเสื้อเหลือเสื้อแดง ที่มีการบาดเจ็บและตายในช่วงที่ผ่านมา “คุณค่า”ชีวิตของประชาชนในกรณีโรคไข้หวัดใหญ่ 200 9 สื่อมวลชนและรัฐบาลในประเทศนี้ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลที่จะ “ละเลย” ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองแม้แต่น้อย
คำถามแรก ก็คือ รัฐบาลนี้ ทำไมไม่ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์โรคระบาดนี้ จะโดยละมุมละม่อมหรือมีมาตรการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดใดๆ ก็ควรต้องทำ
โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อ (ที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) ซึ่งรัฐไม่อาจควบคุมตัวให้อยู่ในสถานที่อันปลอดภัยได้
คำถามต่อมา คือ สื่อวิทยุและทีวีที่รัฐมีอยู่อย่างเหลือเฟือ รวมถึงสื่อสาธารณะและสื่อที่ทุนครอบครอง ทำไมไม่สามารถสร้าง “องค์ความรู้” หรือ รณรงค์ให้ประชาชนเกิดความร่วมมือได้ เท่ากับ “หมีแพนด้า”
สื่อมวลชน เคยให้น้ำหนักข่าวของประชาชนผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองเสื้อแดงที่ตายไป 2-3 คน ชนิดชั่วโมงต่อชั่วโมง มีนักวิชาการออกมาให้ความรู้ความคิดเห็นหาทางออก พร้อมเกาะติดสถานการณ์การต่อสู้ของแต่ละฝ่ายแบบชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน
ทว่า, เรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 กลับมีพื้นที่น้อย และน้อยมาก
ประชาชน 15 คนที่ตายไป ไม่มีคุณค่าข่าว ไม่มีความหมายให้พวกเราคนไทยทุกคน “มองเห็น” และหาหนทางต่อประเด็นปัญหานี้อีกหรือ
การออกมากล่าวอ้างหรือลบล้างว่า ประชาชนที่ตายด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เกิดจากภาวะโรคแทรกซ้อน เป็นคนอ่อนไหวต่อเชื้อโรค ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ก็คงไม่แตกต่างจากความตายของผู้ชุมนุมที่ตายไป เป็นคนโง่ หลบกระสุนหลบระเบิดแก๊สน้ำตาไม่เก่ง อย่างนั้นหรือ
หรือต้องให้ประชาชนตายไปมากกว่านี้
คิดเล่นๆ เราต้องให้ “หมีแพนด้า”ตายด้วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ก่อน รัฐบาลและสื่อมวลชนถึงจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ใช่หรือไม่
ขอให้คิดเสียว่า “ประชาชน” เป็นสัตว์ที่น่าสงสารชนิดหนึ่งด้วยเถิด!!