จำได้ไหมครับ คนไทยมักถูกสั่งสอนตั้งแต่เป็นเด็กตัวเท่าลูกหมาว่า เป็นเด็ก เป็นเล็ก ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่
พอโตขึ้นมาหน่อยก็ได้ยินคนพูดกรอกหูว่า เชื่อฟังผู้นำ ชาติพ้นภัย
เมื่อสี่ห้าปีก่อน ฮิวโก้ หรือ จุลจักร จักรพงษ์ นักร้อง นักแสดงชื่อดัง เคยบอกกับผม เขาแปลกใจว่า ทำไมคนไทย จึงถูกสอนให้เชื่อฟัง ผู้ใหญ่
เพราะในความเห็นของเขา คำว่า ‘เชื่อ’ กับ ‘ฟัง’ ต้องแยกแยะให้ดี เพราะมีความหมายไม่เหมือนกัน
ฮิวโก้เป็นเด็กลูกครึ่ง ได้รับการศึกษาในประเทศอังกฤษ เขาบอกว่า เราทุกคนควรจะ ‘ฟัง’ ทุกคนที่พูดไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นใคร แต่ความ ‘เชื่อ’ เป็นเรื่องของเราที่ต้องพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
ไม่ใช่ว่า ใครพูดอะไรมาก็ต้องเชื่อไปหมด
ความเห็นของฮิวโก้ อาจจะขัดกับความรู้สึกของคนไทยจำนวนหนึ่ง ที่มีความเคยชินว่า เราต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจกว่า ซึ่งแม้แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของ เชื่อฟัง คือ ‘ทำตามหรือประพฤติตามคำสั่งหรือคำสอน’
‘เชื่อฟัง’ จึงกลายเป็นคำเดียวกัน และดูเหมือนจะสะท้อนวัฒนธรรมของคนไทยในการรับรู้ข่าวสารได้เป็นอย่างดี
ในอดีต คนที่มีสิทธิ์จะพูดให้คนฟังได้ มักเป็นเจ้านาย ผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ ผู้ที่เชื่อได้ว่าเป็นผู้รู้ ผู้มีการศึกษา อาทิ พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม
การรับรู้ข่าวสาร ความรู้ เรื่องราวต่าง ๆของคนไทยส่วนใหญ่ในอดีตมาจากการฟังเจ้านายพูด ฟังพระเทศน์ ไม่ได้มาจากการอ่านหนังสือ และวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยก็ยังจำกัดอยู่ในแวดวงคนชั้นสูงมานาน แม้ว่าเราจะเริ่มมีการพิมพ์หนังสือโดยหมอบลัดเลย์ที่เข้ามาตั้งโรงพิมพ์ในสยามประเทศมาปลายรัชกาลที่สาม
สมัยก่อนคนมีอำนาจพูด หรือคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่พูดอะไรออกมา ก็ทำให้คนไทยพร้อมที่จะฟังและเชื่อโดยสนิทใจ ไม่ต้องมีการตั้งคำถาม หรือสงสัยในคำพูดใด ๆ
การเชื่อฟังผู้ใหญ่จึงเป็นวัฒนธรรมที่อยู่ในดีเอ็นเอของคนไทยมาช้านาน คนมีความรู้หรือมีอำนาจพูดอะไรออกมา ก็ต้องเชื่อฟังโดยปริยาย
ทั้ง ๆที่ขัดแย้งกับ หลักกาลามสูตรข้อแรกของพระพุทธเจ้าที่กล่าวว่า อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
กาลามสูตรเป็นหลักสิบประการที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงาย
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ เวลาที่เราอยู่ในชั้นเรียนเมื่อคุณครูสอนหนังสือจบ และถามนักเรียนว่ามีอะไรสงสัยจะถามไหม แทบจะไม่มีใครยกมือขึ้นถาม ซึ่งไม่ได้หมายความว่า นักเรียนเข้าใจแจ่มแจ้งไม่ต้องสงสัย แต่มันมีนัยว่า เด็กไทยถูกสั่งสอนมาโดยไม่รู้ตัวว่าห้ามตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ เพราะการตั้งคำถามคือการท้าทายหรือสงสัยผู้ใหญ่
พูดอีกอย่าง การตั้งคำถาม คือการไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่
ฮิวโก้ผู้เติบโตในเมืองนอก จึงงง ๆกับวัฒนธรรมการเชื่อฟังของคนไทย เพราะเขายืนยันคำว่า เชื่อ และ ฟัง เป็นคนละความหมาย
ความเชื่อที่ถูกต้อง น่าจะเกิดจากการฟังอะไรมาก ๆ ฟังอะไรรอบข้าง ก่อนจะมาวิเคราะห์เป็นความเชื่อของตัวเอง
ทุกวันนี้ในสังคมไทยที่มีปัญหาการเลือกข้าง ความแตกแยกหรือมีการแบ่งสีอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งก็มาจากวัฒนธรรมการเชื่อฟัง
เพราะตอนนี้ใครพูดอะไรมา ยังไม่ทันจะวิเคราะห์ คนจำนวนมากก็เชื่อไปแล้ว ขอให้คนพูดอยู่ฝ่ายเดียวกับเรา และที่ก้าวหน้าไปกว่านั้นอีกคือ ยังไม่ทันฟังว่าคนนั้นจะพูดอะไรก็เชื่อไปเสียก่อนแล้ว
ยิ่งใครพูดเก่ง พูดได้ดุเดือด พูดแบบโต้วาที ก็ยิ่งได้รับการยอมรับมาก
ไม่แปลกใจที่นักการเมืองบ้านเราที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะต้องเป็นนักพูด ไม่ว่าจะพูดในรัฐสภา พูดในม็อบ หรือพูดบนเวทีสาธารณะ ยิ่งพูดสนุก พูดสะใจและสะกดคนฟังได้รอบทิศ ถือว่าเป็นนักการเมืองที่มีอนาคตไกล ส่วนจะพูดเรื่องจริง หรือตีหน้าเศร้า เล่าเรื่องเท็จ คงจะไม่ใช่สาระสำคัญ
เพราะบรรดาพ่อยกแม่ยก มิตรรักแฟนเพลง คนฟังจำนวนหนึ่งพร้อมจะเชื่ออยู่แล้วก่อนที่จะพูดอะไรออกมาเสียอีก
ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย อาจจะต้องเริ่มต้นแก้ปัญหาโดยการให้คนในสังคมเข้าใจว่า การเชื่อ กับการฟัง เป็นคนละความหมาย
เราไม่ควรจะเชื่อทุกอย่างที่มีคนพูด แต่เราควรจะอดทนฟังทุกฝ่าย ไม่ใช่ฟังเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนความเชื่อเป็นเรื่องของเราที่จะตัดสินเอง หลังจากฟังทุกฝ่ายพูดแล้ว
เริ่มต้นแบบง่าย ๆ อาจจะช่วยคลี่คลายบางอย่างได้
ที่เขียนมาทั้งหมดอย่าเพิ่งเชื่อ อ่านแล้วไปคิดต่อเองครับ
จาก บทบรรณาธิการ นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 297
Comments
คิดดูแล้ว และเห็นด้วยค่ะ กับความคิดที่ว่าคำว่า ‘เชื่อฟัง’ กลายเป็นคำเดียวกัน และดูเหมือนจะสะท้อนวัฒนธรรมของคนไทยในการรับรู้ข่าวสารได้เป็นอย่างดี
ขอคิดต่อดังๆนะคะ ว่าการเติบโตมาในสังคมที่สนับสนุนให้เชื่อฟังมากกว่าตั้งคำถามนี่แหละค่ะ ที่เป็นอุปสรรคต่อการคิดแบบใช้ตรรกะ และการคิดวิเคราะห์ของคนไทย ในที่สุดพาลไปสู่การไม่กล้าเถียงและโต้แย้งเมื่อเห็นสิ่งไม่ถูกต้อง หรือเมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนให้คิดเอง จึงไม่กล้าเสนอข้อโต้แย้ง แต่เมื่อไม่สามารถหาเหตุผลมาโต้กับผู้ที่คิดต่างจากตัวเองได้ จึงทนฟังผู้อื่นได้น้อย
อาจเป็นเพราะความคล้องจองในการเรียงคำ คำว่า เชื่อฟัง จึงเป็นวัฒนธรรมในดีเอ็นเอ อย่างที่ว่า
ซึ่งนั่นไม่เพียงทำให้ประสิทธิภาพในการได้ยินลดลงเท่านั้น หากแต่ยังทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ในภาษาไทย คำบางคำเวลาจะนำไปใช้ต้องแปลแบบภาษาอังกฤษ จากหลังมาหน้า จึงจะถูกเจตนา
ส่วนการตั้งคำถามเป็นของสงวนสำหรับเด็กหรือคนบางกลุ่มบางฐานะเท่านั้น …เชื่อเขาเลย
“ฟัง” ได้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะต้อง “เชื่อ” ในทุกสิ่งที่เราได้ฟัง
แน่นอน วิจารณญาณสำคัญ ยิ่งสมัยนี้ ข้อมูลข่าวสารมันมาเร็วไปเร็ว
และสื่อ มีสิทธิ์ที่จะอยู่ในมือใครก็ได้ ที่เงินถึง
และอะไรที่ขายได้ แม้จะขัดต่อศีลธรรมและจารีตที่ดีงาม ก็ถูกมองข้ามไป
บางที ผู้ใหญ่บางคน
ก้ไม่ดีพอ ที่จะให้เด็ก ฟัง, เชื่อ และ เชื่อฟัง
บางครั้ง เด็กก็แรง เกินที่จะเอาอยู่
คนจะดี หรือไม่ดี
มันไม่ได้เกิดจากการสอนสั่งแค่นเดียว
มันเกิดจากการเลี้ยงดู และเบ้าหลอมที่ดี
บางอย่างที่เราได้ ฟัง
เราต้องคิดตาม และหยั่งว่า นั่นมันใช่สิ่งที่เรา
ควรจะเชื่อไหม
ถ้ามันขัดนัก ก็ฟังไปผ่านๆ คิดซะว่าได้ยินสายลมหมุน
สังคมทุกวันนี้
มันต้องรู้จักเลือก เลือกที่จะฟัง เลือกที่จะเชื่อ
ก็เพราะสื่อหรืออะไรๆ หลายอย่างก็ต้องการที่จะเข้าถึง เพื่อให้เราเลือกข้าง
บางคนก็หาพวก ยิ่งพวกเยอะ อำนาจต่อรองก็มาก
แย่อ่ะค่ะ บางทีสื่อยังางใจไม่ได้ เพราะคำว่า จรรยาบรรณ อยู่แต่ในพจนานุกรมแล้ว
ข่าวสารที่แพร่ออกมา ก็บิด บูดเบี้ยว
จนไม่รูว่า อะไรจริง อะไรเท็จ อะไรกระแส อะไรหลุมพรางเพื่อต่อยอดไปสู้การขายของ
เศร้านะ
Pingback: สาขาวิชาดนตรี