ช่วงเวลาที่ผ่านมา คนทั่วโลกกำลังจับตาไปที่ผลการประชุม ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ประมาณว่าเฝ้าดูผลด้วยใจระทึกมากกว่าประกาศผลการแบ่งสายฟุตบอลโลกที่ประเทศแอฟริกาใต้เสียอีก
เป็นการประชุมที่มีผู้นำจากประเทศทั่วโลกมาประชุมโดยพร้อมเพรียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์การประชุมของโลก ถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียด บางฝ่ายประท้วง บอยคอตและกลับมาประชุมกันใหม่ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติ ก่อนที่จะสายเกินไป
คือปัญหาโลกร้อน ที่กำลังเป็นปัญหาโลกแตกกันอยู่ในขณะนี้
การประชุมครั้งนี้ผู้แทนจากประเทศทั่วโลกจะต้องมาทำความตกลงให้แน่ชัดว่า จะมีมาตรการที่บังคับให้แต่ละประเทศ ทั้งรวย ทั้งจน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร เพราะพันธกรณีจากพิธีสารเกียวโตที่บังคับให้ประเทศทั่วโลกใช้นั้น จะสิ้นสุดลงในปีพ.ศ. 2555
บทสรุปพิธีสารโคเปนเฮเกน จึงเหมือนข้อบังคับใหม่ที่ทั่วโลกต้องปฏิบัติตาม เพราะหากการประชุมนี้ไร้ผล ปัญหาน้ำทะเลท่วมโลก ปัญหาฝนฟ้าวิปริต ปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ปัญหาน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงท่วมโลกอาจเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่ปี
ตัวอย่างล่าสุดที่คนทางซีกโลกใต้กำลังตื่นตกใจคือ ก้อนภูเขาน้ำแข็งยักษ์ความสูง 40 เมตร ขนาด 250,000 ไร่ ที่แตกตัวจากทวีปแอนตาร์ติกา กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ประเทศออสเตรเลียทุกขณะ
แต่ก่อนที่ผลการประชุมจะออกมา เมื่อวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มประชาคมจาก 132 ประเทศได้นัดหมายกันชุมนุมกันทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่บราซิล ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ กรุงเทพมหานคร เนปาล ประเทศทางแถบยุโรป และในทวีปแอฟริกา มีชาวโลกสิบกว่าล้านคนร่วมลงชื่อ เพื่อแสดงเจตจำนงให้การประชุมครั้งนี้ส่งผลต่อการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม
บ่ายแก่ ๆวันนั้น พรรคพวกได้ชักชวนให้ผู้สนใจขี่จักรยานไปรวมตัวกันที่บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลากลางกรุงเทพมหานคร เพื่อรวมตัวกันในฐานะประชาชนตัวแทนของประเทศไทยที่มีความสนใจต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยมีมูลนิธิโลกสีเขียวเป็นตัวตั้งตัวตี
ผมมีโอกาสขี่จักรยานไปร่วมสมทบกับเขาด้วย มีคนไทยหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่เด็กประถมไปจนถึง ผู้ใหญ่ ประมาณ50-60 คนมาร่วมแสดงเจตนารมณ์ และอ่านแถลงการณ์เรียกร้องต่อที่ประชุมในกรุงโคเปนเฮเกน โดยมีเนื้อหาเดียวกับแถลงการณ์ของประชาคมทั่วโลกคือ
ทุกวันนี้โลกมีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศสูงถึง 380 ppm หรือ 380ส่วนต่ออากาศล้านส่วน ทำให้โลกร้อนขึ้น 0.7 องศาเซลเซียส และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นกลุ่มประชาคมทั่วโลกจึงเรียกร้องให้
1. ทั่วโลกต้องลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง ลงเหลือระดับ 350 ppm ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปลอดภัย ภายในสิบปีข้างหน้า
2. ให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว จัดสรรทุนปีละ 2 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่าให้สามารถปรับตัวรับมือกับภาวะโลกร้อนได้
3. เป็นข้อตกลงที่ต้องมีสัญญาผูกมัด มีข้อบังคับที่ใช้ได้จริง ไม่ใช่ออกข้อบังคับมาแล้ว ใครไม่ปฏิบัติตามก็ไม่เป็นไร
คืนนั้นสื่อมวลชนทั่วโลกพร้อมใจกันรายงานข่าวว่า แต่ละประเทศได้จัดกิจกรรมเพื่อแสดงเจตจำนงต่อโลกร้อนอย่างไรกันมั่ง
ผู้สังเกตการณ์หลายคนบอกว่า น่าเสียดายที่มีคนไทยมาร่วมกันน้อยกว่าที่คิด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าอินโดนีเซีย ไต้หวัน หรือฟิลิปปินส์ ที่มีคนจำนวนมากมาร่วมในวันนั้น จนดูเหมือนว่าคนไทยคงรู้สึกว่า ปัญหาเรื่องโลกร้อนยังเป็นเรื่องไกลตัวหรือเป็นเรื่องของต่างประเทศ จึงไม่ค่อยตื่นตัวที่จะมาร่วมกันแสดงพลังให้มากเท่าที่ควร แม้แต่สื่อเองก็ตาม
สื่อมวลชนมาทำข่าวกันน้อย โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวัน แม้ว่าผู้จัดงานจะกระหน่ำส่งหมายข่าวเชิญสื่อไปนานหลายวันแล้วก็ตาม และที่ขำ ๆก็คือ แม้แต่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของบ้านเรา ก็พร้อมใจกันลงรูปเหตุการณ์การชุมนุมทั่วโลก ยกเว้นที่ประเทศไทย
ที่ผ่านมาเคยมีงานวิจัยรายงานจำนวนข่าวโลกร้อนในสื่อของบ้านเรา ปรากฏว่าข่าวโลกร้อนในบ้านเราดูเหมือนจะมีการนำเสนอกันเยอะ แต่ส่วนใหญ่เป็นข่าวแปลรายงานสถานการณ์โลกร้อนจากต่างประเทศมากกว่าที่จะนำเสนอปัญหาโลกร้อนในเมืองไทย เพราะระดับบก.ข่าวหลายคนยังเชื่อว่าโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัวคนไทย
ขณะที่สื่อต่างประเทศพากันพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง รายงานข่าวการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกน เพราะตระหนักดีว่า โลกร้อนเป็นปัญหาความเป็นความตายของมนุษยชาติครั้งร้ายแรงที่สุด และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต
แต่การพาดหัวข่าวบ้านเรา ยังวนเวียนกับเรื่องข่าวความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งสี และการจัดฉากในกัมพูชา จนผู้บริโภคข่าวแทบจะอาเจียนออกมาเป็นสีเหลืองแดง
ไม่น่าแปลกใจที่ยอดขายหนังสือพิมพ์ตกลงทุกฉบับ เพราะคนอ่านเอียนกับข่าวแบบนี้มานานแล้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 17 ธันวาคม 2552
Comments
เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและไม่เคยล้าสมัยครับ
Pingback: Tweets that mention สื่อไทยกับโลกร้อน | -- Topsy.com
เห็นด้วยเรื่องสภาวะโลกร้อน(ที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว)
เหมือนทฤษฎีต้มกบในน้ำเย็น(แต่ไฟอยู่ด้านล่างของหม้อ)
กบไม่มีทางเห็นไฟ แต่กว่าจะรู้ว่าร้อนก็สุกแล้ว
ปชส.กระทรวงพลังงานจะจัดงาน(อีเวนต์)คิดว่าใหญ่นะ
ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 15ก.พ.2553 นี้
โดยหากินกับ(อ้าง)สภาวะโลกร้อนนี่แหละ
สื่อมวลชนคงมีแต่หน้าเดิมๆ
จบ